ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง หยั่งกระแสเสียงสาธารณชน ต่อ พรรคการเมือง ถ้าวันนี้เลือกตั้ง กรณีศึกษาตัวอย่าง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ใน 15 จังหวัด

ข่าวทั่วไป Thursday June 16, 2016 15:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน และผู้อำนวยการ สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจเรื่อง หยั่งกระแสเสียงสาธารณชน ต่อ พรรคการเมือง ถ้าวันนี้เลือกตั้ง กรณีศึกษาตัวอย่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 5,964 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการช่วงวันที่ 1 - 28 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.3 ไม่เลือกพรรคใดเลย ในขณะที่ ร้อยละ 14.8 เลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 11.4 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 1.5 เลือกพรรคอื่นๆ เมื่อแบ่งออกตามภูมิภาค พบว่า การตัดสินใจของประชาชนเลือกพรรคการเมืองเหมือนเดิมคือ คนภาคเหนือและภาคอีสานยังคงเลือกพรรคเพื่อไทยคือร้อยละ 17.6 และ ร้อยละ 14.4 ในขณะที่คนภาคใต้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ คือร้อยละ 32.7 อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เลือกพรรคการเมืองใดเลย เมื่อแบ่งออกตามจุดยืนทางการเมือง พบว่า ถ้าต้องตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง คนที่หนุนรัฐบาลเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทยคือร้อยละ 17.9 ต่อร้อยละ 12.2 แต่คนที่ไม่หนุนรัฐบาลเลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์คือร้อยละ 33.1 ต่อร้อยละ 8.0 ในขณะที่กลุ่มพลังเงียบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.2 ไม่เลือกพรรคใดเลย ที่น่าสนใจคือ เมื่อแยกออกตามอาชีพ พบว่า คนว่างงานเลือกพรรคเพื่อไทย แต่เกษตรกรกลับเลือกพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า คือร้อยละ 33.3 ของคนว่างงานเลือกพรรคเพื่อไทย แต่ร้อยละ 11.1 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ เกษตรกรร้อยละ 20.6 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ร้อยละ 14.5 เลือกพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐไม่เลือกพรรคใดเลย คือ ร้อยละ 79.5 แต่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองกลับพบว่ามีสัดส่วนใกล้เคียงกันมากคือ ร้อยละ 9.3 เลือกพรรคเพื่อไทย แต่ร้อยละ 9.8 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ที่เหลือเลือกพรรคอื่นๆ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ตามลำดับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) กล่าวว่า ถ้าวิเคราะห์ให้ประชาชนที่ไม่เลือกพรรคใดเลยเป็นค่าคงที่ โมเดลของรัฐบาลในอนาคตจะเป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียวได้ ฟันธงได้ว่าต้องเป็นรัฐบาลผสมเหมือนในอดีตหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา ดังนั้นโอกาสสูงที่ พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ และหากเป็นเช่นนั้น โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นไปได้เช่นกัน แต่ด้วย "เงินและผลประโยชน์ไม่เข้าใครออกใคร" โอกาสแก่งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองก็จะเวียนกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งที่ผ่านมาพรรคการเมืองก็ยังไม่แสดงให้สาธารณชนเห็น "สัญชาตญาณเชิงพฤติกรรมที่ดี" ออกมาว่าจะปฏิรูปตัวเองแต่ประการใด แกนนำพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังคงใช้ "วาทะกรรมปลุกปั่นกระแส โน้มน้าวช่วงชิงประชาชน" "หากรัฐบาล คสช. และภาคประชาสังคม ไม่ช่วยกันพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ก็มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า ประเทศชาติก็จะตกอยู่ในวัฏจักรแห่งความเลวร้ายของการแก่งแย่งอำนาจ ช่วงชิงผลประโยชน์ ทุจริตคอรัปชั่นและทุกๆ อย่างก็จะวนกลับสู่จุดเดิมซ้ำซาก" ดร.นพดล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ