ฝึกทักษะ Lab Boy’ และ Lab Girl’ นักเรียนรุ่นใหม่ผู้ช่วยสอนเชฟรอนเดินหน้าอบรมการใช้สื่อการเรียนวิทยาศาสตร์แก่นักเรียน จุดประกายการเรียนรู้ด้วยการลงมือทดลอง

ข่าวทั่วไป Wednesday December 16, 2015 11:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ธ.ค.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ "เวลาเรียนวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียน มีอุปกรณ์การทดลองน้อยและไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ โดยจะเน้นหนักไปที่การเรียนทฤษฎี ทำให้หลายๆ คน นึกภาพตามคุณครูไม่ออก พอไม่เข้าใจบทเรียนก็จะทำให้เบื่อและไม่ชอบวิชาวิทยาศาสตร์ไปในที่สุด" ด.ญ. ฑิฆัมพร หลำสวัสดิ์ หรือ น้ำปั่น นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนวัดแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ นักเรียนที่เข้าร่วมการอบรม Student Lab Assistant ของโครงการ "Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" หากกล่าวถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย คงจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบ "แล็บแห้ง" คือเรียนทฤษฎีเป็นหลักแต่ไม่มีการทดลองในห้องเรียน ทั้งๆ ที่การทดลองเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ที่ไม่เพียงช่วยให้นักเรียนมีความเข้าใจบทเรียนอย่างลึกซึ้ง แต่ยังช่วยให้สนุกกับบทเรียน และช่วยกระตุ้นความสนใจและแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์อีกด้วย ซึ่งปัญหานี้เกิดจากความไม่เพียงพอของอุปกรณ์ต่อจำนวนนักเรียนในห้องเรียน และข้อจำกัดด้านเวลาและภาระงานที่ทำให้ครูไม่สามารถเตรียมอุปกรณ์และสารเคมีสำหรับใช้ในชั่วโมงเรียน ด้วยเหตุนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ภายใต้ โครงการ "Enjoy Science:สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" จัดเตรียมสื่อวัสดุ-อุปกรณ์ สำหรับการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ใน 4 หัวข้อ คือ สมบัติของสสาร พลังงาน เครื่องกลและการเคลื่อนที่ ระบบร่างกายมนุษย์ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อส่งมอบให้กับโรงเรียนสำหรับการหมุนเวียนใช้ในกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในห้องเรียน พร้อมจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาทักษะนักเรียนผู้ช่วยครู หรือ Student Lab Assistant เพื่ออบรมนักเรียนชั้นมัธยมต้นจำนวน 40 คนจากโรงเรียนแม่ข่ายของโครงการฯ รวม 8โรงเรียน เกี่ยวกับการบริหารจัดการสื่อวัสดุ-อุปกรณ์อย่างถูกต้อง โดยมีนักศึกษาจากคณะ ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้ให้ความรู้แก่นักเรียน นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดกล่าวว่า "เชฟรอน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมั่นคง โดยในโครงการ 'Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต' เชฟรอนได้ร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม เพื่อพัฒนาการศึกษาในสาขา STEM ตลอดทั้งระบบ โดยเน้นการให้ความรู้ ทำความเข้าใจ และสร้างแรงบัลดาลใจให้กับทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ตลอดจนถึงนักเรียน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนการสอนที่นักเรียนสามารถพัฒนากระบวนการคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม แก้ไขปัญหา และหาคำตอบได้ด้วยตนเอง มากกว่าการท่องจำเพียงเนื้อหาแต่อย่างเดียว" นางหทัยรัตน์ กล่าวถึงการอบรมนักเรียนผู้ช่วยครูว่า "โครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่นำร่อง ทั้งจังหวัดสมุทราปราการ ขอนแก่น และสงขลา โดยประกอบด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นศูนย์กลางจัดส่งสื่อการสอนไปยังโรงเรียนต่างๆ ในเครือข่าย เพื่อให้นักเรียนได้ทำความรู้จักและทดลองใช้สื่อหรืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เป็น อันจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจในวิทยาศาสตร์ของนักเรียน จนนำไปสู่การสืบเสาะแสวงหาความรู้ในด้านที่ตนสนใจต่อไปในอนาคต พร้อมจัดอบรมการใช้อุปกรณ์แก่นักเรียนผู้ช่วยครูหรือ Student Lab Assistant ซึ่งจะมีบทบาทในการจัดการและเตรียม สื่อ อุปกรณ์ ก่อนการเรียนในแต่ละครั้ง รวมถึงสามารถให้คำแนะนำเพื่อนนักเรียนระหว่างการทดลองปฏิบัติและจัดเก็บรักษาอุปกรณ์อย่างถูกวิธีและเหมาะสม อันจะช่วยให้การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถแบ่งเบาภาระของครูผู้สอน โดยจะขยายความร่วมมือและการอบรมสู่โรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป" ดร. อมรา เขียวรักษา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาคุณภาพครู มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์มีบทบาทสนับสนุนการฝึกอบรมในครั้งนี้ ในเรื่องของดูแลกิจกรรมและส่งนักศึกษาจากคณะครุศาสตร์มาเป็นผู้ช่วยวิทยากรในการฝึกสอนและอบรมน้องๆ ตัวแทนนักเรียน หรือ 'Lab Boy' และ 'Lab Girl' รวมถึงเป็นตัวแทนของศูนย์สะเต็มของจังหวัด ในการบริหารการจัดส่งและติดตามดูแลสื่ออุปกรณ์การเรียนไปยังศูนย์และโรงเรียนแม่ข่ายในภาคอื่นๆ เพื่อหมุนเวียนไปยังโรงเรียนต่างๆ โดยนักเรียนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมอบรมจะได้ทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ รู้จักการใช้อุปกรณ์ การดูแลจัดเก็บ และการเลือกใช้อุปกรณ์สำหรับการทดลองที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี กิจกรรมนี้มิได้เป็นการติววิชาหรือเรียนรู้ล่วงหน้าไปกว่านักเรียนคนอื่นๆ แต่คือการสร้างนักเรียนผู้ช่วยที่จะกลับไปสนับสนุนการสอนในห้องเรียนของครูและให้คำแนะนำแก่เพื่อนๆ นอกจากนั้น กิจกรรมนี้ยังช่วยให้ นักศึกษาในสาขาครุศาสตร์ของเราที่เป็นผู้อบรมได้มีโอกาสฝึกทักษะการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนภายใต้การแนะแนวจากอาจารย์วิทยากร และได้ทบทวนทักษะการใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ของตนเองเพิ่มเติมไปพร้อมกันอีกด้วย" "ผมเรียนมาในโรงเรียนที่อุปกรณ์การทดลองก็มีให้เห็นน้อยชิ้นอยู่ในตู้ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ และผมไม่เคยรู้ว่าอุปกรณ์แต่ละอันมีไว้ทำอะไร อาจารย์ก็มีสอนบ้างเป็นบางชิ้น กว่าผมจะรู้จักกับอุปกรณ์เหล่านี้และพบว่ามีประโยชน์ต่อการเรียนในสายวิทยาศาสตร์มากแค่ไหน ผมก็ใกล้เข้าสู่วัยทำงานแล้ว" นายธานินท์ อินเอี่ยม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ สาขาการสอนวิทยาศาสตร์ทั่วไปมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ วิทยากรฝึกอบรมนักเรียนผู้ช่วยครู (Student Lab Assistant) ในโครงการ "Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต" สะท้อนประสบการณ์การเรียนสมัยมัธยมที่เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เขามาร่วมเป็นครูฝึกสอนให้กับน้องๆ ในครั้งนี้ นางสาวพรประภา ขำเรืองวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะครุศาสตร์ สาขาการสอนวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้แบ่งปันมุมมองต่อการอบรมในครั้งนี้ว่า "พวกเราในฐานะนักศึกษา ครุศาสตร์ได้มีโอกาสไปทดลองเป็น Lab Boy และ Lab Girl ในกิจกรรมการอบรมครูวิทยาศาสตร์ของโครงการ Enjoy Science ซึ่งจัดขึ้นก่อนหน้านี้ และได้ฝึกทักษะการจัดการอุปกรณ์อย่างละเอียด โดยพวกเราได้นำความทักษะความรู้ตรงนี้มาถ่ายทอดให้กับน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจากการทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ อย่างใกล้ชิด พวกเราพบว่าประโยชน์ของการอบรมในครั้งนี้มีมากกว่าการฝึกให้รู้จักการใช้อุปกรณ์ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ Lab Boyและ Lab Girl ได้ต่อยอดความคิด และสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ของตนในห้องเรียน ได้ฝึกการทำงานเป็นทีมแบ่งปันความรู้ และทำให้น้องๆ รู้สึกว่าวิชาวิทยาศาสตร์สนุกสนานกว่าที่คิด จุดประกายความสนใจอยากเรียนรู้ในวิชานี้มากขึ้นและอยากแสวงหาความรู้ต่อด้วยตนเอง" ด.ญ. ชุณหกาญจน์ กรเกษม หรือ การ์ตูน นักเรียนชั้นม.2 โรงเรียนวัดราษฎร์บูรณะ ที่เข้าร่วมเป็น Lab Girl กล่าวว่า "หนูชอบเรียนวิทยาศาสตร์มาก เพราะเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ก่อนหน้านี้ไม่เคยทราบเลยว่าอุปกรณ์การทดลองแต่ละชิ้นมีไว้ทำอะไร แต่พอได้มาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ก็ได้เรียนรู้วิธีใช้ ทั้งยังได้รู้จักอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ไม่มีให้เห็นที่โรงเรียนอีกหลายชิ้น โดยอุปกรณ์ที่รู้สึกชื่นชอบและตื่นตาตื่นใจมากที่สุด คือ ชุดท่อนำพาความร้อน ที่เป็นการทดลองเปรียบเทียบในเรื่องอุณหภูมิ ซึ่งพอได้ทดลองก็สามารถทำให้เห็นภาพและเข้าใจบทเรียน เรื่องลมบก ลมทะเล กับเรื่องการเคลื่อนตัวของอากาศได้มากขึ้น เมื่อกลับไปเรียนในห้องเรียนก็จะนำประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับไปช่วยคุณครูและแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ อีกด้วย" ด.ญ. ฑิฆัมพร หลำสวัสดิ์ หรือ น้ำปั่น นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนวัดแหลมฟ้าผ่า จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวเสริมว่า "การอบรมในครั้งนี้ช่วยให้หนูได้มีโอกาสทดลองและเรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งไม่เพียงทำให้เข้าใจบทเรียนได้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้ฝึกการทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อสืบเสาะหาคำตอบ ทำให้หนูเห็นชัดเจนว่าการเรียนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกน่าสนใจ ซึ่งเมื่อกลับไปเรียนในห้องเรียนก็จะนำประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับไปช่วยคุณครูและแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ ค่ะ" โครงการ Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่เชฟรอน ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกเชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ตลอดทั้งระบบ ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ทั้งสิ้นกว่า 500,000 คน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ