ชาวลพบุรีขอเชิญเที่ยวงานเทศกาลทุ่งทานตะวันบานที่ลพบุรีประจำปี 2544 ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2544

ข่าวทั่วไป Thursday October 18, 2001 09:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ททท.
งานเทศกาลทุ่งทานตะวันบานที่ลพบุรี ประจำปี 2544
ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2544
ทุ่งทานตะวัน บริเวณซอย 11 ตำบลช่องสาริกา
อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
กิจกรรมที่น่าสนใจ
- การเที่ยวชมทุ่งทานตะวัน ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
- ชมการประกวดรถบุปผชาติ
- เลือกซื้อสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ และสินค้าแปรรูปจากทานตะวัน
ลพบุรี มีชื่อเสียงในฐานะดินแดนแห่งดอกทานตะวัน ซึ่งจะบานสะพรั่งทั่วทั้งจังหวัดตั้งแต่เพือนพฤศจิกายน ถึง มกราคมของทุกปี บนพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ ในฤดูกาลแห่งความงามอันเป็นเอกลักษณ์ ท้องทุ่งจะกลายเป็นพรมผืนใหญ่ที่ระบายด้วยสีเหลืองสว่างไสว และห่อหุ้มด้วยหมอกบางเบา ตลอดระยะทางที่ติดกับถนนกว่า14,000 ไร่ บริเวณซอย 11 ตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นท้องทุ่งกว้าง มีภูเขา และลานหินผุดเป็นฉากหลัง เมื่อดอกทานตะวันบานพร้อมกันเต็มที่จะมีทัศนียภาพที่งดงามอย่างมาก ฤดูหนาวเป็นฤดูที่ดีที่สุด ที่จะชมความอุดมสมบูรณ์ของทุ่งทานตะวัน โดยเฉพาะในวันที่ 1-10 ธันวาคม ซึ่งอากาศกำลังเย็นสบาย ท้องฟ้าสีครามสดใส
ทานตะวัน (Sun Flower) มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Helianthus Annus Var. Macrocarpus (DC CK11) เป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัด สามารถขึ้นได้ดีในสภาพดินทั่ว ๆ ไป
เนื่องจากมีระบบรากลึกสามารถหาอาหารได้ไกล ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เป็นพืชตระกูลเดียวกับเบญจมาศ คำฝอย ดาวเรือง เป็นพืชล้มลุกที่ปลูกกันมากในเขตอบอุ่น การที่มีชื่อเรียกว่า "ทานตะวัน" เพราะลักษณะการหันของช่อดอกและใบ จะหันไปตามทิศของดวงอาทิตย์ คือ หันไปทางทิศตะวันออกในตอนเช้า และทิศตะวันตกในตอนเย็น แต่การหันจะลดลงเรื่อย ๆ หลังจากมีการผสมเกสรแล้ว จนกระทั่งช่วงดอกแก่ ช่อดอกจะหันไปทางทิศตะวันออกเสมอ
ทานตะวันนับเป็นพืชไร่เศรษฐกิจ จังหวัดลพบุรีได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชไร่ รุ่นที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เป็นพืชที่ทนแล้ง เหมาะสำหรับการปลูกหลังฤดูฝน โดยเกษตรกรจะเริ่มปลูกทานตะวันตั้งแต่เดือนตุลาคม เมื่อครบ 60 วัน ในเดือนธันวาคม ดอกทานตะวันจะบานสะพรั่งเหลืองอร่ามไปทั้งทุ่ง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชม โดยเฉพาะในเขตอำเภอพัฒนานิคม ที่นักท่องเที่ยวสามารถขับรถเที่ยวชมได้ตลอดสองข้างทางจนถึงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันจังหวัดลพบุรีมีพื้นที่ปลูกทานตะวันมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศคือกว่า 200,000 ไร่
ประโยชน์ของทานตะวัน
ทานตะวันเป็นพืชน้ำมันที่มีบทบาทสำคัญเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และตลาดภายในประเทศรองจากถั่วเหลือง ถั่วลิสง และเรพลีด นอกจากใช้เพื่อการบริโภคโดยตรง เพื่อสุขภาพแล้วยังใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายประเภท เช่น เนยเทียม น้ำมันปรุงอาหาร เครื่องสำอาง น้ำมันชักเงา ทำฟิล์ม เป็นต้น ลำต้นใช้ทำเชื้อเพลิง เยื่อใยจากลำต้นใช้ทำกระดาษ กากเมล็ดเมื่อสกัดน้ำมันเสริมมีโปรตีนถึงร้อยละ 25-30 และสามารถใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์
ทานตะวันเป็นพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เป็นกรดไขมันไลโนเลนิค ซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย แต่ร่างกายสังเคราะห์แสงไม่ได้ถึงร้อยละ 60-70 และกรดดังกล่าวสามารถช่วยลดคอเรสเตอรอลที่เป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ อีกทั้งยังประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ บี 2 ดี และอี
นอกจากนี้เมล็ดทานตะวันยังมีธาตุเหล็กสูง และมีโซเดียมต่ำอีกด้วย วิตามินเอ ที่มีมากในเมล็ดทานตะวันช่วยบำรุงสายตา ผิวหนัง และต่อต้านโรคมะเร็ง ในขณะที่วิตามินอี ช่วยบำรุงรักษาเลนส์ของแก้วตา ช่วยชะลอความแก่ของผิวหนัง ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ดังนั้นวิตามินที่ได้จากธรรมชาติทั้ง 2 ชนิดนี้จะมีคุณค่าและประโยชน์อย่างยิ่งต่อดวงตา ผลผลิตของทานตะวันสามารถนำไปดัดแปลงเป็นอาหารได้หลายชนิด เช่น เมล็ดทานตะวันอบแห้ง คุ้กกี้ทานตะวัน ทานตะวันแผ่น เป็นต้น ลำต้นหรือจานดอกของทานตะวันเมื่อนำไปเผาให้เป็นขี้เถ้าแล้วสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมการหลอมเหล็กได้อีกด้วย
ข้อมูลการเดินทาง
จากกรุงเทพมหานคร ใช้ถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านดอนเมืองออกสู่เส้นทางแยกวงแหวนวังน้อยแล้วเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งหน้าสู่ จ.สระบุรี ระยะทางจากกรุงเทพฯ มาถึงสระบุรีประมาณ 107 กม. จากตัวเมืองสระบุรีใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 ขึ้นไปอีกประมาณ 17 กม. จะถึงทางสามแยกเรียกว่า แยกพุแค ถ้าเลี้ยวซ้ายมือจะเป็นเส้นทางหลวงหมายเลข 1 เหมือนเดิมเข้าสู่ตัว จ.ลพบุรี สำหรับเส้นทางชมทานตะวันขับตรงขึ้นไปเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 21 จนถึงสี่แยกที่จะเข้า อ. พัฒนานิคม ก็จะพบกับทุ่งดอกทานตะวันเต็มสองฝั่งถนน--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ