ปภ. ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน ในช่วงวันที่ 4 – 7 พฤษภาคม 2560

ข่าวทั่วไป Thursday May 4, 2017 12:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนในช่วงวันที่ 4 - 7 พฤษภาคม 2560 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตาม สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที รวมถึงตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุลมแรงและฟ้าผ่า อยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศแปรปรวนและพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งสภาวะอากาศดังกล่าวจะเกิดขึ้นตามภาคต่างๆ โดยในช่วงวันที่ 4 – 7 พฤษภาคม 2560 จะเกิดพายุฤดูร้อนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุกระจายเสียงประจำท้องถิ่น เสียงตามสาย หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สถานีโทรทัศน์และเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัคร รวมถึงตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่สาธารณะ ป้ายโฆษณา และเสาไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาพอากาศแปรปรวน อยู่ห่างวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทุกชนิด ไม่สวมเครื่องประดับประเภทเงิน ทอง นาค และทองแดง และงดเว้นการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากพายุลมแรงและฟ้าผ่า อยู่ให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรงในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนเกษตรกรควรเก็บเกี่ยวผลผลิตและหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตกลางแจ้ง เพื่อป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหาย ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฤดูร้อน สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ