PwC เผยธุรกิจบริการทางการเงินทั่วโลกเล็งดึงพันธมิตรฟินเทคร่วมทัพมากขึ้น เหตุ 88% หวั่นสูญเสียรายได้ให้ผู้คิดค้นนวัตกรรม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 26, 2017 15:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--PwC Consulting - มากกว่า 4 ใน 5 (82%) ของธุรกิจบริการทางการเงินมีแผนที่จะหาพันธมิตรฟินเทคเพิ่มมากขึ้นใน 3-5 ปีข้างหน้า - 88% กังวลจะสูญเสียรายได้ให้กับบริษัทฟินเทคที่ดำเนินธุรกิจแบบสแตนอโลน ขณะที่เกือบ 1 ใน 4 (24%) ของรายได้ธุรกิจบริการทางการเงินทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง - บริษัททางการเงินคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนจากโครงการที่เกี่ยวข้องกับฟินเทคที่ 20% โดยเฉลี่ย - ข้อมูลอ้างอิงจาก DeNovo platform ของ PwC ระบุว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ฟินเทคสตาร์ทอัพทั่วโลกเห็นเม็ดเงินลงทุนสะสมสูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ PwC ผลสำรวจล่าสุด Redrawing the lines: FinTech's growing influence on Financial Services พบว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัย และผู้จัดการด้านการลงทุนทั่วโลกส่วนใหญ่ มีแผนที่จะจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทฟินเทคมากขึ้นภายใน 3-5 ปีข้างหน้า พร้อมคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยต่อโครงการที่ 20% ทั้งนี้ รายงานดังกล่าว ทำการสำรวจกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินกว่า 1,300 รายทั่วโลก โดยผลสำรวจแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมการเงินที่ต่างหันมาให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากขึ้น โดยสาเหตุหลักของการตื่นตัวในการหาพันธมิตรฟินเทคเพิ่มขึ้น เนื่องจากความกังวลในการสูญเสียรายได้ให้กับบรรดาบริษัทฟินเทคที่ดำเนินธุรกิจแบบสแตนอโลน โดย 88% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับว่า ฟินเทคเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อธุรกิจของพวกเขา (เปรียบเทียบกับ 83% เมื่อปีก่อน) ขณะที่ 24% ของรายได้ธุรกิจบริการทางการเงินทั่วโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเข้ามาของฟินเทค ด้วยเหตุนี้ กระแสของการจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินกับบริษัทฟินเทคจึงเกิดขึ้น โดยฟินเทคสตาร์ทอัพต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและฐานลูกค้าจากการเป็นพันธมิตรกับบริษัททางการเงินขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกัน บริษัทผู้ให้บริการทางการเงินเหล่านี้ก็เริ่มมีความเข้าใจที่ดีขึ้นว่า ฟินเทคจะสามารถเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยีในรูปแบบเดิมๆ รวมทั้งแก้ปัญหาการสื่อสารกับลูกค้าที่ไม่มีประสิทธิภาพให้หมดไป นาย มาโนจ คาชยัพ หัวหน้าสายงานโกลบอลฟินเทค ของ PwC กล่าวว่า "การร่วมมือกับฟินเทค และประยุกต์ใช้นวัตกรรมต่างๆ ของภาคธุรกิจการเงิน ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันตามกระแส แต่เป็นการมองหาวิธีที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพในการบริการให้กับลูกค้า" "การที่สถาบันการเงินทำงานใกล้ชิดกับผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น ย่อมส่งผลทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ถึงประโยชน์ที่ตามมา จากที่เคยมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย และความไม่พึงพอใจต่อบริการของธนาคาร บริษัทประกันภัย และผู้จัดการกองทุน ปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็เริ่มลดน้อยลง เพราะมีการปรับปรุงบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ก็ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ามากขึ้นด้วย" พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส รายงานยังระบุว่า การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับฟินเทคจะเป็นกุญแจสำคัญที่เปิดโอกาสให้บริษัททางการเงินสามารถยกงานด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) บางส่วนให้กับบริษัทภายนอกที่รับผิดชอบโดยตรงดูแล ทำให้มีเวลามาสนใจกับการนำกลยุทธ์มาบริหารธุรกิจได้ดีขึ้น และช่วยให้การคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile money services) กำลังกลายเป็นช่องทางให้กลุ่มลูกค้าประชาชนที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคาร สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น โดย PwC คาดว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยเพิ่มลูกค้าใหม่ให้อุตสาหกรรมการชำระเงินเป็นมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ข้อมูลของ DeNovo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของ PwC ระบุว่า สตาร์ทอัพที่มีการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาประยุกต์ใช้ กำลังได้รับเงินสนับสนุนอย่างกว้างขวาง โดยในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนทางการเงินทางด้านนี้แล้วกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อปี รายงานยังระบุด้วยว่า ในอนาคตจะเริ่มเห็นธนาคาร ผู้จัดการกองทุน และบริษัทประกันภัย นำเอไอและเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Data and analytics tools) ต่างๆ มาใช้โต้ตอบกับลูกค้าและช่วยแนะนำการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น บล็อกเชนไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องทดลองอีกต่อไป • 77% ของบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินทั่วโลกมีแผนนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้กับระบบภายในปี 2563 • เงินลงทุนในบริษัทบล็อกเชนทั่วโลกในปี 2559 โต 79% จากปีก่อนที่ 450 ล้านดอลลาร์ • 24 % ของสถาบันการเงินทั่วโลก ระบุว่า ขณะนี้พวกเขาคุ้นเคยกับเทคโนโลยีบล็อกเชนมากถึงมากที่สุด รายงานระบุชัดว่า บล็อกเชนได้ถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจอย่างจริงจังมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และกำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ไกลตัวอีกต่อไป ด้วยจุดเด่นของบล็อกเชนที่ช่วยลดต้นทุนการทำงานของระบบหลังบ้านและมีความโปร่งใส จะทำให้เทคโนโลยีนี้เป็นที่ยอมรับและได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่บริษัททางการเงินต่างเตรียมความพร้อมและพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรไปสู่การเติบโตในอนาคต ผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนจะถูกนำมาใช้มากที่สุดในกรณีของการชำระเงิน การโอนเงิน และการจัดการข้อมูลประจำตัวแบบดิจิทัล ขณะที่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในแต่ละประเทศนั้น แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในแต่ละสถานที่ เช่น ผู้ตอบแบบสอบถามจากสหรัฐอเมริกากล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านการโอนเงิน น่าจะเป็นกรณีของการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้มากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนที่ก้าวหน้าไปมากทางด้านนี้ของสหรัฐฯ ด้าน นาย สตีฟ เดวี่ส์ หัวหน้าสายงานฟินเทค ประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ของ PwC กล่าวว่า "ปัจจุบันธุรกิจบริการทางการเงินได้นำฟินเทคเข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นพันธมิตรกับฟินเทคสตาร์ทอัพ การให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อบ่มเพาะเทคโนโลยีภายในองค์กร และการพัฒนาโซลูชันส์ใหม่ๆ เพื่อทดลองระบบการใช้งานในส่วนต่างๆ เช่น บล็อกเชน เป็นต้น ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืนนี้กำลังเป็นที่ต้องการ โดยจะส่งผลดีต่อทั้งตัวบริษัทและลูกค้าในที่สุด" "อย่างไรก็ดี ความท้าทายของการประยุกต์ใช้ฟินเทคยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความกดดันในเรื่องของเวลากว่าที่ไอเดียใหม่ๆ จะตกผลึกและนำมาใช้ให้เกิดผล รวมไปถึงความคาดหวังของบริษัททางการเงินจากการทำงานร่วมกับฟินเทคสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ การบริหารความคาดหวังเกี่ยวกับผลตอบแทนก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรที่กำลังเผชิญกับแรงกดดันทางด้านต้นทุน ซึ่งการประยุกต์ใช้ฟินเทค เป็นทั้งเรื่องของการคิดค้นรูปแบบการทำงานและการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ และการนำเทคโนโลยีใหม่นั้นมาใช้" นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า "ปัจจุบันธุรกิจบริการทางการเงินของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันการเงิน กำลังตื่นตัวในการนำฟินเทคมาใช้ในธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งเวลานี้ ธนาคารหลายแห่ง มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้คัดแยกและจัดเก็บข้อมูลสัญญาต่างๆ รวมถึง การพิสูจน์ตัวตนและความถูกต้อง เพื่อช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัยในการจัดการเอกสารอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยและพัฒนาระบบอัตโนมัติ หรือ ระบบออโตเมชั่น อย่างเอไอ และหุ่นยนต์ มาใช้ทำงานควบคู่ไปกับแรงงานมนุษย์ ซึ่งคาดว่า 3-5 ปีข้างหน้า จะเห็นเทคโนโลยีดังกล่าวในระบบธนาคารของบ้านเราอย่างแน่นอน"
แท็ก นวัตกรรม   PwC  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ