ข้อมูลประกอบการบรรยาย เรื่อง "วิถีไทยในโลกาภิวัฒน์"

ข่าวทั่วไป Thursday June 7, 2001 14:44 —ThaiPR.net

ข้อมูลประกอบการบรรยาย
เรื่อง "วิถีไทยในโลกาภิวัฒน์"
โดย รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ (น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร)
วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2544
------------------------
1. โลกาภิวัตน์ (Globalization) : การเปลี่ยนแปลงของโลก
ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และหยุดยั้งไม่ได้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านทั้งการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ การค้า และสังคม
- เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในปี 1980 การยุติของยุคสงความเย็นสู่โลกการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
จากการล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น สังคมโลกได้ก้าวสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่า "ยุคหลังสงครามเย็น" จากการเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างค่ายที่มีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน คือ ค่ายทุนนิยมเสรีนิยม กับค่ายคอมมิวนิสต์ ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นการแข่งขันในทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ
- 1986 การเปิดเสรีทางการค้าขยายตัวมากขึ้นในทุกด้าน
กระแสการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศส่งผลต่อการขยายตัวของการเปิดเสรีทั้งในด้านการค้า การลงทุน การบริการ และการเคลื่อนย้ายบุคคล ตลอดจนการติดต่อสื่อสารที่มีการเชื่อมโยงไปสู่ทุกจุดในทุกภูมิภาคของโลก นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์มิได้จำกัดเพียงในส่วนของการค้าสินค้าที่จับต้องได้ เช่น สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม เท่านั้น แต่ยังได้ครอบคลุมไปถึงการค้าสินค้าที่จับต้องไม่ได้ อันได้แก่ การค้าบริการ และการค้าในสิทธิทางปัญญา จากกระแสการแข่งขันที่ขยายตัวในทุกด้านก่อให้เกิดองค์กรขึ้นมาดูแล และวางกฎ กติกาให้การค้าเป็นไปโดยเสรีและมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเทศเล็ก ๆ ที่ขาดอำนาจต่อสู้กับประเทศใหญ่ ๆ นั้นคือ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า WTO เป็นองค์กรที่มาคอยกำหนดให้ไทยต้องเปิดเสรี แต่โดยแท้จริงแล้ว WTO เป็นองค์กรที่สมาชิกกว่า 140 ประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาเพื่อกำหนดกติกาการค้าระหว่างประเทศที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือใหญ่ โดยประเทศเล็กจะได้แต้มต่อในการเจรจาหรือในการปฏิบัติตามกติกานั้น ๆ นอกจากกำหนดกฎเกณฑ์แล้วก็จะมีการเจรจาลดอุปสรรคเป็นรอบ ๆ เพื่อให้ตลาดของทุกประเทศเปิดกว้างเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าไปแข่งขันได้
- 1990 เป็นต้นมา เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
การเปิดตลาดการค้าขององค์การการค้าโลกก่อให้เกิดกระแสการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก เช่น ในยุโรป-มีการรวมตัวเป็นยุโรปเดียว ASEAN- ตกลงสร้างเขตการค้าเสรี AFTA, APEC- เกิดการรวมตัวของ 15 ประเทศในปี 1992 ต่อมาขยายเป็น 21 ประเทศ NAFTA- เกิดการรวมตัวของประเทศในกลุ่มอเมริกาเหนือ เป็นต้น ทำให้การแข่งขันเข้มข้นมากขึ้นเพราะสินค้าสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็วและไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดนประกอบกับเทคโนโลยีสารสนเทศ อายุของสินค้าที่ผลิตออกขายแต่ละรุ่นจะสั้นลงด้วยความก้าวหน้าของนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ทำให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นสินค้าใหม่ ๆ หลั่งไหลสู่ตลาดมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคและการช่วงชิงตลาด สินค้าจะมีราคาถูกลง ขณะที่คุณภาพจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
- การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รอบด้านเหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ ในโลกจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทยก็จำต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น รวมทั้งภาครัฐเองก็จำต้องมีบทบาทอย่างเข้มแข็งทั้งในเวทีเจรจาระหว่างประเทศ และในการเตรียมความพร้อมให้กับเอกชน
- บทบาทของภาครัฐ
- กำหนดทิศทางและนโยบายการค้าระหว่างประเทศอย่างชัดเจน
- เข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า ซึ่งต้องทำทั้งในระดับการเจรจาสองฝ่าย ระดับภูมิภาคและหลายฝ่าย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่ถูกกันให้ตกขอบไปจากเวทีการค้าโลก
- จัดโครงสร้างพื้นฐานให้กับเอกชนเพื่อสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
- บทบาทของภาคเอกชน
- รู้เท่าทันและตามให้ทัน
- ตลาดเป็นเส้นทางใน cyber space มิใช่เส้นทางสายไหม
การดำเนินการค้าจะแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คือ เน้นความไวของการจัดระบบการผลิต การตลาด การขาย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายน้อยลง โดยอาศัยเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารเชื่อมโยงเข้าด้วยกันจนกลายเป็นระบบ E-Commerce ที่ดำเนินการผ่านเครือข่าย Internet ซึ่งเชื่อมโยงไปทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้ Internet ทั่วโลกประมาณ 200 ล้านคน ใน 160 ประเทศ
- ทุกเรื่องจะเกี่ยวข้องกับการค้า
ในขณะที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เจริญไปอย่างไม่หยุดยั้ง กระแสของความห่วงใยในคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน มนุษย์เริ่มหันไปหาธรรมชาติมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากความนิยมในพืช ผัก และอาหารปลอดสารพิษ สินค้าปลอด GMOs การผลิตสินค้าต้องไม่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าปลาทูน่าที่ส่งเข้าสหรัฐฯ ต้องติดฉลาก "dolphin safe" สหภาพยุโรปให้ความสำคัญในเรื่องสุขอนามัย โดยจะมีการประกาศใช้นโยบายความปลอดภัยของอาหารตาม White Paper on Food Safety ดังนั้นทุกเรื่องจะถูกนำมาเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ
- โลกาภิวัตน์นำไปสู่การขยายตัวของ "มาตรฐานโลก (Global Standard)"
การขยายตัวของการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าโลก ตลอดจนการเปิดเสรีที่ขยายตัวครอบคลุมในทุกด้าน และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ในอนาคตสินค้าและบริการสามารถเคลื่อนย้ายไปได้ทั่วโลกได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น ประกอบกับกระแสความห่วงใยในคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น แนวโน้มความต้องการสินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งมาตรฐานของตัวสินค้าและมาตรฐานของระบบการจัดการจึงขยายตัวมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเกิดระบบมาตรฐาน ISO ขึ้น เช่น ISO 9002 ISO 14000 เป็นต้น เพราะฉะนั้นการผลิตสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกจำเป็นต้องผลิตให้ได้ตามมาตรฐานโลก
2. ผลกระทบของ Golbalization ต่อธุรกิจ SMEs
- การขยายตัวของการแข่งขันของธุรกิจที่ไร้พรมแดน อันเป็นผลจากการเปิดเสรีทั้งในกรอบของ WTO และกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ ตลอดจนการขยายตัวของธุรกิจภายในประเทศเอง ล้วนมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งด้านบวกและด้านลบ
ผลด้านบวก
1) ตลาดเปิดกว้างมากขึ้น อุปสรรคต่าง ๆ หมดไป ทั้งอุปสรรคทางด้านกำแพงภาษีและกฎระเบียบต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งสินค้าไปขายได้ทั่วโลก
2) เพิ่มโอกาสการพัฒนาการผลิตให้มีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง (Economy of Scale) กระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้เงินทุน วัตถุดิบ และเทคโนโลยี สามารถเคลื่อนย้ายได้ทั่วโลกได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถระดมทุนได้อย่างง่ายดายจากตลาดหลักทรัพย์และแหล่งเงินจากต่างประเทศ ซึ่งการได้มาซึ่งเงินทุนทำให้มีโอกาสแสวงหาวัตถุดิบคุณภาพดี และราคาถูก เทคโนโลยีสมัยใหม่ และบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามาทำงาน ทำให้เกิดการผลิตที่มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง เป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก
3) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ผู้ประกอบการสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วและทั่วถึงในระยะเวลาอันสั้น เป็นการประหยัดทั้งต้นทุน เวลา และทรัพยากรมนุษย์
ผลด้านลบ
1) การแข่งขันรุนแรงมากขึ้นและเกิดการขยายตัวของคู่แข่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะตลาดภายในประเทศ จะมีสินค้าและบริการจากต่างประเทศเข้ามาขายแข่งขันมากขึ้น รวมทั้งการแข่งขันในตลาดต่างประเทศก็จะทวีความรุนแรงขึ้น
2) ผู้ประกอบการที่ปรับตัวเข้าแข่งขันไม่ได้ ต้องล้มหายตายจากไปจากระบบ
3. แนวทางการปรับตัวของธุรกิจ SMEs
- โลกแห่งการแข่งขันที่เปิดกว้างไร้พรมแดนกำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศที่นับวันจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ความอยู่รอดของธุรกิจจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงได้เท่านั้น ซึ่งในการปรับตัวดังกล่าวมีแนวทางการดำเนินการดังนี้
3.1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต นั้นคือ การผลิตที่ต้นทุนต่อหน่วยต่ำและคุณภาพเยี่ยม ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายได้ต้องมีการปรับโครงสร้างของธุรกิจ ทั้งนี้การปรับโครงสร้างจะต้องดำเนินการปรับทั้งโครงสร้างภายในและโครงสร้างภายนอก เรียกย่อ ๆ ว่ามาตรการ 3 S ได้แก่
การปรับโครงสร้างภายใน
(1) Standard การพัฒนาประสิทธิภาพบนพื้นฐานของมาตรฐานสากล ธุรกิจทุกแขนงกำลังเข้าสู่สภาวะการแข่งขันที่ไม่สามารถจะแยกแยะคู่แข่งที่เป็นสากลกับคู่แข่งภายในประเทศได้ เพราะต่างก็เข้ามาแข่งในตลาดเดียวกัน เช่น ร้านขายของชำต้องแข่งกับมาตรฐานสากลของเซเว่นอีเลฟเว่น หรือเอเอ็มพีเอ็ม เป็นต้น ความอยู่รอดของธุรกิจจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารและการผลิตด้วยมาตรฐานสากล
(2) Skill management การบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ การแข่งขันของธุรกิจยุคใหม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาต้นทุนทางการเงินให้ถูกที่สุด และมีความเสี่ยงต่ำ การพัฒนาบุคลากร การทำการค้นคว้าวิจัย จึงเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ การรู้จักเตรียมการนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระดมทุนจากการเปิดเสรีทางการเงินของโลก จะทำให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น
การปรับโครงสร้างภายนอก
(3) การหา strategic partners คือการดำเนินมาตรการขยายขนาดของธุรกิจเพื่อให้
มีความเหมาะสมที่สุด มีแนวทางดำเนินการหลายประการ ดังนี้
- การขยายเครือข่าย (Networking) การแข่งขันในโลกเสรีที่เปิดกว้างผลกำไรของธุรกิจนับวันจะลดลงตลอด ดังนั้น เพื่อชดเชยการหดตัวของกำไรจำเป็นต้องสร้างปริมาณการขายเพิ่มขึ้นด้วยการขยายสาขาไปทั่วประเทศ และการขยายเครือข่ายที่สามารถทำได้รวดเร็วและใช้เงินทุนต่ำ คือ การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะช่วยขยายตลาดการค้าแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างอำนาจต่อรองกับคู่แข่งขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติได้
- การควบหรือครอบกิจการธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองกับธุรกิจอีกทางหนึ่ง
- การขยายธุรกิจในลักษณะครบวงจร ธุรกิจอาจขยายไปสู่กิจการต่อเนื่องทั้งที่อยู่ข้างหน้าหรือข้างหลัง เช่น ธุรกิจหนังสือพิมพ์ (เดอะเนชั่น วัฎจักร) ขยายไปสู่ธุรกิจมัลติมีเดีย ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ตลอดจนการจัดจำหน่ายแบบขายปลีกและขายส่ง เป็นต้น
3.2 ผู้ประกอบการต้องมีวิญญาณของการเรียนรู้ และวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล
ผู้ประกอบการจะต้องตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก แม้ว่าจะเป็นธุรกิจเล็ก ๆ นักธุรกิจก็จะต้องพัฒนาตนเองให้ก้าวทันโลก จึงจะสามารถอยู่รอดได้ การปรับเปลี่ยนดังกล่าวต้องปรับเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิด ต้องมองออกไปข้างนอก อย่ามองคู่แข่งขันที่ใกล้ตัว
อีกทั้ง ผู้ประกอบการต้องมีความตื่นตัวและติดตามความเคลื่อนไหวของทิศทางการค้าโลกอยู่เสมอ ซึ่งการเปิดเสรีการค้าของโลกทำให้มีกฎ ระเบียบ ทางการค้าใหม่ ๆ ออกมาอยู่เสมอ เช่น สหภาพยุโรปจะออกกกฎหมายว่าด้วยเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายว่าด้วยการห้ามใช้สารอันตรายบางชนิดในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยของอาหาร การกำหนดให้ติดฉลากสินค้า GMOs การติดฉลาก eco-labelling ในสินค้าสิ่งทอ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องปรับปรุงการผลิตสินค้าและบริการให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือกฎระเบียบของผู้นำเข้าอยู่ตลอดเวลา
3.3 IT เทคโนโลยีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า เศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy ซึ่งหมายถึงการก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีการกระจายเสียงและภาพ ผสมผสานเข้าด้วยกันและนำไปประยุกต์ใช้ในกิจการต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการเกิดระบบ E-Commerce ในโลกการค้าที่ทำให้สินค้าสามารถส่งขายไปได้ทั่วโลกในเวลาที่รวดเร็ว และตลอด 24 ชั่วโมง และนั่นคือ กำแพงการค้าชนิดใหม่ที่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกวงการจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ถ้าไม่ปรับธุรกิจของตนให้เข้าสมัย
4. มาตรการช่วยเหลือ SMEs ของรัฐ
- การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SME นั้น เป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของรัฐบาล เนื่องจาก SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนสูงสุดของประเทศ และเป็นตัวจักรขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากทางการ เพื่อให้การพัฒนามีรากฐานที่มั่นคงอันจะส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศมีความเข้มแข็งทั้งระบบในอนาคต โดยมีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น
- มาตรการช่วยเหลือ SMEs ของรัฐ มีดังนี้
4.1 สร้างกลไกและระบบส่งเสริมระยะยาว
ออก พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 (18 กุมภาพันธ์ 2543) โดยมีองค์กรกำหนดนโยบาย คือ คณะกรรมการส่งเสริม SMEs มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่จัดทำแผนแม่บทพัฒนา SMEs และจัดตั้งกองทุนสนับสนุน SMEs เป็นกองทุนเชิงนโยบายสนับสนุนการใช้จ่ายในเรื่องการส่งเสริมพัฒนา SMEs
4.2 สนับสนุนทางการเงินเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดสภาพคล่อง
(1) อนุมัติวงเงินสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินพิเศษภายใต้กำกับของรัฐ ประกอบด้วย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บนย.) ดังนี้
- ปี 2542 วงเงินสินเชื่อ 35,000 ล้านบาท และวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 500 ล้านบาท
- ปี 2543 วงเงินสินเชื่อ 46,300 ล้านบาท และวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 4,000 ล้านบาท
- ปี 2544 วงเงินสินเชื่อ 52,100 ล้านบาท
(2) สนับสนุนวงเงินสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ ประกอบด้วยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับปี 2542-2543 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับปี 2543-2544 ธนาคารกสิกรไทย วงเงิน 41,000 ล้านบาท สำหรับปี 2543-2544 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 5,000 ล้านบาท ในปี 2543-2544 และ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับปี 2544-2545
(3) เพิ่มทุนบอย. จำนวน 2,500 ล้านบาท ในปี 2542-2543 และ 5,000 ล้านบาท ในปี 2546 เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการแก่กิจการได้มากขึ้น
(4) เพิ่มทุน บสย. จำนวน 5,000 ล้านบาท ในปี 2542-2543 และ 6,000 ล้านบาท ในปี 2546 และขยายการให้บริการมากขึ้น
(5) จัดตั้งกองทุนเพื่อร่วมทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Venture Capital Fund) วงเงิน 1,000 ล้านบาท ตั้งเป็นกองทุนปิด อายุ 10 ปี เพื่อร่วมลงทุนในกิจการ SMEs ที่มีศักยภาพสูง และถอนตัวเมื่อเวลาเหมาะสมโดยขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับ SMEs (Market for Alternative Investment; MAI) หรือขายคืนเจ้าของ โดยมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทุน
4.3 การเพิ่มขีดความสามารถให้ SMEs ปรับตัวรับกระแสเศรษฐกิจเสรี
(1) จัดตั้งสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เป็นสถาบันอิสระเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ที่ดำเนินการอยู่แล้ว และกิจการที่มีศักยภาพโดยผ่านการฝึกอบรมเรียนรู้ผ่านเครือข่ายสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
(2) โครงการพัฒนา SMEs ตามแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม แบ่งเป็นสองระยะ คือ ระยะที่ 1 ระหว่าง ปี 2542 - 2543 มี 11 โครงการ อาทิ ปรับปรุงกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น ระยะที่ 2 ปี 2543-2547 รวม 10 โครงการ อาทิ โครงการกระจายข้อมูลเพื่อการลงทุนและการค้าใน SMEs ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงการถ่ายทอดวิทยาการการออกแบบ เป็นต้น
(3) โครงการนิคมอุตสาหกรรม SMEs เป็นการพัฒนาพื้นที่ตั้งของกิจการการผลิต การค้า และการบริการ SMEs ให้มีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ ให้ผู้ประกอบการ SMEs เช่า เช่าซื้อ หรือซื้อ โดยเน้นอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ไม้ เครื่องเรือน ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
(4) จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และประชาชน (ศงป.) กระจายอยู่ทั่วประเทศ 40 ศูนย์ มีกำหนดเวลาการปฏิบัติงาน 4 ปี รัฐบาลอนุมัติเงินสนับสนุนในการจัดตั้ง 300 ล้านบาท ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องการเงินที่เกี่ยวกับการหาแหล่งเงินทุนและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ SMEs เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2542
5. บทบาทของสตรีในธุรกิจ SMEs
- ปัจจุบัน สถานะของสตรีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากอดีตที่เป็นแม่บ้านมีหน้าที่ดูแลครอบครัว การศึกษามีน้อย แต่ปัจจุบัน สตรีมีบทบาทนำในสังคมหลายสาขา และสตรีได้ก้าวมาเป็นผู้นำระดับประเทศได้เช่นเดียวกับชาย เช่น เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการและบริษัทธุรกิจชั้นนำต่างๆ
ในธุรกิจ SMEs ของไทยก็มีสตรีเป็นผู้บริหารถึงกว่า 80% แม้แต่กลุ่มแม่บ้านในต่างจังหวัดก็มีบทบาทอย่างมาก สามารถรวมกลุ่มกันสร้างธุรกิจของชุมชนขึ้นมาได้ สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้โอกาสผู้หญิง ไม่มีการกดขี่หรือกีดกัน ในเวทีการหารืออย่างเอเปคมีสมาชิกบางประเทศเสนอให้มีการเพิ่มบทบาทผู้หญิงในการทำธุรกิจ เพราะถูกกีดกันอย่างมาก แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีในสังคมของเรา
- ในโลกธุรกิจจะไม่มีการแบ่งเพศว่าชายหรือหญิง ทุกธุรกิจเสมอภาคกัน ต้องต่อสู้แข่งขันกันด้วยชั้นเชิงทางธุรกิจและความสามารถในการบริหาร โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบกับการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและทันโลก ในทัศนะของดิฉัน สตรีไทยจะเป็นตัวจักรสำคัญของประเทศที่จะต่อสู้กับการแข่งขันในโลกการค้าเสรีต่อไป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ โทร. 281-9723, 282-6171-9 : 1176-7 โทรสาร. 82-6623--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ