ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ตอนที่ 6 แหล่งข้อมูล EIU

ข่าวทั่วไป Monday January 23, 2017 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) จะประกาศค่าคะแนน Corruption Perceptions Index (CPI) ของปี 2559 ในวันพุธที่ 25 มกราคม 2560 นี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ค่าคะแนน CPI ที่วัดดัชนีการรับรู้การทุจริตประเทศไทย โดย TI อาศัยข้อมูลจาก 8 แหล่งข้อมูล และในตอนที่ 6 นี้ จะพูดถึงแหล่งข้อมูล EIU Economist Intelligence Unit (EIU) เป็นแผนกหนึ่งใน Economist Group ซึ่งเป็นบริษัทลูก ของหนังสือพิมพ์ Economist Newspaper ที่คอยให้ความช่วยเหลือข้อมูลด้านธุรกิจ การเงิน และรัฐบาลในการรับรู้ถึง การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการสร้างโอกาสและความสามารถในการแข่งขัน และจัดการกับความเสี่ยง แก่ลูกค้าถึง 25 ภาษา ผ่านสำนักงาน 24 สาขาทั่วโลก โดย EIU เป็นองค์กรวิเคราะห์ข้อมูลที่มีการแสวงหาผลกำไร เชิงธุรกิจ ไม่ได้เผยแพร่เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ TI ได้นำข้อมูลจาก EIU ซึ่งเป็น 1 ใน 8 แหล่งข้อมูลมาใช้เป็นองค์ประกอบ ในการวิเคราะห์และประเมินค่าคะแนนเพื่อจัดอันดับ CPI ของประเทศไทยด้วย EIU จะดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลช่วงเดือนมกราคม – เดือนสิงหาคมของทุกปีใน 3 ด้าน คือ (1)ด้านการเมือง การปกครองและการบริหารงานของรัฐ (2) ด้านการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ และ (3) ด้านหน่วยงานและระบบการตรวจสอบการบริหารงานและการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ และข้อมูลจะถูกนำมาวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญ ของ EIU จำนวน 2 – 3 คน ซึ่งคำถามของแหล่งข้อมูล EIU ที่ TI นำไปวิเคราะห์ มีทั้งหมด 8 ข้อ ดังนี้ 1. มีกระบวนการขั้นตอนและความรับผิดชอบที่โปร่งใสในการบริการ จัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณหรือไม่ 2. มีการนำเงินงบประมาณไปดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ ส่วนตนหรือบุคคลหรือพรรคการเมืองหรือไม่ 3. มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณโดยขาดความรับผิดชอบหรือไม่ 4. มีการใช้ทรัพยากรของทางราชการหรือส่วนรวมไม่ถูกต้องหรือไม่ 5. มีการแต่งตั้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่โดยตรงจากรัฐบาลหรือไม่ 6. มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการบริหารจัดการงบประมาณการเงินของหน่วยงานนั้น ๆ หรือไม่ 7. มีหน่วยงานอิสระด้านยุติธรรมที่มีอำนาจในการตรวจสอบ ไต่สวนรัฐมนตรี ผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรื่องการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ 8. มีธรรมเนียมการให้สินบนเพื่อการได้มาซึ่งสัญญาสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐหรือไม่ ค่าคะแนน CPI ของไทยจากแหล่งข้อมูล EIU 4 ครั้งหลังสุด ปี ๒๕๕5 ๒๕๕6 ๒๕๕7 ๒๕๕8 คะแนน 38 38 38 38 ประเทศไทยมีค่าคะแนน EIU คงที่ 38 คะแนนมา 4 ปี ติดต่อกันโดยมีความเป็นได้ว่าอาจจะเกิดจากตัวแปรหลาย ๆ ประการ อาทิ 1. ช่วงการเก็บข้อมูลอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบริหารงานของรัฐบาล จึงทำให้ภาพลักษณ์ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตของรัฐบาลยังไม่ปรากฏสู่สาธารณชนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน 2. ใช้ข้อมูลเดิมมาอ้างอิงให้คะแนน 3. สะท้อนให้เห็นการรับรู้ของ "ผู้ให้ข้อมูลกับแหล่งข้อมูลเหล่านั้น" ว่าการทุจริตไม่ได้หมดไป (แต่ปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน) เป็นต้น ที่ผ่านมาการศึกษาและวิเคราะห์แหล่งข้อมูล EIU เป็นเพียงการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นเท่าที่ได้รับการเปิดเผยจาก EIU และตามเอกสารรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะศึกษาและวิเคราะห์ ในรายละเอียดอื่น ๆ ในเชิงลึก ดังนั้น หากต้องการที่จะศึกษา วิเคราะห์เพื่อให้รับรู้ถึงสาเหตุ ปัจจัย และแนวทางในการเพิ่มค่าคะแนนในแหล่งข้อมูลนี้อย่างถูกต้องและตรงจุดให้มากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการติดตามผลการประเมิน ของแหล่งข้อมูลนี้ในเชิงลึกยิ่งขึ้น แนวทางการยกระดับค่าคะแนนแหล่งข้อมูล EIU สามารถยกค่าระดับคะแนนแหล่งข้อมูล EIU ได้ด้วยแนวทางต่างๆ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลงบประมาณ การใช้จ่าย และการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ให้ประสานเข้าถึงได้ง่ายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับ พรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 103/7 เกี่ยวกับการเปิดเผยราคากลาง การคำนวณราคากลาง และการแสดงบัญชีรับจ่ายของคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่รัฐบาลอยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง อันมีส่วนสำคัญให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น และการที่รัฐบาลออก พรบ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 มาบังคับใช้ก็มีส่วนยกระดับค่าคะแนน EIU อย่างไรก็ตาม ระดับค่า CPI ของประเทศจะเพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือลดลงนั้น ไม่ได้เกิดจากแหล่งข้อมูล แหล่งใดแหล่งหนึ่งเพียงแหล่งเดียว หากแต่เกิดจากทุกแหล่งข้อมูล ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจจากทุกภาคส่วนในประเทศในการแสดงพลังเพื่อให้ประจักษ์แก่นานาประเทศว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น "สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต" อีกต่อไป
แท็ก ป.ป.ช.   ข้อมูล   (CPI)   Spa  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ