“มินิเฟโนเมนตา” ตัวช่วยสุดล้ำ ฝึกเด็กสังเกตอย่างเสรีและคิดอย่างเป็นระบบ สู่การเรียนรู้อย่างยั่งยืนและถาวร พร้อมสร้างสัมพันธ์ผู้ปกครองกับโรงเรียน

ข่าวทั่วไป Monday April 25, 2016 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--นานมีบุ๊คส์ วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ในทุกแขนง ซึ่งสมัยนี้แต่ละโรงเรียนก็ล้วนเลือกใช้วิธีการเรียนรู้แบบ Hands-on หรือการให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองมาใช้ในการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งช่วยให้เด็กเกิดการจดจำได้มากขึ้นกว่าการเรียนรู้แบบท่องจำเหมือนแต่ก่อน ล่าสุดโครงการมินิเฟโนเมนตา (MINIPHÄNOMENTA) จากประเทศเยอรมนี ได้ขยายมาสู่ประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นำโครงการเข้ามาสู่โรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทยเพื่อเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้ร่วมกับผู้ปกครองในการตัดสินใจนำสถานีการทดลองวิทยาศาสตร์จำนวนกว่า 52 สถานีไปตั้งในโรงเรียน อันจะเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กสามารถเข้าถึงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และได้ทำการทดลองด้วยตนเองอย่างเสรี โดยมีโรงเรียนที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการนี้แล้วกว่า 10 โรงเรียน อาทิ โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนรุ่งอรุณ และโรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นต้น ครูศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเพลินพัฒนา กล่าวถึงผลที่เด็กจะได้จากการเล่นสถานีการทดลองว่า "สถานีการทดลองต่างๆ เหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเด็กแน่นอน เครื่องมือนี้เป็นฟรีเพลย์ แต่จะต่างอยู่ที่มันมีความฉงนฉงายของปรากฏการณ์ของมันอยู่ในนั้น ผลเหมือนการเรียนรู้แบบฟรีเพลย์คือพูดยากว่าผลจะเกิดเป็นอะไร เป็นได้ทั้งเรื่องพัฒนาการของเซลล์ การเปิดรับของเด็กที่มีต่อโลก จินตนาการที่จะไปสู่ไอเดีย และนี่คือไอเดียบริสุทธิ์ที่จะออกไปเป็นอะไรก็ได้ อาจจะเป็นศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ก็ได้" สิติมา มุรธาทิพย์ ประธานสภาครอบครัวโรงเรียนเพลินพัฒนา กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองกับโรงเรียนว่า "ผู้ปกครองให้ความร่วมมือกันมาก มีการช่วยกันซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุด ซึ่งเมื่อนำโครงการนี้เข้ามาส่วนหนึ่งก็หวังให้เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองทั้งโรงเรียน ซึ่งในการคัดเลือกสถานีการทดลองที่ผู้ปกครองจะสร้างเราจะให้เด็กได้มีสิทธิ์เลือกว่าชอบสถานีไหน โดยการให้เด็กทุกคนแปะสติ๊กเกอร์ที่สถานีการทดลองที่ตนเองชอบ ผลก็คือเด็กชอบสถานีแรลลี่ลูกแก้ว ดินสอสื่อเสียง แล้วผู้ปกครองก็จะเริ่มสร้างสถานีเหล่านี้ในเฟดแรก ซึ่งตอนนี้มีผู้ปกครองเต็มใจให้ความช่วยเหลือประมาณ 30 ครอบครัว แต่เรากำลังพยายามให้ผู้ปกครองทุกคนให้ความสำคัญของโครงการนี้ เนื่องจากเรามองว่าเด็กโรงเรียนเราเรียนรู้ผ่านกระบวนการเล่นสิ่งเหล่านี้ จับต้อง และปฏิบัติถึงจะเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เราจึงอยากให้อยู่คู่กับโรงเรียนตลอดไป" หลังจากที่ได้นำสถานีการทดลองมาไว้ที่โรงเรียน น้องปั้นจี่-ด.ช.นิธิศ บัญชาศักดิ์ อายุ 10 ขวบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเพลินพัฒนา กล่าวว่า "ผมได้เล่นทุกสถานีการทดลอง ที่ผมชอบมีหลายอย่างมาก เช่น การทดลองเรื่องไฟฟ้าสถิต ที่ให้เราเอาผ้าหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ถูกับโฟมแล้วโฟมก็จะขึ้นมา ซึ่งผมก็คิดว่าน่าจะเกิดจากกระแสไฟฟ้าที่ดูดโฟมขึ้นมา หรืออีกสถานีหนึ่งที่มีลูกแก้วกลิ้งลงมาก็จะสอนเรื่องแรงดึงดูด สถานีเหล่านี้ทำให้เราเล่นได้หลายแบบ ไม่จำกัดวิธีเล่นสามารถทำตามจินตนาการของเราได้ ผมอยากให้โรงเรียนตั้งสถานีการทดลองแบบนี้อย่างถาวร" โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นอีกหนึ่งโรงที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูฤทธิรงค์ เจริญวัฒนมงคล ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวว่า "โครงการมินิเฟโนเมนตาตรงกับกระบวนการเรียนการสอนเดิมที่โรงเรียนทำกันอยู่คือ เราสร้างโอกาสให้เด็กได้เกิดการค้นพบด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นเราจะปล่อยให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างเต็มที่ โดยที่ทั้งครูและผู้ปกครองต้องไม่มีการบอกใดๆ ซึ่งโรงเรียนได้แปะกระดาษเปล่าไว้ในทุกสถานีการทดลองให้เด็กที่เล่นได้เขียนสิ่งที่ตนเองค้นพบ เพื่อที่เด็กๆ จะได้แลกเปลี่ยนกัน และบางครั้งก็ให้เด็กออกมาพูดหน้าแถวว่าแต่ละสถานีได้ค้นพบอะไร ซึ่งได้ผลตอบรับดีมาก เด็กเขียนกันเยอะมากเกือบทุกฐานต้องเพิ่มกระดาษเปล่าเข้าไป นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยอธิบายสิ่งที่ครูสอนอยู่แล้ว เพราะทุกสถานีสามารถตอบโจทย์ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นหลักฟิสิกข์ระดับประถมต้นถึงมัธยมต้นก็สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่เนื้อหาได้ทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าเด็กได้เล่นสถานีการทดลองนี้ก่อน แล้วพอถึงเวลาเรียนเรื่องนี้เราก็สามารถนำมาเชื่อมโยงได้" ร.ต.ท.ปฐมพงษ์ ศรีเทพ ผู้ปกครองโรงเรีนรุ่งอรุณ กล่าวถึงผลจากการสังเกตการใช้สถานีการทดลองว่า "การมีสถานีการทดลองมาตั้งในโรงเรียนช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ และช่วยเปิดโลกกว้างให้เด็กๆ ซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้ว่าทำอย่างไรผลถึงเป็นแบบนี้ มันลอยได้อย่างไร ทำให้มีกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งการเปิดโอกาสให้เด็กๆ เล่นได้ตามใจชอบเมื่อไหร่ก็ได้แบบนี้เป็นการช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากการเรียนบนห้องเรียน ฝึกการคิดนอกกรอบ และมีความคิดที่กว้างมากขึ้น" ด.ญ.พอ ปุรผาติ กุลวานิช อายุ 9 ขวบ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากได้เล่นสถานีการทดลองว่า "สถานีการทดลองมินิเฟโนเมนตาเป็นสิ่งที่สนุก เพราะมันแล้วแต่วิธีการเล่นของแต่ละคนว่าจะทำอย่างไร อย่างเช่น ฐานที่มีเครื่องเป่าลมที่มีแผ่นโฟมกลมๆลองอยู่ พอเปิดเครื่องเป่าลมแล้วแผ่นโฟมจะลอยขึ้นไปแทนที่จะกดลง ซึ่งทำให้หนูสังเกตได้ว่าการเป่าลมไม่ใช่จะทำให้สิ่งของต้องตกไปตามแรงลม แต่สามารถดึงกลับมาได้" หากผู้ปกครองกับโรงเรียนมีสัมพันธ์ที่ดีพร้อมร่วมใจส่งเสริมเด็กไทยฝึกสังเกตและคิดอย่างเป็นระบบผ่านโครงการมินิเฟโนเมนตา เด็กไทยจะมีการเรียนรู้อย่างยั่งยืนและถาวรในไม่ช้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ