มจธ. โชว์สกิล สร้างนวัตกรรมเพื่อเกษตรกรไร่สับปะรด

ข่าวทั่วไป Thursday June 9, 2016 12:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--มจธ.ราชบุรี นักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต มจธ. ราชบุรี ออกแบบนวัตกรรมเครื่องหยอดสารบังคับ การออกดอกให้สับปะรด เพิ่มความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา ลดค่าจ้างแรงงาน และสามารถเก็บผลผลิตพร้อมๆ กัน ล่าสุดนักวิจัยช่วยต่อยอดสู่พาณิชย์ ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีเกษตรกรนิยมทำไร่สับปะรด อย่างในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ นิยมปลูกสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวียเพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปเป็นจำนวนมาก ซึ่งการปลูก สับปะรดส่งเข้าโรงงานนั้นเกษตรกรต้องควบคุมคุณภาพของผลผลิตในหนึ่งล็อตให้มีความสมบูรณ์เท่ากันทั้งขนาด และความสุกที่ใกล้เคียงกัน จึงต้องมีการแก๊ซบังคับการเกิดดอกพร้อมกัน แต่เพื่อให้ทุกต้นได้รับแก๊สในปริมาณที่เท่ากันและทั่วถึง เกษตรกรจะใช้ช่วงเวลาเช้ามืดที่มีน้ำค้างหยดบนยอดสับปะรด เดินไปตามท้องไร่แล้วหยอดเม็ดแคลเซียมคาร์ไบด์ลงบนยอดทีละต้นด้วยมือจนกว่าจะครบทั้งไร่ซึ่งส่วนมากจะต้องจ้างแรงงาน 3-4 คนต่อการหยอดแก๊สหนึ่งครั้ง ทางด้าน นายสุชาติ บัวโกล้, นายสมพงษ์ บุญล่า และนายสิทธิศักดิ์ เจริญกิติศัพท์ นักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) วิทยาเขตราชบุรี ได้เห็นปัญหาดังกล่าวและส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานเกษตรกร จึงระดมความรู้ผสมผสานกับประสบการณ์ร่วมพัฒนา "เครื่องหยอดสารแคลเซียมคาร์ไบด์สำหรับการปลูกสับปะรด" ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดย ดร.ธิติมา วงษ์ชีรี นักวิจัยและอาจารย์ประจำ มจธ. กล่าวในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาว่า เครื่องมือดังกล่าวนักศึกษาคิดขึ้นมาเพื่อจะแก้ปัญหาหลายด้านที่เกิดจากวิธีการหยอดแก๊สแบบดั้งเดิมที่เกษตรกรทำกันมานาน "สารแคลเซียมคาร์ไบด์ที่เกษตรกรใช้มีลักษณะเป็นของแข็งในรูปเกร็ดเล็กๆ เมื่อผสมกับน้ำจะระเหิดกลายเป็นแก๊สอะเซทิลีนซึ่งเป็นแก๊สที่มีโครงสร้างคล้ายกับเอทิลีนมีคุณสมบัติเร่งการสุกของผลไม้ ต่างจากเอทิลีนเกิดจากธรรมชาติ ดังนั้นเกษตรกรไร่สับปะรดจึงนำสารแคลเซียมคาร์ไบด์มาใช้ในการชักนำการเกิดดอกสับปะรดเพื่อให้สับปะรดทั้งไร่สุกพร้อมๆ กันและมีขนาดใกล้เคียงกันตามมาตรฐานที่จะส่งเข้าโรงงานได้ ปัญหาของวิธีดั้งเดิมคือการหยอดมือแต่ละคนแม่นยำไม่เท่ากันต่อการหยอดหนึ่งครั้งและในแต่ละวันก็ต้องลุ้นด้วยว่าน้ำค้างบนยอดสับปะรดจะมีมากหรือน้อยทำให้แต่ละต้นได้รับความเข้มข้นไม่เท่ากันส่งผลไปถึงการเจริญเติบโต นอกจากนั้นการหยอดแก๊สหนึ่งครั้งต้องจ้าง แรงงาน 3-4 คน ซึ่งปัจจุบันค่าจ้างแรงงานด้านเกษตรกรรมก็สูงขึ้นมาก ซึ่งโดยปกติแล้วการปลูกสับปะรดจะใช้เวลาตั้งแต่ปักหน่อจนกระทั่งเก็บเกี่ยว 10-12 เดือน โดยมีการหยอดแก๊สหลังจากปลูกประมาณ 6-10 เดือน ต้องมีการหยอดแก๊ซด้วยการใช้นิ้วมือหยิบหยอดลงที่ยอดตรงๆ โดยแต่ละครั้งประมาณ 5-18 เกร็ด น้ำหนักประมาณ 3 กรัม การหยอดต้องทำ 2 ครั้งก็ต้องจ้างแรงงานสองรอบ อีกทั้งคนที่ทำงานดังกล่าวก็อาจได้รับบาดเจ็บที่หลังจากการก้มๆ เงยๆ ระหว่างการหยอดแก๊สอีกด้วย ดังนั้นนักศึกษากลุ่มนี้จึงคิดค้นพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ให้แก่เกษตรกร" ดร.ธิติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการทำงานของเครื่องหยอดสารคือการนำเม็ดแคลเซียมคาร์ไบด์มาละลายน้ำแล้ว บรรจุในถังที่สามารถสะพายได้ และส่วนล่างของถังนั้นมีการติดมอเตอร์กำลังไฟ 12 โวลต์ที่ช่วยในการปั้มน้ำจากถังออกมายังหัวฉีด โดยส่วนหัวฉีดนี้ก็ได้พัฒนาให้มีการใช้งานที่สะดวกสบายเป็นอย่างมาก โดยการกดหัวฉีดหนึ่งครั้งจะมีน้ำออกมา 70 มิลลิลิตร เป็นปริมาตรที่เหมาะสม ต่อการหยอดสารบนต้นสับปะรดหนึ่งต้น ซึ่งจากโมเดลต้นแบบที่นักศึกษาได้พัฒนาไว้ก่อนจบการศึกษาได้มีการนำไปยื่นจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว "การหยอดแก๊สคำนวณจากน้ำค้างเมื่อเต็มยอดสับปะรดเท่ากับการกดหัวฉีด 1 ครั้ง มีน้ำออกมา 70 มิลลิลิตร . จากส่วนผสมแคลเซียมคาร์ไบด์ครึ่งกิโลกรัมกับน้ำเปล่า 18 ลิตร จะได้ความเข้มข้นในปริมาณที่เหมาะสม ที่จะสามารถบังคับการเกิดดอกของต้นได้โดยในหนึ่งรอบการปลูกจะหยอดสารเพียงแค่หนึ่งครั้งเท่านั้น ใช้แรงงานคนเพียงแค่หนึ่งคน ถือว่าได้เปรียบกว่าวิธีดั้งเดิมที่ต้องใช้แรงงานถึง 4 คนและยังต้องหยอดแก๊สถึง 2 ครั้งต่อหนึ่งรอบการปลูก ช่วยลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลา ประหยัดค่าจ้างแรงงาน และยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพด้วย" ทั้งนี้ผลงานดังกล่าวเกิดจากฝีมือการพัฒนาของนักศึกษาหลักสูตร ทล.บ. ซึ่งเป็นนักศึกษาที่มาจากระดับ ปวส. และมาเรียนต่อในระดับปริญญาตรีอีกสองปี ดังนั้นจะมีทักษะทางด้าน hand skill ค่อนข้างเด่นชัด สามารถออกแบบและพัฒนาเครื่องมือได้หลากหลาย แต่สิ่งที่อาจารย์มหาลัยต้องเติมเต็มให้นักศึกษากลุ่มนี้ก็คือเรื่องของกระบวนการวิจัย การตั้งสมมติฐานและผลลัพธ์ เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์เกินคำว่าใช้งานได้ จนถึงการตอบโจทย์ปัญหาและได้ผลลัพธ์ในทางวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันแม้นักศึกษารุ่นดังกล่าวจะได้จบการศึกษาไปแล้ว แต่เครื่องยังได้รับความสนใจจากเกษตรกรมหาวิทยาลัยจึงได้มอบหมายให้คุณทองไส ช่วยชู นายช่างอิเล็กทรอนิคชำนาญงาน มจธ.เข้ามาช่วยพัฒนาต่อยอดจากเครื่องต้นแบบ นำไปประยุกต์กับเครื่องพ่นยาหลากหลายรุ่นที่มีอยู่ในตลาดขยายเพิ่มขึ้นอีก 4 - 5 เครื่อง นำไปมอบให้แก่เกษตรกรในพื้นที่รอบๆ มจธ.ราชบุรี ได้ทดลองใช้และแลกเปลี่ยนคำแนะนำกลับมาพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของเกษตรกรมากที่สุด พร้อมตั้งเป้าว่าหากสามารถพัฒนาจนสามารถนำออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ก็จะให้นักศึกษาเจ้าของผลงานเป็นคนรับช่วงต่อไป อย่างไรก็ตาม ผลงานดังกล่าวยังได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ อันดับที่ 3 ภายใต้โครงการประกวดนวัตกรรมชาวบ้านด้านการเกษตร ประจำปี 2558 จาก สวทช.อีกด้วย.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ