สศท.5 เปิดผลวิเคราะห์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.ชัยภูมิ แนะเกษตรรวมกลุ่มเพื่อลดต้นทุน

ข่าวทั่วไป Tuesday September 20, 2016 13:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลด้านอุปสงค์และอุปทานของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 ปี 2559 จังหวัดชัยภูมิ ระบุ ปี 2559 จะมีผลผลิตรวม 66,280.57 ตัน ช่วงระยะที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุด คือ เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม แนะ รวมกลุ่มเกษตรกร ผลิตในปริมาณที่ตลาดต้องการ แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ใช้เองเพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกร นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ข้อมูลด้านอุปสงค์และอุปทาน (Demand&Supply) ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 ปี 2559 ของจังหวัดชัยภูมิ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) พบว่า ด้านอุปทาน (Supply) สต็อกต้นปีของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 มีประมาณ 1,000 ตัน ซึ่งในปี 2559 คาดว่า จะมีผลผลิตภายในจังหวัด 58,752.51 ตัน และมีการนำเข้าผลผลิตจากจังหวัดใกล้เคียง 6,528.06 ตัน รวมผลผลิต 66,280.57 ตัน ซึ่งช่วงระยะที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากสุด คือ พฤศจิกายน - ธันวาคม 2559 ด้านอุปสงค์ คาดว่า จากผลผลิตมีประมาณ 66,280.57 ตัน จะมีการส่งออกผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปยังแหล่งรับซื้อรวมถึงโรงงานอาหารสัตว์ และโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการบริโภค 64,193.26 ตัน และเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยและกลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์ (โคนม ไก่พื้นเมือง และไก่ชน) เพื่อใช้ในจังหวัด จำนวน1,958.40 ตัน โดยแหล่งรับซื้อภายในจังหวัดชัยภูมิยังคงมีการชะลอการขายเพื่อเก็งราคา (สต็อกปลายปี) จำนวน 128.91 ตัน ช่องทางการส่งออกผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ของจังหวัดชัยภูมิ มี 3 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางที่ 1 เกษตรกรนำผลผลิตไปขายให้กับพ่อค้ารวบรวมในท้องถิ่น (ลานรับซื้อ) คิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ช่องทางที่ 2 เกษตรกรนำผลผลิตไปขายให้กับสหกรณ์การเกษตร คิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด และ ช่องทางที่ 3 เกษตรจะนำไปขายให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 31 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด จากผลการศึกษาในเรื่องของการกำหนดราคาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดราคา คือ โรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และโรงงานแปรรูปเพื่อการบริโภค ซึ่งในประเทศไทยมีไม่กี่บริษัท ดังนั้น ถ้าหากมีการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบของสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือพันธะสัญญา (Contract Farming) ในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปริมาณที่ตลาดต้องการ และสามารถสร้างอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการได้ รวมถึงการแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เพื่อใช้เองก็จะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกร และเป็นการเพิ่มอุปสงค์ภายในจังหวัดเพิ่มขึ้นซึ่งความต้องการรับซื้อผลผลิตก็จะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ