CAC เผยจำนวนบริษัทร่วมประกาศเจตนารมณ์ต้านทุจริตทะลุ 700 ผ่านการรับรองอีก 18

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 28, 2016 13:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--IOD ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยว่า จำนวนบริษัทเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่รับ ไม่จ่าย ไม่ให้สินบนในการทำธุรกิจตามโครงการ CAC ในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น 703 บริษัท จาก 548 ในเดือนมกราคม ในขณะที่คณะกรรมการ CAC ได้มีมติให้การรับรองบริษัทที่ผ่านกระบวนการประเมินตนเองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดในไตรมาสนี้ 18 บริษัท ในจำนวน 703 บริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับโครงการ CAC เป็นบริษัทจดทะเบียนถึง 353 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าตลาด (Market Cap) คิดเป็นสัดส่วนถึง 77% ของมูลค่าตลาดรวมของหุ้นทั้งตลาด แสดงให้เห็นถึงความแข็งขันของธุรกิจขนาดใหญ่ในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศ ทั้งนี้ คณะกรรมการ CAC ได้กำหนดกรอบเวลาให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ต้องมีการดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือน และเมื่อผ่านการรับรองครบสามปีแล้วต้องยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification) โดยในคราวนี้มี 9 บริษัทที่ได้ผ่านการรับรองเป็นรอบที่สอง ในขณะที่มีบริษัทที่ผ่านการรับรองเป็นครั้งแรก 9 บริษัท ส่งผลให้จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองเพิ่มเป็น 177 บริษัท จาก 168 บริษัทในเดือนเมษายนที่ผ่านมา "จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC เติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีนี้ ก็คือการที่บริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC ได้ขยายเครือข่ายธุรกิจสะอาดไปยังบริษัทคู่ค้า อย่างเช่น กรณีของบริษัท สมบูรณ์แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ได้ต่อยอดเชิญชวนคู่ค้าในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC เพื่อให้ครอบคลุมตลอดกระบวนการผลิตได้เป็นผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม หากบริษัทอื่นๆ ในเครือข่าย CAC ร่วมทำหน้าที่เป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแข็งขันแบบเดียวกันนิ้ ก็จะช่วยให้เครือข่ายธุรกิจปลอดคอร์รัปชันของไทยขยายไปได้อย่างรวดเร็วมาก และครอบคลุมไปถึงธุรกิจในทุกแวดวงและทุกขนาด" ดร. บัณฑิต กล่าว CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC เป็น การแสดงเจตนารมณ์ร่วมต่อต้านคอร์รัปชันและการจ่ายสินบนของบริษัท ส่วนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC หมายถึงบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับโครงการ CAC และได้ผ่านกระบวนการประเมินตนเอง ที่มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ดังนั้น การรับรองโดยโครงการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบน ทั้งนี้ ไม่ได้รับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัท รายชื่อ 9 บริษัทที่ผ่านการรับรองในไตรมาสที่ 2/59 1) บริษัท ไดเมท (สยาม) จำกัด (มหาชน) 2) บริษัท ควอลลีเทค จำกัด (มหาชน) 3) บริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค จำกัด 4) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 5) บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) 6) บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) 7) บริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) 8) บริษัท ไทยสตีลเคเบิล จำกัด (มหาชน) 9) บริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด รายชื่อบริษัทบริษัทซึ่งยื่นขอรับรองใหม่ (Re-certification) และคณะกรรมการ CAC ให้การรับรองในไตรมาสที่ 2/59 1) บริษัท บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (จำกัด ) มหาชน 2) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 3) บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) 4) บริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 5) ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) 6) บริษัท หลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด 7) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด 8) บริษัท เคพีเอมจี สอบบัญชี จำกัด 9) บริษัท สำนักภาษี เคพีเอมจี จำกัด สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CAC และรายชื่อของบริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ และผ่านการรับรองได้จาก: http://www.thai-cac.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ