สหราชอาณาจักรและเยอรมนี ผนึกกำลังสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 15, 2016 09:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ การก่อสร้าง และความปลอดภัยทางปรมาณูของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUB) ร่วมกับกระทรวงพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหราชอาณาจักร (DECC) และ GIZ จัดพิธีเปิดตัวโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็น (RAC NAMA) เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็น โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนต่างประเทศ คือ NAMA Facility โดยกระทรวงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ สหราชอาณาจักรด้วยมูลค่า 14.7 ล้านยูโร (ประมาณ 560 ล้านบาท) โดยโครงการฯ จะให้ความร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงาน ฯพณฯ เพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดตัวโครงการว่า "ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็น ที่ประกอบไปด้วยผู้ประกอบการในประเทศและบริษัทข้ามชาติ ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือบริษัทในอุตสาหกรรมนี้จะต้องมีศักยภาพในการพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ หมายความว่าบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและสารทำความเย็นแบบธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะสามารถแข่งขันอยู่ในตลาดอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็นนี้ได้" "หลังจากที่ได้มีการเตรียมแผนการดำเนินงาน โครงการฯ ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการและจะดำเนินงานเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐ และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการฯ มีความมุ่งหวังที่จะต่อยอดความร่วมมือไปยังองค์กรต่างชาติ อาทิ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) และธนาคารโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขานี้อย่างยั่งยืน" ฯพณฯ เพเทอร์ พรือเกล กล่าวเสริม ด้านมร. พอล บิวท์ อัครราชทูต ณ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า "สหราชอาณาจักรมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพัฒนาระบบการทำงานในตลาดพลังงานให้มีประสิทธิภาพ ความมุ่งมั่นนี้ อาจเรียกได้ว่าถูกดำเนินงานในระดับชาติ เนื่องจากโครงการฯ กำลังคิดค้นหาวิธีการใช้พลังงานสุทธิให้เป็นศูนย์ในสหราชอาณาจักร และกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมเมืองเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำไปพร้อมกัน" "ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทย จะได้รับประโยชน์จากกองทุน NAMA Facility นี้ ซึ่งโครงการฯ จะเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนการผลิตและการใช้งานของระบบปรับอากาศและทำความเย็นของประเทศไทย ด้วยมาตรฐานและเทคโนโลยีใหม่ ที่สนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น" มร. พอล บิวท์ กล่าวเสริม มร.ทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการฯ ประจำ GIZ ประเทศไทย กล่าวว่า "แนวทางแรก โครงการ RAC NAMA มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคให้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงขึ้น โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงาน การติดฉลากสินค้าและการเพิ่มแรงจูงใจทางการเงินอื่นๆ ให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมุ่งเป้าการทำงานไปยังกลุ่มทุนผู้พัฒนาโครงการฯ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตและโรงแรม เป็นต้น โดยจะสนับสนุนให้พัฒนาโครงการและธุรกิจไปในทิศทางที่คำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและติดตั้งอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศและทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในส่วนแนวทางที่สองสำหรับบางผลิตภัณฑ์ เช่น ตู้เย็นและตู้แช่ซึ่งใช้เทคโนโลยีสารทำความเย็นที่มีค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP) ในระดับต่ำ และได้มีการวางขายในท้องตลาดอยู่แล้ว โครงการฯ มีเป้าหมายที่จะดำเนินมาตรการเพิ่มแรงจูงใจหรือกลไกทางการเงินให้แก่กลุ่มลูกค้าในประเทศ เพื่อกระตุ้นความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" "นอกจากนี้ โครงการฯ ยังจะสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยไปสู่การใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงการฯ จะดำเนินงานร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยและกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อให้มีความสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่ดีและเป็นมาตรฐานสากล ตลอดจนมีแผนงานส่งเสริมการฝึกอบรม เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็น ให้มีความสามารถและความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการมาตรการด้านความปลอดภัยของอุปกรณ์ที่ใช้สารทำความเย็นที่แตกต่างกัน" มร.ทิม มาเลอร์ กล่าวเสริม นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า "ที่ผ่านมาประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสหราชอาณาจักร ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน อันนำมาซึ่งความร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจและการค้า และยังมีความร่วมมือกันทางด้านวิชาการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินนโยบายของประเทศไทย โดยเฉพาะนโยบายด้านพลังงาน เป็นที่ทราบกันดีว่า กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2579 ที่มีมาตรการผสมผสานทั้งการบังคับ (Push) ควบคู่กับการจูงใจ (Pull) ด้วยมาตรการทางการเงินโดยการสนับสนุน ช่วยเหลือ อุดหนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีเป้าหมายระยะยาวของแผนอนุรักษ์พลังงานนี้ที่จะลดความเข้มการใช้พลังงาน (Energy Intensity: EI) ลงร้อยละ 30 ในปีพ.ศ. 2579 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2553" "การดำเนินโครงการนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยส่งเสริมด้านการพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างทักษะและสร้างกำลังคนด้านพลังงาน รวมไปถึงการสนับสนุนการรณรงค์สร้างจิตสำนึกใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานในประเทศ นอกจากนี้ โครงการฯจะเป็นประโยชน์ในด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และแนวทางการปฏิบัติที่ดี ที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ ไปประยุกต์ใช้และดำเนินมาตรการที่เหมาะกับบริบทของประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาต่อยอดมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำไปสู่การลดการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็น" นายธรรมยศ กล่าวเสริม ด้าน ดร. อัษฎาพร ไกรพานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "ประเทศไทยมีส่วนร่วมต่อการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ผ่านแผนแม่บทด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (INDC) โดยมีการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2573 เมื่อเทียบกับกรณีฐานปกติ และมีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 25 เมื่อได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศผ่านการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี การสร้างเสริมศักยภาพ และงบประมาณ" "และเนื่องด้วยปัจจุบัน อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทย มีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าปริมาณสูง ซึ่งส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีการคาดการณ์ว่า ในอุตสาหกรรมนี้จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าภายในปี พ.ศ. 2573 ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงตระหนักและให้ความสำคัญในการวางนโยบายและพัฒนาแผนแม่บทด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเข้าร่วมดำเนินงานในโครงการ RAC NAMA ด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนสนับสนุนและผลักดันให้อุตสาหกรรมระบบปรับอากาศและทำความเย็นของประเทศไทยสู่การแข่งขันในตลาดโลก"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ