กรุงเทพฯ--14 ธ.ค.--สสว.
สถานการณ์ SME ในปี 2558 ปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2557 โดย GDP SME ไตรมาส 3 ปี 58 เติบโต 4.2% สูงกว่า GDP รวมของประเทศซึ่งขยายตัว 2.9% นำโดยภาคการท่องเที่ยว การค้า และการก่อสร้าง ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกิน 100
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้แถลงสถานการณ์ SME ในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2558 สรุปได้ดังนี้
1. GDP ในไตรมาสที่ 3 ของ SME
GDP ไตรมาส 3 ปี 2558 ของ SME ขยายตัวในอัตรา 4.2 % ดีกว่า GDP รวมของประเทศซึ่งขยายตัว 2.9%ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมีภาคการท่องเที่ยวขยายตัว 20.3% ก่อสร้างขยายตัว 10.6% และขนส่งขยายตัว 7.5% กิจการที่ขยายตัวในอัตราต่ำกว่า GDP รวมของประเทศ กล่าวคือหดตัวลดลงในอัตรา 0.5% ได้แก่ ชิ้นส่วน ยานยนต์ เครื่องจักรกล อัญมณี สิ่งทอ อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก
GDP ของ SME รวม 3 ไตรมาสของปี 2558 มีมูลค่ารวม 4.08 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นในอัตราที่สูงกว่าปี 2557 ซึ่ง GDP ของ SME ขยายตัวเพียง 0.2% ด้วยเหตุนี้ มูลค่าของ SME จึงเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 40.9%ของ GDP รวม ณ สิ้นไตรมาสที่3 ปี 2558 เพิ่มขึ้นจาก 39.6% ณ สิ้นปี 2557
2.อัตราการขยายตัวของ GDP ประเทศ และของ SME
ปี2557 Q1/2558 Q2/2558 Q3/2558 คาดการณ์ปี2558
GDP ประเทศ 0.9% 3.0% 2.8% 2.9% 2.7-3.2%
GDP SME 0.2% 5.5% 5.1% 4.2% 3.7-4.7%
GDP SME ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่2 เนื่องจากอัตราการเติบโตกลุ่มธุรกิจ SME ขึ้นอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 เป็นช่วง Low Season ของการท่องเที่ยว จึงส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ SME ลดลง สวนทางกับ GDP ของประเทศที่มีอัตราเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการว่า GDP ของประเทศในปี 2558 จะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ระดับ 2.7 – 3.2% หากเป็นเช่นนั้นคาดว่า GDP SME จะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ระดับ 3.7 – 4.7%
อัตราการขยายตัว ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ของ SME ในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ
กลุ่มที่ขยายตัวสูงกว่าGDP ประเทศ (Out Perform) กลุ่มที่GDP SME หดตัวลง (Under Perform) กลุ่มที่ขยายตัวในระดับเดียวกับGDP ประเทศ (Par)
1.ท่องเที่ยว 20.3% 1.ยานยนต์และชิ้นส่วน หดตัวลง 0.5% 1.บริการด้านการศึกษา 3.5%
2.ก่อสร้าง 10.6 % 2.ผลิตเครื่องจักรกล หดตัวลง 0.5% 2.อสังหาริมทรัพย์ 2.4%
3.ขนส่งและโลจิสติกส์ 7.5 % 3.อัญมณีและเครื่องประดับ
4.บริการด้านสุขภาพ 6.7% หดตัวลง0.5%
5.ค้าปลีกค้าส่ง 6.3% 4.สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย
หดตัวลง 0.5%
5. อาหารและเครื่องดื่ม
หดตัวลง 0.5%
6.ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก
หดตัว0.5%
3. ดัชนีความเชื่อมั่นของ SMEs เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ในช่วงปลายไตรมาสที่3 ของปี 2558
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของประเทศในเดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 100.4 เพิ่มขึ้นจาก 92.8 ในเดือนมิถุนายน 2558 เช่นเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นของ SME ในภาคการค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นจาก 87.4 ในเดือนมิถุนายน 2558 เป็น 102.4 ในเดือนตุลาคม 2558 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 84.0 ในเดือนมิถุนายน 2558 เป็น 84.7 ในเดือนตุลาคม 2558
ที่น่าสังเกตมากก็คือ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มของผู้ประกอบการ และดัชนีคาดการณ์ของทุกกลุ่มผู้ประกอบการล้วนอยู่ในระดับเกิน 100 ซึ่งความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นนี้ น่าจะเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบธุรกิจอยู่ในระดับสูงกว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งอยู่ในระดับ 53.6 ในเดือนตุลาคม 2558 มาก
4. โครงการส่งเสริมศักยภาพ SME ของ สสว.
สสว. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการส่งเสริมขีดความสามารถของ SME ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 และได้เริ่มทยอยดำเนินการแล้ว โดยจะเน้นที่ SME 3 กลุ่มได้แก่ การบ่มเพาะ SME กลุ่ม Start-up ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล การฟื้นฟูกิจการ SME กลุ่มที่ประสบปัญหา (Turn Around) และการพัฒนา SME ที่ดำเนินกิจการอยู่เป็นปกติ (Regular) ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งโครงการจัดตั้งร้านค้าประชารัฐเพื่อวิสาหกิจชุมชน และ Micro SME ให้มีโอกาสได้นำสินค้าไปจำหน่ายในปั๊ม ปตท. ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่ สสว. ทำร่วมกับ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารSME และหน่วยงานที่ดูแลด้านชุมชนในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการและมีกำหนดเปิดตัวเร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ สสว.ยังได้นำผู้ประกอบการ SME จำนวน 29 ราย ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการประเภท Start-up เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2558 สามารถสร้างเม็ดเงินจากการตกลงซื้อขายสินค้ากันได้ 460 ล้านบาท และมีโอกาสที่จะค้าขายกันอย่างต่อเนื่องต่อไปได้อีกในอนาคต