พม. จัดการอบรมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม ปี ๒๕๕๙ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีทักษะชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายของแต่ละท้องถิ่นได้

ข่าวทั่วไป Monday May 9, 2016 09:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--การกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรม ปี ๒๕๕๙ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีทักษะชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างมีความสุข และมีความรักสามัคคีในชาติ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ เมษายน - ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ประกอบด้วย เด็กและเยาวชนชาย-หญิง อายุระหว่าง ๑๕-๑๘ ปี จาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สตูล ยะลา และสงขลา จังหวัดละ ๑๕ คน เด็กในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน ๗๕ คน ครอบครัวรับรองจากองค์การบริหารส่วนตำบลสนวน จำนวน ๗๕ ครอบครัว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เจ้าหน้าที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งสิ้นจำนวน ๓๓๐ คน พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า การพัฒนาทักษะชีวิตแก่เด็กและเยาวชน หมายถึง ความสามารถของบุคคลที่จะคิด ตัดสินใจ แก้ไขปัญหาและปรับตัวให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสมตามวัยและสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม การเปิดโอกาสแก่เด็กและเยาวชนใน ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ ล้วนต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ที่ ส่งผลต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน และปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เด็กและเยาวชนนั้นขาดโอกาสที่จะพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ เด็กจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสในการเรียนรู้ การทำกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ที่จะเป็นการพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสม อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการถูกชักชวนไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้ พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตเด็กต่างวัฒนธรรมนั้น ได้ดำเนินการมาแล้ว ๗ ปี โดยร่วมจัดกิจกรรมกับจังหวัดอุบลราชธานี ในปี ๒๕๕๒ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี ๒๕๕๓ จังหวัดนครราชสีมา ในปี ๒๕๕๔ จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖ กรุงเทพมหานคร ในปี ๒๕๕๗ และจังหวัดชัยนาท ในปี ๒๕๕๘ สำหรับในปี ๒๕๕๙ นี้ กำหนดจัดกิจกรรมร่วมกับจังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ ๒๗ เมษายน - ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙ โดยมีกิจกรรมย่อย ๔ กิจกรรม ดังนี้ ๑) การอบรมเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชน" เพื่อฝึกฝน ให้เกิดการพัฒนาทักษะชีวิตด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็ก การสร้างสัมพันธภาพ การยอมรับความแตกต่าง การเลือกตัดสินใจอย่างถูกต้อง และการทำงานเป็นทีม ๒) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างภาค การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างสัมพันธภาพระหว่างเด็กภาคใต้กับเด็กในจังหวัดบุรีรัมย์ และการทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ ๓) การพักกับครอบครัวรับรอง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว การประกอบอาชีพ และวัฒนธรรมของชุมชน ที่แตกต่างให้สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และ ๔) การประชุมสรุปบทเรียนและประเมินผล เป็นการสรุปบทเรียน การประเมินผลความพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรม และหลังจากเสร็จสิ้นโครงการเด็กจะต้องร่วมกันวางแผนการจัดกิจกรรมขยายผลให้กับเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป "ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา ๑๔ วัน ในการเข้าร่วมกิจกรรม เป็นการเริ่มต้นในการพัฒนาทักษะชีวิตที่ดี ขอให้ทุกคนใช้เวลาอย่างมีคุณค่า ตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์ และเปิดใจยอมรับเรียนรู้ในสิ่งที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ภาษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม สร้างคุณค่าแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งการช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้มากที่สุด ทั้งกับตนเอง ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลลัพธ์สำคัญกว่านั้น คือ ความตระหนักถึงความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย ศิลปวัฒนธรรมของไทย และการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างอย่างสันติสุข ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลด้านสังคม ที่มุ่งมั่นจะสร้างสังคมให้เข้มแข็งและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างสมานฉันท์ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หวังว่าเด็กและเยาวชนทุกคนจะนำความรู้และประสบการณ์ชีวิตที่ดีจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ไปพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป"พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ