วว.จับมือ กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนพัฒนาธุรกิจในเชิงนวัตกรรม เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday September 20, 2016 17:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และกรมส่งเสริมการเกษตร ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การส่งเสริมการวิจัยและการนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจในเชิงนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไทย ภายใต้การสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ "ส่งเสริมเกษตรไทยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" เพื่อร่วมกันพัฒนาการเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับแผนการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบวิจัยแบบบูรณาการ และกรอบยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งผลักดันการวิจัยและนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ผ่านการส่งเสริมการเกษตร เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ สร้างงาน สร้างอาชีพ และมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ณ ห้องรวยเพชร โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร ขอบเขตของความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. เน้นการวิจัยแบบมีส่วนร่วมจากโจทย์ของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของสินค้าเกษตรไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผู้ประกอบการ บูรณาการการบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ การบริหารการผลิตและปรับปรุงกระบวนการผลิต 2. ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างองค์กรในการกำหนดแนวทางการพัฒนางานวิจัยให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการและตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3. การพัฒนาและยกระดับกิจกรรมกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายเข้าสู่ภาคธุรกิจ ภายใต้โครงการยกระดับ OTOP ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ จะขับเคลื่อนโดยคณะทำงานความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน เริ่มดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี และให้มีผลบังคับใช้ต่อไปอีกคราวละ 2 ปี ซึ่งปีแรกมุ่งเน้นการขยายผลงานวิจัย/เทคโนโลยีที่เหมาะสมสู่วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 5แห่ง และเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพสูงพอจะยกระดับการพัฒนากิจกรรมเข้าสู่ OTOP upgrade โดย วว.จะสนับสนุนงบประมาณในส่วนของกิจกรรมการขยายผลงานวิจัย ส่วนในปีงบประมาณต่อไปจะมีการขยายขอบเขตงานและกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ของกรมส่งเสริมการเกษตร เช่น วิสาหกิจชุมชน, กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร, Smart Farmer และ Young Smart Farmer เป็นต้น นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โครงการและกลุ่มเป้าหมายในปี พ.ศ. 2560 ที่จะมีการขยายผลงานวิจัย/เทคโนโลยีที่เหมาะสมสู่วิสาหกิจชุมชน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เครื่องแกงสำเร็จรูปบ้านหน้าควน วิสาหกิจชุมชนบ้านหน้าควน อำเภอควนเนียน จังหวัดสงขลา วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สร้างความหลากหลาย มีการยืดอายุผลิตภัณฑ์ให้จัดเก็บได้นานขึ้น วิเคราะห์โภชนาการของผลิตภัณฑ์เครื่องแกงสำเร็จรูป การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของตลาดปัจจุบัน รวมทั้งส่งเสริมการตลาด ขยายฐานลูกค้ารายใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร และ วว. สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 256,000 บาท 2) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ขนมถั่วตัดบ้านนาเวียง วิสาหกิจชุมชนบ้านนาเวียง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ถั่วตัด เพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ถั่วตัดให้จัดเก็บได้นาน การวิเคราะห์โภชนาการของผลิตภัณฑ์ถั่วตัด ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของตลาดปัจจุบัน รวมทั้งพัฒนาอุปกรณ์การผลิตที่ทันสมัย งบประมาณ 350,000 บาท 3) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ครีมพอกหน้า/สครับขัดผิวดอยห่มจักรวาล วิสาหกิจชุมชนดอยห่มจักรวาล แม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดปัจจุบัน งบประมาณ 350,000 บาท 4) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์น้ำลูกหม่อนบ้านปลายคลอง วิสาหกิจชุมชนแปรรูปบ้านปลายคลอง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย ยืดอายุจัดเก็บได้นานขึ้น การวิเคราะห์โภชนาการของผลิตภัณฑ์น้ำลูกหม่อน การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของตลาดปัจจุบัน โครงการนี้ยังไม่ได้กำหนดงบประมาณ เนื่องจากกลุ่มได้รับการพัฒนาจาก วว.แล้ว และ 5) โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์น้ำลองกองปาดังเบซาร์ วิสาหกิจชุมชนผลิตลองกองปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อทราบความรู้เรื่องการผลิตลองกองคุณภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากลองกอง การวิเคราะห์โภชนาการของผลิตภัณฑ์ลองกอง และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของตลาดปัจจุบัน งบประมาณ 300,000 บาท นางฉันทรา พูนศิริ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า วว.ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา อาทิ ด้านการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ อาหารแปรรูป เวชสำอาง การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐานและการบริการ วิเคราะห์ทดสอบต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ให้สามารถประกอบธุรกิจ สร้างรายได้ เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่าง วว.และ กรมส่งเสริมการเกษตรในครั้งนี้ จะสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาสินค้าในเชิงนวัตกรรม และยกระดับมาตรฐานคุณภาพของสินค้าและบริการด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ