ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความตั้งใจใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ของประชาชนในอีก 12 เดือนข้างหน้า กรณีศึกษาตัวอย่าง มนุษย์เงินเดือน ใน 15 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Thursday May 19, 2016 12:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจเรื่อง ความตั้งใจใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ของประชาชน ในอีก 12 เดือนข้างหน้า กรณีศึกษาตัวอย่าง มนุษย์เงินเดือนใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 5,661 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการช่วงวันที่ 1 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในอีก 12 เดือนข้างหน้าสดใสในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่ซึมยาวในภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. เป็นไปตามเม็ดเงินในกระเป๋าของประชาชน โดยพบว่า ประชาชนส่วนใหญทั้งประเทศหรือร้อยละ 65.3 ยังไม่มีแผนใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ เช่น บ้านหลังใหม่ รถยนต์คันใหม่ ตู้เย็นหลังใหม่ ทีวีเครื่องใหม่ เป็นต้น ในขณะที่ ประมาณ 1 ใน 3 ของกลุ่มคนมนุษย์เงินเดือนหรือร้อยละ 34.7 มีความตั้งใจใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ โดยเฉาพะ กลุ่มคนมีรายได้มากกว่า 75,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 58.7 ยังคงตั้งใจใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ซื้อบ้านหลังใหม่ รถยนต์คันใหม่ ตู้เย็นหลังใหม่ ทีวีเครื่องใหม่ ฯลฯ แต่กลุ่มคนที่รายได้ต่ำกว่า 75,000 บาทต่อเดือนส่วนใหญ่ยังไม่มีความตั้งใจใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ซื้ออะไรในอีก 12 เดือนข้างหน้า และเมื่อจำแนกออกตามพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ พบว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้เกิน 75,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปส่วนใหญ่หรือเกินร้อยละ 60 ขึ้นไปในภาคอีสาน ภาคเหนือ และ กทม. ตั้งใจใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ ยกเว้น ภาคกลาง และภาคใต้ที่ถึงแม้ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูงกว่า 75,000 บาทต่อเดือนส่วนใหญ่หรือเกินกว่าร้อยละ 70 ขึ้นไปก็ยังไม่มีแผนใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ใดๆ ทั้งสิ้น ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้บริโภคในภาคเหนือและภาคอีสานไม่ว่าจะมีเงินในกระเป๋ามากหรือน้อยก็ตั้งใจใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ข้อมูลสำรวจครั้งนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่จะเห็นพื้นที่เป้าหมายชัดเจนขึ้นว่า ในภาคอีสานและภาคเหนือจะมีการใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ของประชาชนในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ ภาคกลาง และภาคใต้ ต้องมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเงินของประชาชนเพราะถึงแม้คนมีเงินมากในภาคกลางและภาคใต้เหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่กล้าใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครพบว่า การใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ของประชาชนจะเป็นไปตามเม็ดเงินในกระเป๋าของประชาชน คือ คนมีเงินมากก็จะใช้จ่ายเงินมากตามไปด้วย "ที่น่าเป็นห่วงคือ ความตั้งใจใช้จ่ายเงินของคนภาคเหนือและภาคอีสาน เพราะไม่ว่าเม็ดเงินในกระเป๋าของตนเองจะมีมากหรือน้อย ก็ตั้งใจจะใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ที่อาจจะเกินตัวเกินกำลังไปก่อหนี้เสียหายต่อตัวเองและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแบบพวกไม่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจซื้อที่เรียกว่าเป็นพวก Irrational Consumers โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมักจะเป็นไปตามฝูงชนที่กด LIKE บนโลกเสมือนจริงที่แชร์ต่อๆ กัน แทนพฤติกรรมไตร่ตรองจากการเก็บข้อมูลและประเมินอย่างมีสติให้ครบถ้วนรอบด้านตามกำลังซื้อของตนของพวกมีเหตุมีผลแบบ Rational ผลที่ตามมาก็คือ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจซื้อสินค้าตามยอดกด LIKE กลายเป็นผู้ตัดสินใจซื้อแบบขี้เกียจคิดมาก ใช้จ่ายเกินตัว เศรษฐกิจขยายตัวแบบฟองสบู่และไม่ยั่งยืน จึงเป็นเรื่องน่าคิดโจทย์ใหญ่ของผู้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปพิจารณาผลสำรวจครั้งนี้ให้ลึกซื้งวางยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป" ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว ดร.นพดล กรรณิกา โทร. 087.33.555.99 โทร. 095.471.4444 ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) โทร 02.136.9287 หรือ 02.308.0444www.superpollthailand.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ