ลอยกระทง ปลอดเหล้า ไม่เมาไม่เสี่ยง “โรคพิษสุราเรื้อรัง”

ข่าวทั่วไป Tuesday November 24, 2015 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--โรงพยาบาลปิยะเวท "วันเพ็ญเดือน 12 น้ำก็นองเต็มตลิ่ง" เมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน เสียงเพลงนี้ก็ดังแว่วมาในหู แน่นอนว่าจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากเทศกาลลอยกระทง ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปีนั่นเอง และสำหรับในปีนี้ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน และนอกจากจะเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาในปัจจุบัน ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปประเพณีต่างๆ ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา นอกเหนือจากการลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคาแล้ว ก็มีเทศกาลรื่นเริง งานเฉลิมฉลอง เพิ่มเติมเข้ามาด้วยและสิ่งที่ตามมาคือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสังสรรค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นโทษต่อสุขภาพ รวมทั้งอาจนำมาซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคร้ายต่างๆ อีกมายมาย แบบที่ไม่ทันรู้ตัวเลยทีเดียว นพ.วิชิตพล ฟูสิริพงษ์ แพทย์ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า "การดื่มเครื่องดื่มแอกอฮอล์ที่ส่งผลให้ผู้ดื่มมีอาการมึนเมา เช่น เหล้า เบียร์ วิสกี้ บรั่นดี เป็นต้น โดยในเครื่องดื่มแต่ละประเภทจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องดื่ม ซึ่งเครื่องดื่มในกลุ่มนี้จะส่งผลต่อร่างกายเหมือนกัน คือ ออกฤทธิ์กดประสาท และมีอาการเสพติดร่วมด้วย ถ้าดื่มในปริมาณมากๆ อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ควบคุมตัวเองไม่ได้ ความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนไป ในบางรายอาจทำให้แสดงอาการบางอย่างออกมา เช่น เอะอะโวยวาย ดุร้าย เกรี้ยวกราด พูดมาก หรือร้องไห้เสียใจแบบไม่มีสาเหตุ ร่วมกับอาการ หน้าแดง ตัวแดง มือไม้สั่น หัวใจเต้นแรง ปัสสาวะบ่อย ความดันโลหิตสูง และหากดื่มต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานๆ อาจจะส่งผลให้เป็น โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) ได้ โรคพิษสุราเรื้อรังเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ จนกระทั่งเกิดอาการทางประสาทและทางร่างกาย แอลกอฮอล์จะมีผลเสียต่อทุกเซลล์ในร่างกายโดยเฉพาะระบบประสาทและตับ หากได้รับแอลกอฮอล์เป็นประจำสมองจะปรับตัวและต้องการแอลกอฮอล์เพื่อการดำเนินชีวิตประจำวันแบบขาดไม่ได้ ในปัจจุบันยังไม่มีการแยกที่เด่นชัดระหว่างติดสุราและโรคพิษสุราเรื้อรัง แต่อาการเตือนว่าจะเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง คือ เมื่อหยุดสุราแล้วผู้ป่วยจะมีอาการ ไม่มีความสุข กระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก มือไม้สั่น หน้าบวมฉุ ผิวแดงคล้ำ และอาการดังกล่าวมักจะหายไปเมื่อได้ดื่มสุรา วิธีการรักษาในปัจจุบันเมื่อพบผู้ป่วยที่มีอาการลงแดงจากการหยุดสุรา แต่มีผลข้างเคียงไม่มาก เช่น มีอาการวุ่นวาย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการชักช่วงสั้น เมื่อมาพบแพทย์จะต้องตรวจหาโรคที่เกิดจากสุราก่อน เช่น โรคตับแข็ง โรคหัวใจ เป็นต้น และจะต้องให้ผู้ป่วยคลายความกังวลใจด้วยการให้ยาคลายเครียดกลุ่ม Benzodiazepine และวิตามินบี หลังจากนั้นต้องสังเกตอาการอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และภายหลังจากสังเกตอาการ หากผู้ป่วยไม่มีอาการเปลี่ยนแปลงที่แย่ลง ก็สามารถกลับบ้านได้ โดยให้ยากลับไปรับประทานต่อเนื่องนาน 4-5 วัน แล้วจึงกลับมาพบแพทย์อีกครั้งเพื่อติดตามอาการ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการลงแดงอย่างรุนแรงหลังจากหยุดการดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและรีบให้การรักษาอย่างรวดเร็ว โดยการให้ยากลุ่ม benzodiazepine ในผู้ป่วยที่มีอาการชัก สำหรับผู้ป่วยที่มีภาพหลอน และมีพฤติกรรมก้าวร้าว ควรต้องรับการรักษาโดยแพทย์ด้านจิตเวชต่อไป" เทศกาลดีๆ เราก็ควรคิดดี ทำดี มาช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีไทยที่ดีแบบนี้ไว้ หลีกเลี่ยง ลด ละ เลิก จากเครื่องดื่มมึนเมา นอกจากจะไม่มีผลดีใดๆ แล้ว ยังส่งผลเสียต่อร่างกายอีกมากมาย
แท็ก ลอยกระทง  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ