ประเทศไทยควรอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจทรัสต์ที่เปิดกว้างมากขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 1, 2017 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย Highlight - ทรัสต์เป็นหนึ่งในรูปแบบการจัดการทรัพย์สินที่แพร่หลายในต่างประเทศ โดยมีการตั้ง ทรัสต์ต่างๆ เช่น ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทรัสต์ครอบครัว ทรัสต์เพื่อการกุศล เป็นต้น - ทรัสต์ช่วยให้การบริหารจัดการทรัพย์สินเป็นไปอย่างยั่งยืน และมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมหลายด้าน โดยการจัดการทรัพย์สินผ่านทรัสต์มีประโยชน์ต่อ การพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจ และเป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมด้วย - อย่างไรก็ตาม กฎหมายการจัดตั้งทรัสต์ในประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านวัตถุประสงค์ซึ่งให้เป็นการระดมทุนเพื่อธุรกรรมในตลาดทุนเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้กับการจัดตั้ง ทรัสต์ที่มีวัตถุประสงค์อย่างอื่นได้ - ด้วยสถานการณ์ในตลาดเงินตลาดทุนโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยจึงควรมีการตรากฎหมายเพื่ออนุญาตให้ประกอบธุรกิจทรัสต์เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆได้ ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการบริหารทรัพย์สิน เพิ่มโอกาสในการดึงดูดเงินทุนให้ไหลมาสู่ประเทศเพิ่มขึ้น และลดการโอนทรัพย์สินเพื่อไปจัดตั้งทรัสต์ในต่างประเทศได้ ทรัสต์ (Trust) เป็นรูปแบบการจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในต่างประเทศ โดยมีกำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษเพื่อบริหารทรัพย์สินในครอบครัวและมรดกของขุนนางที่ต้องการรักษาทรัพย์สินของตนไว้ในครอบครัวไม่ให้เปลี่ยนมือสู่คนภายนอกแม้ว่าจะเสียชีวิตไปแล้ว ในเวลาต่อมาจึงได้มีการจัดตั้งทรัสต์เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆและได้รับความนิยมแพร่หลายจนพัฒนามาถึงในปัจจุบัน ตัวอย่างของทรัสต์ที่มีการจัดตั้งด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น ทรัสต์เพื่อปกป้องทรัพย์สิน ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทรัสต์เพื่อการค้าและการพาณิชย์ ทรัสต์ครอบครัว ทรัพย์เพื่อสาธารณกุศล ทรัสต์เพื่อการเยียวยาทางกฎหมาย เป็นต้น ทรัสต์ในความหมายทางกฎหมายหมายถึง นิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์[1] อันเกิดขึ้นจากสัญญาซึ่งบุคคลที่เรียกว่า ผู้ก่อตั้งทรัสต์ (Settlor) ได้โอนหรือก่อทรัพยสิทธิ หรือสิทธิใดๆในทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า ทรัสตี (Trustee) ด้วยความไว้วางใจให้ทรัสตีจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า ผู้รับประโยชน์ (Beneficiary) ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่กำหนดตามสัญญาก่อตั้งฯ รวมทรัพย์สิน ดอกผล หนี้สินและความรับผิดที่เกิดจากการจัดการตามสัญญาก่อตั้งฯจะรวมเรียกว่า กองทรัสต์ กล่าวได้ว่า ทรัสต์มีโครงสร้างพื้นฐานอยู่บนความสัมพันธ์ของบุคคล 3 ฝ่ายดังกล่าวบนหลักความซื่อสัตย์ไว้วางใจกัน ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจของการก่อตั้งทรัสต์ ได้แก่ ความคงอยู่ของทรัสต์จะแยกออกจากบุคคลทั้ง 3 ที่กล่าวมาข้างต้นหมายถึง หากบุคคลเหล่านั้นเสียชีวิต ล้มละลาย เลิกกิจการ หรือสิ้นสภาพนิติบุคคล แต่ทรัสต์ยังคงอยู่ เว้นแต่สัญญาก่อตั้ง ทรัสต์จะระบุอย่างอื่น ทรัสต์เป็นเครื่องมือช่วยบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างยั่งยืน และมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมหลายด้าน จากการพิจารณาข้อมูลในรายงาน World Wealth Report 2016 โดย Capgemini พบว่า เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดและมีประชากรกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งสูง(High net worth individual, HNWI)[2] มากที่สุดในปี 2015 ซึ่งกลุ่ม HNWI ย่อมแสวงหารูปแบบการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด - ทรัสต์เป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารจัดการทรัพย์สินให้สืบทอดต่อไปอย่างยั่งยืน และสร้างความมั่นคงทางการเงิน การจัดตั้งทรัสต์ทำให้เกิดการรวบรวมทรัพย์สินอย่างเป็นระบบมากขึ้น เพื่อนำมาวางแผนในการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมและให้เกิดผลตอบแทนที่เพิ่มพูนขึ้น โดยทรัสตีซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินเป็นผู้ที่มีเชี่ยวชาญทางการเงินตามคุณสมบัติที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด อันจะช่วยให้กลไกในการส่งต่อทรัพย์สินให้กับผู้รับผลประโยชน์รุ่นต่อๆไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงิน จากรายงาน The Deloitte Wealth Centre Ranking 2015 โดย Deloitte พบว่า 10 อันดับแรกที่เป็นศูนย์กลางทาง Wealth Management ของโลกล้วนแต่มีการนำระบบทรัสต์มาใช้ทั้งสิ้น ในกรณีของประเทศไทย หากมีกฎหมายที่เอื้อให้จัดตั้งทรัสต์เพื่อบริหารทรัพย์สินได้ก็น่าจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยดึงดูดเงินทุนให้ไหลมาสู่ประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งเงินทุนของนักลงทุนชาวไทยที่เดิมเคยนำไปลงทุนต่างประเทศและเงินจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลของหลายประเทศ อาทิเช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ต่างปรับปรุงกฎหมายทรัสต์เพื่อที่จะดึงดูดเงินทุนให้เข้ามาในประเทศของตนมากขึ้น นอกจากนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) ได้จัดทำโครงการวิจัย "การศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการจัดตั้งทรัสต์ในประเทศไทย" (โครงการวิจัยฯ) เพื่อศึกษาข้อดีข้อเสียของการจัดการทรัพย์สินด้วยการจัดตั้งทรัสต์ รวมถึงข้อเสนอแนะในการนำกฎหมายลักษณะทรัสต์มาใช้เป็นการทั่วไป ในการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทรัสต์ในต่างประเทศพบว่า ทรัสต์เพื่อการลงทุน นำมาซึ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายด้าน ขณะที่ทรัสต์เพื่อสาธารณกุศลสามารถเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยสรุปดังนี้ - ทรัสต์เป็นเครื่องมือระดมเงินทุนสำหรับการพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในเชิงธุรกิจและต้องการเงินทุนเพิ่มเติม อาจใช้ทรัสต์เป็นเครื่องมือในการระดมเงินทุนจากนักลงทุนในตลาดทุน แทนที่จะพึ่งพาเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และนำเงินที่ได้รับมาไปใช้จ่ายในโครงการลงทุนต่อซึ่งจะทำให้เกิดผลดีในแง่ของการจ้างงานและการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมของกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดของ REITs ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย EY (2016)[3] คาดว่า REITs ช่วยสร้างงานจำนวน 1.8 ล้านตำแหน่งงาน (เทียบเท่าจำนวนคนทำงานเต็มเวลา) และสร้างรายได้แก่ผู้ใช้แรงงานประมาณ 1.075 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2557 สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจของ REITs ในประเทศญี่ปุ่นนั้น The Association for Real Estate Securitisation (ARES) (2012) ชี้ว่า REITs มีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคิดเป็นมูลค่าสะสมประมาณ 31 ล้านล้านเยนในระหว่างปี ค.ศ. 2001-2011 รวมทั้งทำให้เกิดการจ้างงานรวมประมาณ 3 แสนคน โดยในจำนวนนี้เป็นการจ้างงานโดยตรงผ่าน REITs จำนวน 8.3 หมื่นคน - ทรัสต์มีบทบาทต่อการสนับสนุนการเติบโตของตลาดทุน ซึ่งพิจารณาได้จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคาตลาด (Market capitalization) ของ REITs ซึ่งข้อมูลจาก EY (2016) [4]พบว่า นับตั้งแต่ปี 2010 จนถึง 2016 ขนาด Market cap ของ REITs ในตลาดทั่วโลกมีการเติบโตเป็นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นถึง 147% ในสหรัฐฯ และกว่า 100% ในประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนการขยายตัวของขนาดตลาดทุนในประเทศเหล่านั้นด้วย - ทรัสต์มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ในต่างประเทศภาคธุรกิจและประชาชนได้มีส่วนในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนในสังคมที่ประสบปัญหาโดยใช้กลไกของทรัสต์ ตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการจำแนกวัตถุประสงค์ทรัสต์เพื่อสาธารณกุศลเป็นทรัสต์เพื่อบรรเทาความยากจน ทรัสต์เพื่อการศึกษา ทรัสต์เพื่อศาสนา และทรัสต์อื่นๆตามที่กฎหมายกำหนดรวมถึงทรัสต์เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ให้บริการน้ำประปาหลายแห่งได้จัดตั้งทรัสต์เพื่อสาธารณกุศล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาทางการเงินในระยะยาวแก่กลุ่มคนยากจนที่มีหนี้ค้างชำระค่าน้ำและบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น ในปัจจุบัน การจัดตั้งทรัสต์ในประเทศไทยมีข้อจำกัดด้านวัตถุประสงค์ให้เป็นการระดมทุนเพื่อธุรกรรมในตลาดทุนเท่านั้น ความเป็นมาเกี่ยวกับการจัดตั้งทรัสต์ในประเทศไทยนั้น ในอดีตเคยมีการจัดตั้งทรัสต์อยู่บ้างตามหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษ แต่หลังจากปี 2478 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686 ได้บัญญัติ ห้ามการจัดตั้งทรัสต์ตามกฎหมายไทย[5] เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นเห็นว่าการก่อตั้งทรัสต์เพื่อจัดการทรัพย์สินจะทำให้ทรัพย์สินนั้นไม่เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนมือ ต่อมาในปี 2550 จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1686 ดังกล่าว โดยมีข้อยกเว้นให้ตั้ง ทรัสต์ได้ตามกฎหมายเพื่อการก่อตั้งทรัสต์ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งทรัสต์เพื่อวัตถุประสงค์การดำเนินธุรกรรมในตลาดทุน พร้อมทั้งได้มีการตรา พ.ร.บ. ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.ทรัสต์ฯ) ขึ้นในปีเดียวกัน ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ว่าด้วยการก่อตั้งทรัสต์ ในปัจจุบันการจัดตั้งทรัสต์ในประเทศไทยจึงทำได้จำกัดเฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกรรมในตลาดทุน ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้แก่ 1. การออกหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2. การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ 3. ธุรกรรมอื่นใดที่เป็นการส่งเสริมหรือเอื้ออำนวยต่อตลาดทุน โดยให้อำนาจคณะกรรมการ ก.ล.ต.ออกประกาศเพิ่มธุรกรรมได้ ซึ่งต่อมาก็ได้มีประกาศกำหนดประเภทธุรกรรมในตลาดทุนที่ให้ใช้ทรัสต์อีก 3 ฉบับ ถึงแม้ว่าจะมี พ.ร.บ.ทรัสต์ฯ แต่การจัดตั้งทรัสต์ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จากข้อมูลของสำนักงาน ก.ล.ต.พบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตี 14 ราย ส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทรัสต์ที่มีการรายงาน ได้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 6.9 หมื่นล้านบาท และมีจำนวน 12 กองทรัสต์เท่านั้น โดยโครงการวิจัยฯมีข้อสรุปเกี่ยวกับข้อจำกัดของกฎหมายก่อตั้งทรัสต์ในปัจจุบัน ดังนี้ - การจัดตั้งทรัสต์ตาม พ.ร.บ.ทรัสต์ฯจำกัดวัตถุประสงค์การก่อตั้งทรัสต์เพื่อการทำธุรกรรมในตลาดทุนเท่านั้น บทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้กับการจัดตั้งทรัสต์ที่มีวัตถุประสงค์อย่างอื่น เช่น การจัดตั้งทรัสต์เอกชน ทรัสต์ครอบครัว ทรัสต์เพื่อจัดการทรัพย์สินมรดก ทรัสต์เพื่อการลงทุน ทรัสต์เพื่อการกุศล เป็นต้น - การจัดตั้งทรัสต์ตาม พ.ร.บ.ทรัสต์ฯจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง และมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจากสำนักงาน ก.ล.ต. สืบเนื่องจากองค์ประกอบของคำว่า "ทรัสต์เพื่อการระดมทุนในตลาดทุน" ดังนี้ 1.การระดมทุนในตลาดทุน ต้องเป็นการระดมทุนจากประชาชนโดยตรง 2. การระดมทุนต้องกระทำในลักษณะของผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบต่างๆที่เป็นหลักทรัพย์ 3. ต้องดำเนินการโดยบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้บริษัทมหาชนจำกัดถึงจะสามารถเสนอขายหุ้นต่อประชาชนได้ 4. ต้องทำคำขอเสนอขายหลักทรัพย์ และได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.ก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากทรัสต์ที่ตั้งขึ้นถือเป็นการแสวงหาเงินทุนจากประชาชนทั่วไป (ยกเว้นทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน) ดังนั้นแล้ว การก่อตั้งทรัสต์โดยบุคคล เพื่อระดมทุนในตลาดทุนย่อมไม่สามารถดำเนินการได้ นอกจากนั้นแล้ว บุคคลธรรมดา หรือบริษัทเอกชนทั่วไปที่ไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดก็ไม่สามารถที่จะประกอบธุรกิจเป็นทรัสตีได้เช่นกัน ประเทศไทยควรอนุญาตให้ประกอบธุรกิจทรัสต์เพิ่มเติมจากที่กำหนดใน พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน -ควรสนับสนุนให้มีทรัสต์เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆได้ อาทิเช่น ทรัสต์เพื่อการบริหารทรัพย์สินสำหรับบุคคลทั่วไป เพิ่มเติมจากการตั้งทรัสต์ตาม พ.ร.บ. ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 โดยควรอนุญาตให้มีการจัดตั้งทรัสต์ได้ ทั้งที่เป็น การก่อตั้งโดยการแสดงเจตนา โดยนิติกรรม และโดยพินัยกรรม ทั้งนี้ อาจกระทำควบคู่ไปกับการจัดทำข้อกำหนดว่า ข้อห้ามการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไว้ในตราสารหรือพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์จะกระทำมิได้ - ควรพิจารณาให้มีกฎหมายในลักษณะเดียวกับ Trustee Act ของอังกฤษ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เพื่อกำหนดรายละเอียดในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น สิทธิหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับทรัสต์ ความรับผิดของทรัสตี การกำกับดูแลทรัสตี สถานภาพทางกฎหมายของทรัพย์สินแห่งทรัสต์ เป็นต้น - ควรมีการจัดอบรมหรือเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชน การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณชนเกี่ยวกับประโยชน์ของทรัสต์ในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของกฎหมายทรัสต์ เพื่อลดความกังวลที่ว่าการก่อตั้งทรัสต์จะทำให้ทรัพย์สินไม่เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนมือ และเป็นอันตรายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจัดตั้งทรัสต์ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงสร้างความไว้วางใจในระบบการกำกับดูแลของภาครัฐ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยมีความเห็นว่า การมีระบบทรัสต์ส่งผลดีหลายด้านดังที่ได้กล่าวถึงในข้างต้น ประเทศไทยจึงควรมีนโยบายสนับสนุนในเรื่องการก่อตั้งทรัสต์ โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้ - ควรสนับสนุนให้มีทรัสต์เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆได้ อาทิเช่น ทรัสต์เพื่อการบริหารทรัพย์สินสำหรับบุคคลทั่วไป เพิ่มเติมจากการตั้งทรัสต์ตาม พ.ร.บ. ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 โดยควรอนุญาตให้มีการจัดตั้งทรัสต์ได้ ทั้งที่เป็น การก่อตั้งโดยการแสดงเจตนา โดยนิติกรรม และโดยพินัยกรรม ทั้งนี้ อาจกระทำควบคู่ไปกับการจัดทำข้อกำหนดว่า ข้อห้ามการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินไว้ในตราสารหรือพินัยกรรมก่อตั้งทรัสต์จะกระทำมิได้ - ควรพิจารณาให้มีกฎหมายในลักษณะเดียวกับ Trustee Act ของอังกฤษ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เพื่อกำหนดรายละเอียดในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น สิทธิหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับทรัสต์ ความรับผิดของทรัสตี การกำกับดูแลทรัสตี สถานภาพทางกฎหมายของทรัพย์สินแห่งทรัสต์ เป็นต้น - ควรมีการจัดอบรมหรือเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชน การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณชนเกี่ยวกับประโยชน์ของทรัสต์ในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของกฎหมายทรัสต์ เพื่อลดความกังวลที่ว่าการก่อตั้งทรัสต์จะทำให้ทรัพย์สินไม่เกิดการหมุนเวียนเปลี่ยนมือ และเป็นอันตรายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจัดตั้งทรัสต์ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงสร้างความไว้วางใจในระบบการกำกับดูแลของภาครัฐ โดยล่าสุดนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จัดทำร่างกฎหมายทรัสต์ขึ้นแล้ว และเมื่อมองต่อไปในระยะข้างหน้า หากภาครัฐพิจารณาอนุญาตให้มีกิจการทรัสต์ในลักษณะอื่นๆในประเทศไทยได้แล้วนั้น คาดว่าจะสามารถเป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่งในการช่วยดึงดูดเม็ดเงินทุนจากต่างชาติให้เข้ามาในประเทศได้มากขึ้น อันจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยในการแข่งขันกับนานาประเทศและสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต [1] ในความหมายตาม พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ.2550 [2] กลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งสูง (HNWI) เป็นกลุ่มที่มีสินทรัพย์อื่น (ไม่นับรวมที่อยู่อาศัยและของสะสมต่างๆ) มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ฯ โดย ประชากรที่มีความมั่งคั่งสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีประมาณ 5.1 ล้านคนและมีความมั่งคั่งรวมกันประมาณ 17.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯในปี 2015 [3] EY (2016), "Economic contributions of REITs in the United States". [4] EY (2016), "Global Perspective: 2016 REIT Report" [5] บทบัญญัติเดิมของมาตรา 1686 ระบุว่า "อันว่าทรัสต์นั้น จะก่อตั้งขึ้นโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมด้วยพินัยกรรมหรือด้วยนิติกรรมใด ๆ ที่มีผลในระหว่างชีวิตก็ดีหรือเมื่อตายแล้วก็ดี หามีผลไม่"
แท็ก ครอบครัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ