ไทยคว้าแชมป์ ASEAN Energy Awards 2016 รัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ประชุม “เนปิดอว์” หนุนพลังงานสีเขียว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2016 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--Triple J Communication วันนี้ (21ก.ย.59) พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา ว่า สำหรับวาระการประชุมสำคัญในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก ก้าวสู่สังคมสีเขียวด้วยพลังงานสะอาด (Towards Greener Community with Cleaner Energy) ซึ่งทุกประเทศสมาชิกอาเซียนได้มุ่งมั่นที่จะดำเนินการภายใต้มาตรการต่างๆ ตามแผนปฏิบัติการพลังงานอาเซียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งในด้านความมั่นคงทางพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมาตรการสำคัญที่จะดำเนินการ อาทิ การขยายการเชื่อมโยงด้านพลังงานไฟฟ้าภายในภูมิภาค การส่งเสริมให้มีระบบบริหารการจัดการ พลังงานที่ดี และสนับสนุนให้มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน รวมถึงการผลักดันมาตรการหรือกลไกที่จะช่วยส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงการด้านพลังงานสีเขียว (Green Energy) และพลังงานสะอาด (Clean Energy) เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย และนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภูมิภาคอาเซียนในเวทีโลก ตลอดจนสอดรับกับเจตนารมณ์ที่จะทำให้เกิดการลดผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีต้นเหตุจากภาคพลังงานอีกทางหนึ่งด้วย ภายหลังการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ยังมีการประกาศผลรางวัล ASEAN Energy Awards 2016 รางวัลเกียรติยศด้านพลังงานระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อเชิดชูเกียรติและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในกลุ่มผู้ประกอบการของประเทศสมาชิก โดยปีนี้ตัวแทนผู้เข้าประกวดจากประเทศไทยสามารถคว้ารางวัลมาครองได้สูงสุดถึง 16 รางวัล จากทั้งหมด 47 รางวัล สูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน พลเอก อนันตพร กล่าวต่อว่า การพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทย ณ วันนี้ นับว่ามีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558–2579 ซึ่งกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน เป็นร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี2579 และแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558–2579 ที่ตั้งเป้าหมายในการลดสัดส่วนการใช้พลังงานต่อ GDP ของประเทศ (Energy Intensity) อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2579 เช่นเดียวกัน ซึ่งการกำหนดแผนดังกล่าวเป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และหนึ่งในมาตรการต่างๆ ที่ออกมากระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเกิดการลดใช้พลังงานโดยวิธีการสมัครใจ คือ การจัดประกวดสุดยอดรางวัลด้านพลังงานไทยระดับสากล Thailand Energy Awards ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความคิดริเริ่มของผู้ประกอบการไทยทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานรูปแบบต่างๆ อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จต่อการเข้าร่วมการประกวด ASEAN Energy Awards มาอย่างต่อเนื่อง นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จในเวที ASEAN Energy Awards ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาตั้งแต่ปี 2535 ส่งผลให้ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้พลังงานในระดับที่มีการใช้พลังงานสูงๆ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้การใช้พลังงานของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามแผนและกรอบนโยบาย โดยมาตรการต่างๆ อาทิ การบังคับใช้มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงานในโรงงาน/อาคารควบคุม การกำหนดมาตรฐานของอาคารที่จะก่อสร้างใหม่ให้มีการออกแบบที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ กำหนดมาตรฐานและติดฉลากอุปกรณ์ เครื่องจักร และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มาตรการทางการเงิน มาตรการส่งเสริมการใช้แสงสว่างเพื่ออนุรักษ์พลังงาน และมาตรการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง สำหรับนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ได้กำหนดแผนการดำเนินงานและเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนที่ชัดเจนขึ้น ทั้งในรูปแบบไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ อาทิ การส่งเสริม สนับสนุนการจัดการขยะโดยแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF, สนับสนุนการนำน้ำเสีย/ของเสียมาผลิตก๊าซชีวภาพใช้เองหรือจำหน่าย ทั้งนี้เพื่อให้การประหยัดพลังงานเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาพลังงานของประเทศ และสอดคล้องกับกรอบนโยบาย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน สำหรับตัวอย่างผู้ประกอบการไทยที่มีผลงานโดดเด่น และสามารถนำไปเผยแพร่ขยายผลให้กับผู้อื่นได้ อาทิ โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพโชควัลลภา 2.8 เมกะวัตต์ ของ บริษัท ไทย ไบโอแก๊ซ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยมีแนวคิดในการนำน้ำเสียมาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่ กฟภ. ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้แล้ว ยังเป็นการนำน้ำเสียมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยสร้างรายได้แก่โรงงานอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพสามารถนำไปใช้งานได้กับหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมผลิตแป้งมัน ปศุสัตว์ อุตสาหกรรมผลิตเอทานอล อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันปาล์ม เป็นต้น ด้านโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อใช้ในการอบยางแท่งทดแทนเชื้อเพลิง LPG ของ บริษัท ไทยอีสเทิร์น ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด ดำเนินการบำบัดน้ำเสียดังกล่าวให้มีคุณภาพเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ช่วยลดปัญหากลิ่นรบกวนและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เลือกใช้ระบบบำบัดน้ำเสียที่สามารถผลิตก๊าซชีวภาพนำกลับมาใช้ประโยชน์ทั้งในรูปของพลังงานความร้อน ความเย็น และกระแสไฟฟ้า ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงได้ส่วนหนึ่ง โดยสามารถนำไปประยุกต์ดำเนินการได้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีน้ำเสียจากกระบวนการผลิตได้เกือบทุกประเภท นับเป็นตัวอย่างหนึ่งตัวอย่างที่ดีในการนำน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตมาใช้ประโยชน์ ทั้ง 2 หน่วยงาน เป็นตัวอย่างความสำเร็จเพียงส่วนหนึ่งของ 16 รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของประเทศไทยจากเวที ASEAN Energy Award 2016 ที่ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการใช้พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างพลังงานทดแทนใช้ภายในโรงงาน จนสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานให้กับผู้ประกอบการ นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพให้กับกิจการในการแข่งขันธุรกิจ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม อีกทั้งยังเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัลในประเภทบุคคลพลังงานดีเด่นให้กับผู้ที่มีบทบาทสำคัญด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน โดยบุคคลากรจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ได้แก่ นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายสุริยันต์ อภิรักษ์สัตยากุล รองอธิบดี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นางอัมราพร อัชวังกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ