สภาหอการค้าฯ จับมือ สวทช. และ สทอภ.หนุนเอสเอ็มอีสินค้าผักและผลไม้ไทย เตรียมความพร้อมสู่เออีซี ด้วย ThaiGAP พร้อมเชื่อมโยงการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่

ข่าวทั่วไป Thursday February 18, 2016 10:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)และ สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เผยผลสำเร็จโครงการความร่วมมือ "การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AECด้วย ThaiGAP" ในด้านผลการดำเนินงาน การขยายผล และการเชื่อมโยงไปสู่คณะกรรมการเกษตรสมัยใหม่ นับเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล ตั้งเป้าภายในปี 2560 จะมีผู้ประกอบการ 50 ราย ได้รับรองมาตรฐาน ThaiGAP นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก และต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายในประเทศ จึงได้มีแผนการทำงานร่วมรัฐและเอกชน หรือที่เรียกว่า "คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ" โดยมีเป้าหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นายอิสระ กล่าวว่า คณะทำงานด้านการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ เป็น 1 ใน 12 คณะทำงานฯเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร การพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmerและ SME เกษตร รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร มุ่งเน้นพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่คุณค่าของภาคเกษตร ตั้งแต่ต้นทางในการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานการสินค้า ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ไปจนถึงปลายทางในการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่าย และการต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรในปัจจุบัน ให้แข่งขันได้ก่อน ทั้งในและต่างประเทศ และต้องมีการ Benchmark ของภาคเกษตรเทียบกับประเทศอื่นที่ดีกว่าเรา เพื่อกำหนด Platform สำหรับการเติบโตไปในอนาคต สำหรับแผนงานที่เป็น Quick Win ภายใน 6 เดือน ของคณะทำงานเกษตรสมัยใหม่ ได้แก่ 1. การส่งเสริม การสร้างอาชีพสร้างเสริมรายได้ (Cash Crop) โดยสร้างให้มีมาตรฐาน และการสอบกลับได้ โดยนำ Primary GAP & ThaiGAP มาใช้กับเกษตรกรรายเล็ก 2. การร่วมมือภาคเอกชนกับภาครัฐ ในการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐ เพื่อพัฒนาห่วงโซ่มูลค่า โดยการ Matching ธุรกิจเอกชนกับเกษตรกรในพื้นที่ อาจใช้ในรูปแบบSocial Enterprise และ 3. การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรต้นแบบ ให้มี Smart Manager (เริ่มต้นจากสหกรณ์ Grade A) สำหรับการส่งเสริมอาชีพสร้างเสริมรายได้ หรือ Cash Crop เช่น ปลูกผัก ปลูกผลไม้ เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา จะเป็นส่วนที่สนับสนุนที่สำคัญ ให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง คือ สามารถทำเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และยังจะสามารถพัฒนาเป็นรายได้เสริม หรือรายได้ที่สูงขึ้นได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการทำอาชีพเกษตรหลักเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร Cash Crop เพื่อให้ขายได้นั้น จะต้องดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐาน สินค้าเกษตรที่ปลอดภัย รวมทั้งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) ซึ่งทางหอการค้าฯได้เดินหน้าผลักดันเรื่องมาตรฐาน Primary GAP และ ThaiGAP ก่อนหน้านี้ไปแล้ว และเมื่อมีโครงการประชารัฐขึ้นมา ก็ได้บรรจุในแผน Quick Win ของคณะทำงานการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐ นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำโครงการ "ยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AECด้วย ThaiGAP" เพื่อพัฒนาผู้ผลิตและผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ให้ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ในประเทศ รวมทั้งได้มีการดำเนินโครงการการจัดอบรม และการให้คำปรึกษาแนะนำ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสนและการตรวจรับรองฟาร์มจากหน่วยตรวจรับรอง (CB) นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ในปี 2559 นี้ จะมีบริษัทที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP จำนวน 17 บริษัทที่ผลิตทั้งผักและผลไม้สด และจัดจำหน่ายตามห้างค้าปลีกชั้นนำของประเทศ คือ ห้างแม็คโครท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ซีพีออลล์ และเทสโก้ โลตัสสำหรับหน่วยตรวจรับรองที่ทำการตรวจรับรองให้กับมาตรฐานThaiGAP นั้น เป็นหน่วยตรวจรับรองที่ได้รับมาตรฐานสากล ISO/IEC GUIDE 65 ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่ามีการตรวจรับรองที่เข้มงวด และเคร่งครัด นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP ยังมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดย QR Codeที่ได้รับความร่วมมือจาก GISTDA ด้วยการสแกน QR Code ที่ติดบนผลิตผล สามารถสอบกลับไปถึงตำแหน่งที่ตั้งของฟาร์มผลิต รายละเอียดของเกษตรกรที่ขอการรับรองระบบการผลิต ได้อย่างถูกต้อง"มาตรฐาน ThaiGAP เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ทำให้เกิดเป็นมาตรฐานของภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยให้เป็นรูปธรรม มีการนำไปปฏิบัติใช้จริง และได้รับการยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและในตลาดสากล" นายชูศักดิ์ กล่าว นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า "สวทช. ได้ให้ความร่วมมือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการ "การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP" เพื่อผลักดันมาตรฐาน ThaiGAP ให้เทียบชั้นมาตรฐานสากล เป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของผักผลไม้ไทย เพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ AEC ตอบสนองภารกิจหลักของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (Innovation and Technology Assistance Program) หรือ ITAP ของ สวทช. ในการส่งเสริม SMEs ไทย เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะมีการเปิดเสรีด้านการค้า การลงทุน เงินทุน และ แรงงานมีฝีมือ" "โดยโปรแกรม ITAP คาดหวังว่า โครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการของไทยในเชิงบวก หากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ซึ่งถือเป็นการพัฒนามาตรฐานระบบการผลิตสำหรับภาคการเกษตรให้ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมด้านสินค้าผักและผลไม้ เนื่องด้วยปัจจุบันผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการเลือกบริโภคสินค้าได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคณะผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตลอดจนขอแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการทั้ง 17 รายในโครงการฯ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP และในปี 2559 นี้ โปรแกรม ITAP ตั้งเป้าผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่จะมาขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณที่ได้ถูกจัดสรรไว้รอแล้ว โดยเป้าหมายคือ การสนับสนุนผู้ประกอบการจำนวน 50 ราย ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ภายในปี 2560" นางสาวชนากานต์ กล่าว นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา ผู้อำนวยการฝ่ายบริการห้องปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ สถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันอาหารได้มีส่วนร่วมในโครงการโดยเสนอสิทธิพิเศษด้านการตรวจวิเคราะห์สินค้าพืชผัก ผลไม้ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการฯ และถวายการตรวจพืชผักแก่โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เพื่อนำผลการตรวจวิเคราะห์นี้ใช้ประกอบการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐาน ThaiGAP โดยห้องปฏิบัติการของสถาบันอาหารที่ได้รับรอง ISO/IEC 17025 และใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ เพื่อให้ผลการตรวจวิเคราะห์สะท้อนคุณภาพสินค้าได้อย่างแท้จริง สถาบันอาหารจึงได้พัฒนาเทคนิคและความสามารถในการตรวจวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการตรวจสารตกค้างยาฆ่าแมลง เพื่อลดข้อปัญหาการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรปและประเทศอื่นในเวทีการค้าโลก ดร.รุ่งนภา ก่อประดิษฐ์สกุล ผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนกล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยฯ ได้มีการดำเนินโครงการคือ การจัดอบรม การให้คำปรึกษา แนะนำให้กับเกษตรกร และให้กับบริษัท ทั้ง 17 บริษัท ที่ผลิตทั้งผักและผลไม้สดที่จัดจำหน่ายตามห้างค้าปลีกชั้นนำของประเทศ เพื่อให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของบริษัทต่างๆได้รับความรู้ในเรื่อง "มาตรฐาน ThaiGAP"ได้มีความเข้าใจที่ตรงกันทุกฝ่าย และมีการขับเคลื่อนมาตรฐาน ThaiGAPอย่างไรก็ตาม มาตรฐาน ThaiGAP มั่นคงและยั่งยืนได้ จะต้องมีองค์ความรู้ ความเข้าใจ ปฏิบัติได้และอธิบายได้โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ในนามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ฯ ขอแสดงจุดยืนความเป็นเครือข่ายวิชาการระหว่างสถานศึกษาต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ เพื่อร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ และปรับพัฒนาเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมในพื้นที่แต่ละท้องถิ่น เพื่อร่วมกันผลักดันผัก ผลไม้ ของประเทศไทยให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ นางสาวสุภาพิศ ผลงาม รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. กล่าวว่า สทอภ. ได้พัฒนาต้นแบบระบบตรวจสอบกระบวนการและแหล่งที่มาของสินค้าเกษตร ด้วย QR Code ขึ้น และเปิดทดลองให้บริการตั้งแต่กลางปี 2558 โดยทดสอบการใช้งานระบบร่วมกับสภาหอการค้าฯ มาโดยตลอด รวมถึงปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ในกรณีของสินค้าด้านการเกษตรที่จะนำระบบ QR Code มาประยุกต์ใช้ นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอข้อมูลด้านการผลิต มาตรฐานต่างๆที่ได้รับการรับรอง และผู้รวบรวมสินค้าแล้วยังจะมีการนำเสนอร่วมกับข้อมูลภูมิสารสนเทศที่จะทำให้ทราบถึง ทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อมของสถานที่ผลิตหรือตำแหน่งสถานที่คัดบรรจุ เพื่อเป็นการสอบทานย้อนกลับ (Traceability) ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคและความน่าเชื่อถือต่อผู้ผลิต ว่าสินค้าที่ได้เลือกซื้อนั้นมีแหล่งที่มาที่ถูกหลักอนามัยและได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ