ม.แม่โจ้ ร่วมกับ สวก.และ วช. เปิดตัว “ปทุมมาสายพันธุ์ใหม่: อนาคตตลาดส่งออกไม้ตัดดอกของไทย”

ข่าวทั่วไป Wednesday July 13, 2016 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ม.แม่โจ้ ร่วมกับ สวก.และ วช. เปิดตัว "ปทุมมาสายพันธุ์ใหม่: อนาคตตลาดส่งออกไม้ตัดดอกของไทย" เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ สร้างรายได้เข้าประเทศกว่าปีละ 200 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 สถาบันบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) และสำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ (วช) จัดสัมมนาเปิดตัวเทคโนโลยีปทุมมาสายพันธุ์ใหม่ ผลสำเร็จงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมศรี นนทสวัสดิ์ศรี และคณะ โดยมี นางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เป็นประธานในพิธี ณ ห้องประชุม 203 ชั้น 2 ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ นางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.และสำนักงานคณะกรรมวิจัยแห่งชาติ (วช) มีภารกิจหลักในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านเกษตร ทั้งงานวิจัยเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบาย ตลอดจนการผลักดันงานวิจัยเหล่านั้นไปสู่เชิงพาณิชย์ โดย สวก.ได้เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัยมุ่งเป้าจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ซึ่งปัจจุบันมีโครงการมุ่งเป้าเรื่องพืชสวนที่มีผลสำเร็จและมีความพร้อมที่สามารถนำไปผลักดันส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ดังนั้น การจัดสัมมนาเปิดตัว ผลสำเร็จงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โครงการพัฒนาปทุมมาลูกผสมข้ามชนิดเพื่อการค้าในครั้งนี้ จึงเป็นการประชาสัมพันธ์และเปิดตัวเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร และหาผู้ร่วมลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์อีกช่องทางหนึ่ง" ด้าน ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ ดร.เฉลิมศรี นนทสวัสดิ์ศรี อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า " ปทุมมา เป็นไม้ดอกเมืองร้อนที่มีมูลค่าส่งออกประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี โดยตลาดนำเข้าหลัก เช่น ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริการ เยอรมัน อิสราเอล อิตาลี จีน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้สนใจปรับปรุงพันธุ์ปทุมมาเพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด แต่ปัญหาที่พบคือ การผสมระหว่างปทุมมาด้วยกัน ทำให้ได้ลูกผสมที่มีความหลากหลายต่ำ จึงเกิดการขาดแคลนสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด แต่เราได้ศึกษาวิจัยแล้วพบว่า การผสมข้ามสายชนิดพืชในสกุลปทุมมากับกระเจียว โดยจุดเด่นของปทุมมาจะเลือกที่มีก้านยาวดอกใหญ่กลีบใหญ่ ผสมกับกระเจียวที่มีสีสันสดใส กลีบดอกหนา ทำให้ได้ลูกผสมที่แปลกใหม่ มีก้านยาว ช่อดอกโดดเด่นสวยงาม มีสีสันแปลกตา หลายเฉด หลายลักษณะ สามารถใช้เป็นพันธุ์การค้าได้ต่อไป ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีจุดเด่นคือ ลดขั้นตอนการเพาะเลี้ยง ลดต้นทุนในการจัดการ โดยขณะนี้สามารถผสมข้ามสายชนิดพืชในสกุลปทุมมากับกระเจียว สำเร็จแล้วกว่า 200 สายพันธุ์ ในครั้งนี้ จึงได้เปิดตัวสายพันธุ์ทั้งหมดและเชิญเกษตรกร รวมทั้งผู้ที่ส่งออกดอกปทุมมามาเพื่อร่วมกันคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการส่งออกประมาณ 10-20 สายพันธุ์เพื่อทำการขึ้นทะเบียนพันธุ์ใหม่สำหรับต่อยอดในการผลิตเพื่อส่งออก" สำหรับปทุมมาสายพันธุ์ใหม่ ที่ได้มีการเปิดตัวไปแล้ว อาทิ สายพันธุ์ แม่โจ้อิมเพรส (สีบานเย็น) ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ กลีบดอกสีสันสดใส กลีบหนา จำนวนกลีบมากกลับ ใบสมดุลย์กับดอกสามารถนำไปใช้เป็นไม้กระถาง และไม้ตัดดอก สายพันธุ์ แม่โจ้สวีท ( สีชมพูอ่อน) เป็นสีชมพูหวาน มีอายุการปักแจกันนานเหมาะสำหรับเป็นไม้ตัดดอก และสายพันธุ์ แม่โจ้อีลิท(ดอกลาย) ดอกมีสีสันสวยงาม แปลกตา กลีบดอกหนา จำนวนช่อดอกมาก แตกกอเก่ง เหมาะทั้งเป็นไม้กระถางและไม้ตัดดอก ท่านที่สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 0 5387 5635 หรือ ผศ.ดร.เฉลิมศรี นนทสวัสดิ์ศรี โทร. 081-8196901

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ