หน่วยงานในตลาดทุนผนึกกำลังร่วมผลักดันมาตรการฟื้นตลาดทุน

ข่าวทั่วไป Monday April 2, 2001 11:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ตลท.
พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมการระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทย วันนี้ (31 มีนาคม 2544) ว่า การประชุมในวันนี้มีหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนเข้าร่วมการประชุมจำนวนทั้งสิ้น 27 หน่วยงาน (รายชื่อตามเอกสารแนบ) เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการพัฒนาตลาดทุนไทยซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวและขยายตัวได้อย่างยั่งยืน มาตรการที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันกำหนดเป็นแนวทางในการฟื้นฟูตลาดทุนไทย สรุปเป็นมาตรการสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ มาตรการด้านการพัฒนาตลาดตราสารทุน มาตรการด้านการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเน้นด้านการปฏิบัติได้จริงในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้การพัฒนาตลาดทุนเป็นรูปธรรมและเติบโตได้บนรากฐานที่มั่นคง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
มาตรการด้านการพัฒนาตลาดตราสารทุน ได้เน้นมาตรการด้านการเพิ่มสินค้า (Supply)
ให้ดำเนินการตาม 3 มาตรการสำคัญดังนี้
1.มาตรการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างเต็มที่ โดยกระทรวงการคลัง จะดำเนินการดังนี้
1.จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเพื่อเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างการบริหารที่เป็นมืออาชีพ มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงการคลังจะถือหุ้นในบรรษัทรัฐวิสาหกิจร้อยละ 100 โดยบรรษัทวิสาหกิจจะมีการจัดตั้งบริษัทรวมทุนรายสาขาให้อยู่ภายใต้การบริหารงานของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ทั้งนี้ การกระจายหุ้นจะทำในระดับบริษัทรวมทุนรายสาขาหรือบริษัทรัฐวิสาหกิจลูก อยู่ภายใต้บริษัทรวมทุนรายสาขา
2.เตรียมความพร้อมให้รัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดังนี้
ปี 2544 คาดว่าจะมีรัฐวิสาหกิจที่เข้าจดทะเบียนได้จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และลดการถือหุ้นของภาครัฐใน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ จะทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นจำนวน 83,659 ล้านบาท (ไม่รวมธนาคารกรุงไทย และมูลค่าหุ้นที่เพิ่มทุนใหม่)
ปี 2545 คาดว่ารัฐวิสาหกิจที่จะเข้าจดทะเบียนได้จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน รวมทั้ง จะมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของภาครัฐในธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โดยการดำเนินการดังกล่าว จะทำให้มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นจำนวน 303,737 ล้านบาท (ไม่รวมธนาคารศรีนครและธนาคารนครหลวงไทย)
ปี 2546 คาดว่าจะมีรัฐวิสาหกิจจำนวน 5 แห่งเข้าจดทะเบียนได้ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวงแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค โดยคาดว่าจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นจำนวน 309,991 ล้านบาท
ในการดำเนินการดังกล่าว รัฐวิสาหกิจจะดำเนินการโดยใช้ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ เพื่อแปลงเป็นบริษัทจำกัด โดยพนักงานรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น จะไม่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับอยู่เดิม มีการนับอายุงานต่อเนื่อง รวมทั้ง จะมีการจัดสรรหุ้นจำนวนหนึ่งให้กับพนักงาน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพของรัฐวิสาหกิจในการแข่งขัน รวมถึงเพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยมีโอกาสลงทุนในรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ จะมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพในเชิงพาณิชย์และโปร่งใส ได้รับความน่าสนใจและความน่าเชื่อถือจากผู้ลงทุน
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ จะให้การสนับสนุนการเข้าจดทะเบียนของรัฐวิสาหกิจ โดยอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนได้ทันทีหลังจากที่แปรรูปเป็นบริษัทมหาชน และสนับสนุนให้มีการกระจายหุ้นได้ภายใน 1 ปี โดยให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการเพื่อให้มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ ในระหว่างรอการกระจายหุ้นให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งนี้ โดยยึดหลักให้รัฐวิสาหกิจมีความสามารถในการแข่งขันกับเอกชนได้ และยังคงมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกับบริษัทที่จดทะเบียนในปัจจุบันเพื่อผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นหลัก
2. มาตรการจูงใจให้บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และคงสถานะของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน มาตรการที่นำมาใช้ในการจูงใจให้บริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้แก่
- การลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใหม่ เสียภาษีในอัตราร้อยละ 25 เป็นเวลา 5 ปี โดยบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องดำเนินการภายใน 3 ปี นับจากวันที่มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ให้ กระทรวงการคลัง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ หาข้อสรุปเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทจดทะเบียนปัจจุบัน ภายใน 1 สัปดาห์
- ปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลและมาตรฐานบัญชี เพื่อลดภาระในการเปิดเผยข้อมูล ที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนเสียเปรียบทางการค้า รวมถึง การพิจารณานำมาตรฐานบัญชีมาใช้ให้เหมาะสมกับภาวการณ์ในปัจจุบัน เพื่อไม่ก่อให้เกิดภาระต่อบริษัทจดทะเบียนมากนัก โดยยึดหลักการการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอและเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน จะพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกันให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2544
- การลดมูลค่าที่ตราไว้ให้ต่ำที่สุด (Par Value) กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.มหาชนเพื่อเอื้ออำนวยให้มูลค่าที่ตราไว้ของบริษัทจดทะเบียนมีมูลค่าต่ำที่สุด
- การจดทะเบียนของบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือจากรัฐบาล (BOI) ได้มอบหมายให้ BOI ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ไปพิจารณาหาแนวทางดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์
3. มาตรการพัฒนาแหล่งระดมทุนสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs และการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ใหม่ เพื่อให้บริษัทที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่อย่างต่อเนื่อง จะมีการใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกอย่างจริงจังเพื่อหาบริษัทเข้าจดทะเบียน พร้อมกับออกมาตรการจูงใจได้แก่
- การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด MAI โดยลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทที่เข้าจดทะเบียนภายใน 3ปี จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 20 เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากปีที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียน ผลของมาตรการภาษีนี้คาดว่าจะสร้างแรงจูงใจให้บริษัทที่มีศักยภาพและความพร้อมเข้าจดทะเบียน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสินค้าและขนาดของตลาด MAI พร้อมกับเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน โดยให้พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ให้สอดคล้องกัน
- การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ธุรกิจ Venture Captial ให้นำไปพิจารณาในการประชุมเพื่อสนับสนุน SMEs ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดขึ้นต่อไป
มาตรการพัฒนาตลาดตราสารหนี้
เพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้สามารถเติบโตต่อไปบนรากฐานที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา ได้มีการกำหนดแนวทางพัฒนาดังนี้
- ออกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อให้สามารถออกตราสารภาครัฐได้อย่างต่อเนื่อง และมี ตารางกำหนดเวลาออกให้ทราบล่วงหน้า
- แก้ไขกฎหมายและปัญหาด้านภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) อันจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจำหน่ายสินเชื่อจากระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของสถาบันการเงิน
มาตรการเสริม
ในระหว่างการดำเนินงานตามมาตรการที่กล่าวข้างต้น ทางการได้ยืนยันที่จะผลักดันการแก้ไขและการออกกฎหมายสำคัญ ๆ ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว ได้แก่ พรบ. หลักทรัพย์ฯ พรบ. บริษัทมหาชนฯ พรบ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พรบ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พรบ. การดำเนินคดีแบบกลุ่มในการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ และ พรบ. ทรัสต์เพื่อธุรกรรมทรัสต์ในตลาดทุน อันจะเป็นการสนับสนุนการกำกับดูแลกิจการที่ดี การสร้างเครื่องมือบริหารความเสี่ยง การเตรียมความพร้อมที่จำเป็นต่อตลาดทุนในการรองรับบทบาทที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีสารสนเทศ และการประกอบธุรกิจทรัสต์ ซึ่งจะมีผลเป็นการส่งเสริมให้ธุรกรรมทั้งในตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม รวมทั้ง เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาตลาดทุนโดยรวม
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสารนิเทศ
ลดาวัลย์ ไทยธัญญพานิช โทร.229-2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร.229-2037
จิวัสสา ติปยานนท์ โทร.229-2039--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ