กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--ปชป. รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่านโยบายเศรษฐกิจของพรรคที่จะใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้งที่ใกล้จะมีขึ้นนั้นนอกจากนโยบายด้านการเงินการคลัง การลงทุน พรรคยังให้ความสำคัญกับภาคเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะการปลดภาระหนี้ให้กับเกษตรกร และการพัฒนาภาคเกษตรถึงระดับรากฐานอย่างแท้จริง สำหรับนโยบายโดยรวมของพรรคยังแน้นที่การดูแลนโยยายการคลังโดยการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างในภาคการเงินและภาคการค้าการลงทุนและบริการ โดยสาระสำคัญของนโยบายที่ใช้มีดังนี้ 1.นโยบายด้านการคลัง -รักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นอย่างมีเสถียรภาพ -ลดอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 30%เป็น 25%ภายในระยะเวลา 4 ปี -ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาของไทยให้ก้าวหน้าสู้นานาประเทศ -ขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมหลายระดับควบคู่กับการลดภาระภาษีเงินได้และเพิ่มพูนการออม และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแก่ผู้มีรายได้สุทธิไม่เกิน 70,000 บาทต่อปี -สนับสนุนและให้แรงจูงใจแก่ผู้มีอาชีพครู นักวิทยาศาสตร์ และผู้ปฏิบัติการด้านสาธารณสุข -จัดเก็บภาษีดูแลสิ่งแวดล้อมจากผู้ก่อความเสียหายแก่สภาพแวดล้อม -ลดภาระหนี้สินและการค้าประกันของรัฐ รวมทั้งแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใสให้เกิดประโยชน์สูงสุด -สร้างงานสร้างรายได้ ด้วยการกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง -เพิ่มพูนการออมในระยะยาวของประเทศ เพื่อความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ 2.นโยบายด้านการเงิน -รักษาองค์ประกอบของนโยบายการเงินทั้ง3ด้านคือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศให้สอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์ -ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมประมาณ 3%ต่อปี -พัฒนาตลาดทุนให้ทันสมัย กำกับสถาบันการเงินให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนโลก -ปรับปรุงกฎหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพสูงสุด -ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เพื่อกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีสถานะมั่นคงขึ้น -พัฒนาตราสารหนี้และอนุพันธ์ทางการเงินใหม่เพื่อให้เป็นแหล่งระดมเงินออมของประเทศ 3.นโยบายด้านการค้าการลงทุนและบริการ -ส่งเสริมความร่วมมือกับนานาชาติ สร้างพันธมิตรบนเวทีโลก -ปฏิรูปโครงสร้างทุกระบบและเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเอง -ส่งเสริมข้อตกลงทางการค้าทุกระดับ ทั้งในระดับพหุพาคี ภูมิภาคและทวิภาคี -พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อพัฒนาประเทศเชิงยุทธศาสตร์และการกระจายความเจริญสู่ต่างจังหวัด -พัฒนาความร่วมมือและลดข้อจำกัดด้านการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน -เพิ่มงบประมาณการลงทุนด้านวิจัยพัฒนาให้เป็น1%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ -ผลักดันตราสินค้าไทยให้ก้าวไกลได้มาตรฐานโลก -นำเทคโนโลยีพาณิชย์อิเลคทรอนิคส์มาใช้เร่งนำรายได้จากการส่งออก -จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาการค้าแห่งชาติ เสริมประสิทธิภาพภาคส่งออก -จัดหาแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ 5%เพื่อพัฒนาพาณิชย์นาวี 4.นโยบายด้านเศรษฐกิจผู้บริโภคและป้องกันการผูกขาด -ปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด -พัฒนากลไกรัฐ พิทักษ์ ผลประโยชน์ผู้บริโภค -รณรงค์ทุกฝ่ายในสังคมร่วมลดการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย -ส่งเสริมสินค้าธรรมชาติอย่างครบวงจรร่วมใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น 5.ภาคเกษตร -พัฒนาสาขาเศรษฐกิจที่มีรากฐานจากภาคเกษตร -แก้ไขปัญหาภาคเกษตรถึงระดับรากฐานอย่างแท้จริงและครบวงจร -ปฏิรูปเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการตลาด -ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ปลดเปลื้องภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างแท้จริง -พัฒนากลไกในการบริหารหนี้สินเกษตรกรของคณะกรรมการบริหารหนี้สินเกษตรกรแห่งชาติให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น -ส่งเสริมภาคเกษตรใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้มากขึ้น -ปรับตัวเข้าสู่เกษตรแบบเศรษฐกิจใหม่ด้วยการผนวกเทคโนโลยีใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น -พัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรให้ตรงความต้องการของตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า -ควบคุมดูแลปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม -จัดตั้งโครงการวิจัยประยุกต์สำหรับชุมชนการเกษตรและโครงการเทคโนโลยีชุมชน เพื่อยกระดับการผลิตของประเทศ -เสริมการพัฒนานวัตกรรมและความคิดใหม่ให้แข่งขันได้กับนานาประเทศ--จบ---สส-