ปั้น “เยาวชนนักอ่าน” พลังชุมชนช่วยพัฒนาเด็กเล็ก

ข่าวทั่วไป Wednesday July 6, 2016 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสยามกัมมาจล การอ่านออกเขียนได้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่จะทำอย่างไร ที่จะทำให้เด็กในชุมชนมีพัฒนาการด้านภาษา ตั้งแต่เริ่มสตาร์ทในโรงเรียน ทต.เมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ตกผลึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ต้องสานพลังคนในชุมชนมาบูรณาการร่วมกัน ทั้งแกนนำเยาวชน ผู้ปกครอง ครูศูนย์เด็กเล็ก โดยมี ทต.เมืองแกเป็นผู้หนุน จึงทำให้เกิดโครงการนำหนังสือสู่มือน้อง ปั้น"เยาวชนนักอ่าน" ในชุมชนรุ่นแรก 9 คน เวียนอ่านหนังสือนิทานให้น้อง 86 คน ฟังทุกวันต่อเนื่อง 300 วัน หวังผลเด็กเล็กเมืองแกมีพัฒนาการด้านภาษาเพื่อเป็นฐานเรียนระดับประถมต่อไป กันตะ หรือ นายธนภัทร สงนวน หนึ่งในทีมแกนนำเยาวชนนักอ่าน อายุ 15 ปี ขณะนี้เรียนอยู่ที่ม.3 โรงเรียนเมืองแกพิทยา ได้ยินผู้ใหญ่บ้านประกาศรับสมัครเยาวชนมาอ่านหนังสือให้น้องๆ ในชุมชนฟัง จึงเกิดความสนใจมาสมัครพร้อมกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้านอีกกว่า 10 คน เหลือเพียง 2 คน ที่ผ่านรอบ คือกันตะ และต้าร์เด็กชายสุทธิพงษ์ วนมา บ้านโนนกลาง ก่อนเริ่มงาน มีพี่ๆ มาช่วยเทรนเคล็ดลับให้ ทั้งด้านการอ่านหนังสือ ให้อ่านออกเสียงให้ชัดเจน การจับหนังสือต้องให้นิ่งไม่ขยับมาก การเปิดหนังสือจบแต่ละหน้าต้องค้างไว้ 5 วินาทีเพื่อให้น้องๆ ได้ดูภาพประกอบก่อนอ่านหน้าถัดไป "กันตะ" รับผิดชอบน้องๆ 11 คน อายุระหว่าง สองขวบถึง 5 ขวบ เริ่มกิจกรรมการอ่านตั้งแต่ 16.00 - 19.00 น.ในวันจันทร์-ศุกร์ และเวลา 09.00 -12.00 น.ในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยอ่านหนังสือนิทานให้น้องฟังทีละบ้าน ใช้เวลาบ้านละ 30-40 นาที ช้าหรือเร็วแล้วแต่พฤติกรรมของน้องๆ แต่ละคน ระหว่างอ่านให้ฟังผู้ปกครองที่ร่วมโครงการ ไม่ว่าจะเป็น ตา ยาย หรือ พ่อ แม่ จะต้องนั่งฟังอยู่ใกล้ๆ ด้วย เมื่อเสร็จภารกิจในแต่ละวัน กันตะ หยิบแบบประเมินออกมาประเมินพฤติกรรมน้องรายคน โดยมีผู้ปกครองร่วมและเซ็นชื่อกำกับด้วยทุกครั้ง ทำแบบนี้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม หนังสือนิทานที่กันตะนำมาเล่าเช่น มดสิบตัว /น้องหมีสู้สู้ /นั่งกระโถนสิลูก /ลูกสัตว์ไปกับแม่ /อีเล้งเค้งโค้ง /อาบน้ำด้วยกันนะ /มากินข้าวด้วยกันนะ /ลูกเจี๊ยบ 5 ตัว เป็นต้น กันตะเล่าว่า "เริ่มทำกิจกรรมเราต้องดูน้องก่อนว่าพร้อมหรือเปล่า น้องบางคนไม่ชอบคนแปลกหน้าแรกๆ ก็จะร้องไห้เราก็ต้องใจเย็น รอจนน้องพร้อมแล้วก็เริ่ม จะเริ่มอ่านชื่อเรื่องให้น้องฟังก่อนช้าๆ เพื่อดูความสนใจเป็นรายบุคคล สังเกตน้องชอบเล่มไหน ก็จะอ่านเล่มนั้นให้ฟัง การอ่านก็จะเล่าน้ำเสียงให้เข้ากับเรื่อง ถ้ามีตัวละครก็จะทำเสียงเป็นตัวละครนั้นๆ เช่นมีพ่อก็ทำเสียงเป็นพ่อ" แต่ที่กันตะประทับใจมาก เมื่ออ่านหนังสือนั่งกระโถนสิลูกให้น้องฟัง พฤติกรรมน้องเปลี่ยนไป "จากฉี่ไม่เป็นที่ ก็เริ่มไปฉี่ที่ห้องน้ำ เพราะอ่านนิทานเรื่องนั่งกระโถนสิลูก นิทานที่อ่านจะสอนน้องๆ เรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นการนั่งกระโถน การขโมยเป็นสิ่งไม่ดี การสอนนับเลข สอนให้รักบ้านเกิด จากนิทานเรื่องมดสิบตัว ผมคิดว่านิทานทำให้เด็กรักการอ่าน และช่วยเหลือตนเองได้" กันตะเล่าต่อว่า "เวลาเหนื่อยมาก ก็ได้กำลังใจจากผู้ปกครอง ทำให้มีกำลังใจอยากทำต่อ พอผู้ปกครองมาบอกว่าลูกหลานเขาดีขึ้น ทำให้มีสมาธิมากขึ้น บางครั้งน้องๆ ก็เอานิทานที่เราเล่าไปเล่าให้เขาฟังด้วย" แต่ที่มีความสุขสุดๆ เมื่อผู้ปกครองเรียกกันตะว่า "คุณครู" ทำให้ในอนาคตเจ้าตัวอยากเป็นครู ที่สำคัญเกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเอง ทำให้อ่านหนังสือได้คล่องขึ้น อ่าน ร ล คำควบกล้ำ อ่านออกเสียงดีขึ้น "การพูดก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนพูดห้วนๆ พอมาอยู่กับน้องๆ ก็ต้องพูดเพราะๆ ก็ติดเป็นนิสัยไปพูดกับพ่อ แม่ เพื่อน ครู ก็จะพูดเพราะขึ้น การอ่านทำให้เรากล้าที่จะพูดหรือถามครูมากขึ้น เพื่อนให้ไปนำเสนอมากขึ้น และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนมากขึ้น" ด้านคุณครูศูนย์เด็กเล็ก ทต.เมืองแก นางอำภา อุดหนุน ครูศูนย์เด็กเล็ก ทต.เมืองแก รับผิดชอบนักเรียน 46 คน อายุระหว่าง 2-6 ขวบ ครู 3 คน "การใช้หนังสือนิทานเป็นสื่อในการฝึกพฤติกรรมของเด็ก ทำให้เด็กมีสมาธิ และมีความตั้งใจมากขึ้น หลังเข้าโครงการเห็นว่าเด็กเปลี่ยนพฤติกรรมชัดเจน ในด้านภาษาเด็กเข้าใจเนื้อหา สามารถพูดได้เป็นประโยคยาวๆ สื่อสารกับเพื่อนได้ ในด้านอารมณ์ เด็กบางคนไม่ยอมออกมาอยู่กับเพื่อนก็ค่อยๆ ออกมา พฤติกรรมการแกล้งเพื่อนก็ลดน้อยลง มีหนังสือชื่อกุ้งกิ้งไปโรงเรียน สอดแทรกเนื้อหาด้านคุณธรรม จริยธรรม จะเล่าว่าเด็กที่แกล้งเพื่อนไม่มีใครชอบ น้องที่เคยชอบแกล้งเพี่อนโยนของใส่เพื่อน หรือกัดเพื่อน ก็เลิกพฤติกรรม นิทานช่วยฝึกการใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น นิทานเรื่องนั่งกระโถนสิลูกฝึกการเข้าห้องน้ำ ฝึกเรื่องนิสัย เช่น เรื่องกากับเหยือก ฝึกเรื่องความอดทน ก่อนเล่านิทานต้องให้เด็กมีสมาธิก่อน นำจิตศึกษาเข้ามาใช้ให้เด็กนั่งเป็นวงกลมแล้วส่งของต่อๆ กัน พอเห็นว่าเด็กพร้อมแล้วก็เล่า" นางอำภา เล่าถึงผลที่เกิดขึ้นกับเด็กหลังเข้าโครงการ และยังส่งผลถึงผู้ปกครองอีกด้วย "แม่ที่เป็นวัยรุ่นจะติดเล่นไลน์ เล่นเฟสบุ้คก่อนหน้านี้ไม่เคยอ่านหนังสือให้ลูกฟังแต่พอเข้าโครงการนี้ แม่ก็จะมาเล่าให้ฟังว่าตัวเองเริ่มเห็นความสำคัญของการอ่านที่ช่วยพัฒนาสมองลูก ก็ลดการเล่นน้อยลงและหันมาอ่านนิทานให้ลูกฟังแล้ว ส่วนตายาย ที่อ่านไม่ออกครูก็แนะนำให้เล่าตามภาพแล้วครูจะมาช่วยเล่าเพิ่มที่โรงเรียนแต่อย่างน้อยตายายก็ได้สื่อสารกับหลานๆ" ทางด้านผู้ปกครอง นางเยาวลักษณ์ งามขำ หรือยายแมว ของน้องโมจิ - ด.ญ.พิมนภัทร พูลเกลี้ยง วัย 2 ขวบ 4 เดือน ที่เข้าร่วมโครงการฯ ตามข้อกำหนดถ้าให้หลานเข้าโครงการยายต้องมีส่วนร่วมด้วย ยายแมวเล่าให้ฟังว่าทางผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านเมืองแก หมู่ที่ 3 ได้มาประชาสัมพันธ์ให้เด็กอายุ 2 - 5 ขวบได้ร่วมโครงการรักการอ่าน ตนสนใจอยากให้หลานรักการอ่าน และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ป้องกันอนาคตที่หลานโตขึ้นอาจติดเกมเหมือนรุ่นพี่คนอื่นๆในชุมชนจึงเป็นเหตุผลที่พาหลานเข้าร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม น้องโมจิใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียนทุกวัน และวันเสาร์-อาทิตย์ ฟังพี่กันตะ เล่านิทานเรื่องโปรด 4 เรื่องให้ฟัง ได้แก่ น้องหมีสู้สู้, รถลาก,มดสิบตัว และนั่งกระโถนสิลูก แต่ละวันน้องโมจิจะเลือกเองว่าอยากให้พี่อ่านเรื่องไหนให้ฟัง และสนุกกับตอบคำถามพี่ๆ เช่น มดมีกี่ตัว การฟังนิทานทำให้น้องโมจิ ได้รู้จักมด หมี รถลากและการนั่งกระโถนแล้ว น้องโมจิยังเริ่มนับเลขเป็นอีกด้วย"พฤติกรรมน้องเปลี่ยนค่ะ เริ่มสนใจหนังสือ เห็นหนังสือจะหยิบมาดูภาพ และมีพัฒนาการด้านการสื่อสารเร็วขึ้น เวลายายถามโมจิก็จะตอบรู้เรื่อง" ยายบอกอย่างภูมิใจ และฝากกับทต.เมืองแกว่า โครงการนี้ผู้ปกครองให้ความสนใจอยากเข้าร่วมอีกเยอะ อยากให้ขยายจำนวนออกไปอีก สำหรับโครงการนี้ ทางทต.เมืองแกได้นำวิธีคิดวิธีการทำงานที่เข้าร่วมอบรมหลักสูตรนักถักทอชุมชนภายใต้ โครงการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (4ภาค) หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สนับสนับโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น (สพบ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย มาพัฒนาท้องถิ่นของตนเองอย่างต่อเนื่อง ปอเช่ หรือ นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดทต.เมืองแก ได้เล่าเพิ่มเติมว่าเดิมทต.เมืองแกได้ทำฐานเล่านิทานและฐานกอด ซึ่งมีผู้ปกครองเข้าร่วมแต่จุดอ่อนคือไม่มีเวลาอ่านหนังสือให้หลานฟังอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งไม่มีทักษะดึงดูดความสนใจลูกหลานและครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังมีเทคนิคด้านการสื่อสารไม่มากพอ จึงนำเรื่องนี้ไปหารืออาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ (ผอ.สรส.) ซึ่งอาจารย์ทรงพลได้แนะนำให้รู้จักกับอาจารย์ฉี (ธีรวงค์ ธนิษฐ์เวธน์) แห่งสมาคมไทสร้างสรรค์ ผู้มีประสบการณ์ในการสร้างนักอ่านมาหลายปี จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมาโดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นพันธมิตรร่วมด้วย กระบวนการคัดเลือกได้เข้าไปทดสอบเยาวชนทั้ง 11 ชุมชน มีนักอ่านเข้ามาทดสอบ 42 คน ผ่านทดสอบแค่ 9 คน เพราะมีความเข้มต้องเป็นเยาวชนในพื้นที่ สามารถร่วมโครงการได้ต่อเนื่อง 300 วัน และอ่านหนังสือได้ดี ตอนนี้เราจึงมีแกนนำเยาวชนจำนวน 9 คน ที่นำร่องเป็นพี่นักอ่านรับผิดชอบ 6 หมู่บ้านบ้านหนองคูน้อย ได้แก่ 1. เด็กหญิงเกวลิน จิตรโคตร (พลอย) 2.เด็กหญิงณัฐิญา กำจร(กอย)บ้านหนองม่วงได้แก่ นายธนภัทร สงนวน(กันตะ)บ้านเมืองแก 1..เด็กหญิง รัชนก ใจใหญ่ (พิมพ์) 2.เด็กชายสุทธิพงษ์ วนมา (ต้าร์)บ้านโนนกลาง ได้แก่ เด็กหญิงน้ำฝน บุญมี (น้ำ)บ้านหนองแวง 1.เด็กหญิงสุลีพร สาแก้ว(ติ้ว) 2.เด็กหญิงสโรชา บุญมี (จอย)บ้านสระบัว ได้แก่เด็กหญิง อรไพลิน สุขล้วน (เบียร์) ระยะเวลาดำเนินงาน มิถุนายน 2559 - พฤษภาคม 2560 "นี่คือการหนุนเสริมกันครับ ครูรับผิดชอบในการอ่านช่วงกลางวันที่โรงเรียน ช่วงเย็นพี่เยาวชนนักอ่านทำงานเติมเต็ม ผู้ปกครองร่วมช่วย เด็กในโครงการเกิดผลการเปลี่ยนแปลง วันนี้เป้าหมายที่เราจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ เด็กเล็กลูกหลานเราชาวเมืองแก พัฒนาการด้านภาษา ด้านสังคม เพื่อเป็นรากฐานให้กับการเรียนในระดับประถมศึกษาต่อไปในอนาคตนั่นเอง" นี่คือการมองเห็นศักยภาพของเยาวชน ที่เป็นพลังในการพัฒนาท้องถิ่น โดยผู้ใหญ่เปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้เยาวชนร่วมพัฒนาชุมชน เป็นตัวอย่างดีๆ ที่นำมาฝากกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ