กระทรวงแรงงานรุดให้ความช่วยเหลือลูกจ้างและตรวจสอบด้านความปลอดภัยกรณีสารแอมโมเนียรั่ว

ข่าวทั่วไป Monday October 31, 2016 11:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รุดเข้าเยี่ยมลูกจ้างที่ได้สัมผัสสารแอมโมเนียจากการรั่วไหลของโรงงานผลิตอาหารไก่ปรุงสำเร็จแช่แข็ง เบื้องต้นมีลูกจ้าง 51 ราย มีการระคายเคืองตา และจมูกเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พร้อมส่งพนักงานตรวจความปลอดภัยเข้าตรวจสอบการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของสถานประกอบกิจการ นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึง กรณีเกิดเหตุสารแอมโมเนียรั่ว ที่บริษัท อินเตอร์เซีย จำกัด ที่ตั้งเลขที่ 153/3 หมู่ 4 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร วันที่ 29 ตุลาคม 2559 เวลา 9.30 น. ที่ผ่านมานั้น จากการตรวจสอบของพนักงานตรวจความปลอดภัย ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) พบว่าสถานประกอบกิจการดังกล่าว ประกอบกิจการ ผลิตอาหารประเภท ไก่ปรุงสำเร็จแช่แข็ง มีลูกจ้างจำนวน 708 คน เป็นสัญชาติเมียนม่า 500 คน ในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีช่างซ่อมบำรุงทำงานบริเวณ อาคารเครื่องทำความเย็น ทำการเปิดวาล์วเพื่อแดรนน้ำมันที่เครื่อง อินเตอร์ คลู ปรากฎว่าปิดวาล์วไม่สนิทมีสารแอมโมเนียรั่วไหลปะปนออกมา เมื่อเวลา 9.30 น. และในเวลา 9.40 น. สามารถปิดวาล์วได้ ขณะที่เกิดการรั่วไหลของแอมโมเนีย ขณะเกิดการรั่วไหลของสารแอมโมเนียมีลูกจ้างอยู่ทำงานอยู่ในไลน์ผลิตประมาณ 300 คน ได้มีการอพยพลูกจ้างตามแผน ฉุกเฉิน แต่ก็มีลูกจ้างได้สัมผัสสารแอมโมเนียและมีการระคายเคืองตา และจมูกจำนวน 51 ราย โดยถูกนำส่งโรงพยาบาล ดังนี้ 1.) โรงพยาบาลมหาชัย1 จำนวน 1 คน 2.) โรงพยาบาลสมุทรสาคร จำนวน 20 คน 3.)โรงพยาบาลวิชัยเวช จำนวน 27 คน 4.) โรงพยาบาลเอกชัย จำนวน 4 คน อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นได้ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย ศูนย์ความปลอดภัยแรงงานเขตพื้นที่ 7 เข้าเยี่ยมคนเจ็บและสอบถามข้อมูลที่โรงพยาบาล พร้อมทั้งได้ประสานสำนักงานประกันสังคม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้เข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือลูกจ้างจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน และพนักงานตรวจความปลอดภัยจะเข้าไปตรวจสอบว่าสถานประกอบกิจการดังกล่าวได้ปฏิบัติตาม กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 แล้วหรือไม่ มีมาตรการดำเนินการป้องกันเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย อาทิเช่น ต้องมีการแจ้งให้ กสร. ทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีสารเคมีอันตรายอยู่ในครอบครอง ต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมลูกจ้างให้ปฏิบัติตามวิธีการที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายทราบและเข้าใจ วิธีการในการทำงานที่ถูกต้องและปลอดภัย ต้องประเมินความเสี่ยงและจัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยง เป็นต้น และเมื่อเกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้ต้องมีการรายงานทันที รวมทั้งสอบสวนวิเคราะห์และรายงานให้ กสร.ทราบภายใน 7 วัน หากตรวจสอบแล้วนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกินสี่แสนบาท.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ