ข้อมูลประกอบการบรรยาย เรื่อง "วิถีไทยในโลกาภิวัฒน์"

ข่าวทั่วไป Thursday June 7, 2001 14:48 —ThaiPR.net

ข้อมูลประกอบการสัมภาษณ์เรื่อง Executive Intelligence Review (EIR)
โดย อธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์
-------------
1. สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2544*
- เศรษฐกิจชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.0
ปี 2544 เศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงของการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องจากปลายปี 2543 ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการลดลงของการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ช้าลงกว่าที่คาดไว้เดิม เนื่องจากปัญหาภาคการเงินไม่สามารถคลี่คลายลงไปได้ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น รวมทั้งได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ขณะเดียวกันสถานการณ์ในสหภาพยุโรปก็ไม่สู้ดีนัก ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวสะท้อนภาพให้เห็นถึงภาวะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมันอยู่ที่ 2 % ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งลดลงจาก 2.6 % ในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน สำหรับอังกฤษ คาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงอยู่ที่ 2.5 % ในปีนี้จาก 3.0 % ในปีที่แล้ว
ภายใต้เงื่อนไขที่ภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นข้อจำกัดต่อการส่งออกของไทย จึงคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.0 ต่ำกว่าการขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.4 ในปีที่แล้ว
- การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
ความต้องการภายในประเทศที่ชะลอตัวและการส่งออกที่ลดลง ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ ในระยะ 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ในระดับเฉลี่ยร้อยละ 53.7 ลดลงจากร้อยละ 56 ในระยะเดียวกันของปีก่อน
สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในระยะ 5 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของการผลิตสินค้าหมวดยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง ที่มีการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด และสินค้าหมวดเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นตามการผลิตสุรา โดยเฉพาะสุรายี่ห้อใหม่
- การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนชะลอตัว
ความไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ การส่งออกที่ลดลง อัตราการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ลดลงและชะลอการใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนจะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 ชะลอลงจากร้อยละ 4.5 ในปีก่อน และส่งผลโดยตรงต่อการลงทุนภาคเอกชนที่จะชะลอตัวตาม โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.1 จากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 14.2 ในปีก่อน
- การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาครัฐเพิ่มมากขึ้น
ด้วยรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ โดยการเพิ่มการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าปี 2544 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาครัฐบาล จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และการลงทุนภาครัฐ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0
- ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลลดลง
ผลจากการส่งออกที่ลดลงขณะที่การนำเข้า มีแนวโน้มลดลงในอัตราที่น้อยกว่าจะทำให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงรวมถึงการเกินดุลบริการที่ลดลง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศน้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจ จึงคาดว่า ในปี 2544 ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 3.7 ของ GDP ลดลงจากปี 2543 ที่มีการเกินดุลร้อยละ 7.5 ของ GDP
- อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำประมาณร้อยละ 2.2
อัตราเงินเฟ้อจะขยับสูงขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในปี 2543 เป็นประมาณร้อยละ 2.2 ตามแรงกดดันทางด้านต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซหุงต้ม ประกอบกับราคาพืชเกษตรบางชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทำให้สินค้าหมวดอาหารปรับตัวสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การที่อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนตัวลงทำให้ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก อัตราเงินเฟ้อจึงยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
- การส่งออกลดลงประมาณร้อยละ 2.0
จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจการค้าโลก โดยเฉพาะในตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้นจากการเปิดเสรีทางการค้า คาดว่าปี 2544 การส่งออกจะมีมูลค่าประมาณ 66.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี 2543 ร้อยละ 2.0 ส่วนการนำเข้าจะมีมูลค่าประมาณ 64.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2
- การที่การส่งออกของไทยต้องชะลอตัวลง จากผลกระทบของการชะลอตัวในตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต้องชะลอลงไปด้วย รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายในการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อที่จะกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจแทนการพึ่งพาการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว โดยมีการดำเนินมาตรการสำคัญ ๆ หลายมาตรการ ได้แก่ เร่งรัดการดำเนินการของ TAMC เพื่อแก้ปัญหา NPL การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและธนาคารประชาชน การขยายสินเชื่อสู่ SMEs การเพิ่มการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2545 การกระตุ้นการส่งออกและส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งหากการเร่งรัดการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นไปตามเป้าหมาย คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในอัตราประมาณร้อยละ 3.0
2. การค้าระหว่างประเทศของไทย
- การค้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว
มกราคม — พฤษภาคม 2544
ล้านเหรียญสหรัฐฯ % เพิ่ม/ลด การค้ารวม 53,969
6.7 การส่งออก 27,218
-0.2 การนำเข้า 26,751
14.6 ดุลการค้า
467
-88.1
การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงต้นปีนี้ โดยในระยะ 5 เดือนแรก การส่งออกมีมูลค่า 27,218 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนเพียงร้อยละ 0.2
- สินค้าเกษตรส่งออกเพิ่มขึ้น
สินค้าเกษตรเป็นสินค้าหมวดเดียวที่ส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่สินค้าหมวดอื่น ๆ ส่งอออกลดลง คือ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลงร้อยละ 7.4 สินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.4 สินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 9.6
- สินค้าเกษตรกรรมที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง (เพิ่มขึ้น 54.5 %) ไก่สดแช่เย็น (เพิ่มขึ้น 20.0 % ซึ่งเป็นผลมาจากการเกิดโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยของวัวในสหภาพยุโรป ผู้บริโภคจึงหันมาซื้อเนื้อสัตว์อื่นแทน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้น 7.7 % เนื่องจากจีนซื้อมันเส้นเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก)
ส่วนสินค้าเกษตรกรรมที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว และยางพารา เนื่องจากราคาในตลาดโลกตกต่ำและมีการแข่งขันสูง
- สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (เพิ่มขึ้น 4.4 %) น้ำตาลทราย (เพิ่มขึ้น 15.8 %)
สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรที่ส่งออกลดลง ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง (ลดลง 46.4 %) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (ลดลง 10.9 %)
- สินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า (เพิ่มขึ้น 12.6 %) ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ (เพิ่มขึ้น 10.4 %) เม็ดพลาสติก (เพิ่มขึ้น 1.7 %) อัญมณีและเครื่องประดับ (เพิ่มขึ้น 10.5 %) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (เพิ่มขึ้น 15.1 %) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (เพิ่มขึ้น 14.2 %)
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกลดลง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ลดลง 5.6 %) เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และส่วนประกอบ (ลดลง 8.6 %) วงจรพิมพ์ (ลดลง 26.2 %) ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (ลดลง 26.2 %) ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้มีปัญหาเนื่องจากความต้องการในสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศของตลาดสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ มีสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เหล็กและเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ รองเท้าและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น
- ตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดเดียวที่การส่งออกลดลง
ตลาดส่งออกหลัก 3 ตลาดใหญ่ที่มีสัดส่วนสูงถึง 52 % ของการส่งออกรวมยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้น คือ สหภาพยุโรป เพิ่มขึ้น 6.7 % ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 2.8 % และ อาเซียน เพิ่มขึ้น 0.8 % สำหรับสหรัฐอเมริกา ส่งออกลดลง 2.5 %
- สาเหตุที่ทำให้การส่งออกลดลงที่สำคัญ คือ
1) ภาวะเศรษฐกิจของโลกและตลาดส่งออกสำคัญของไทยโดยเฉพาะสหรัฐฯ และญี่ปุ่นชะลอตัวลง
ส่งผลให้ผู้นำเข้าลดการนำเข้าสินค้า
2) การชะลอตัวของความต้องการสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศในตลาดสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในแถบเอเชีย
3) การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคากับประเทศในเอเชีย ซึ่งมีค่าเงินอ่อนตัวลงมากกว่าค่าเงินบาท ได้แก่ เงินวอนของเกาหลีใต้ เงินรูเปียของอินโดนีเซีย และเงินเยนของญี่ปุ่น ทำให้สินค้าไทยต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
- การนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
การนำเข้าในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2544 มีมูลค่า 26,751 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 14.6 เป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะ 3 หมวดสินค้าใหญ่ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88.7 ของมูลค่านำเข้ารวม คือ สินค้าเชื้อเพลิง (เพิ่มขึ้น 35.0 % จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกและค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง) สินค้าทุน (เพิ่มขึ้น 20.5 %) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (เพิ่มขึ้น 4.9 %)
- สินค้าสำคัญที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (เพิ่มขึ้น 24.0 %) แผงวงจรไฟฟ้า (เพิ่มขึ้น 18.6 %) เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม (เพิ่มขึ้น 20.2 %) น้ำมันดิบ (เพิ่มขึ้น 39.2 %) เคมีภัณฑ์ (เพิ่มขึ้น 6.6 %) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (เพิ่มขึ้น 25.2 %) เครื่องเพชรพลอย (เพิ่มขึ้น 45.2 %)
- เมื่อพิจารณาจากมูลค่าสินค้านำเข้าข้างต้น จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนโดยเฉพาะ เครื่องจักรถึง 21.3 % เชื้อเพลิงและวัตถุดิบ ซึ่งนำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตของประเทศ อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายรณรงค์และปลูกจิตสำนึกประชาชนใช้สินค้าไทยมากขึ้น และการให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศไทยแทนการจัดหาจากต่างประเทศ จะช่วยลดการนำเข้าได้อีกทางหนึ่ง
- สินค้าที่ไทยนำเข้าลดลง ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น รถยนต์นั่ง (ลดลง 42.6 %) รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก (ลงลง 38.5 %) และหลอดภาพโทรทัศน์ (ลดลง 22.6 % เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตไปจีน) เป็นต้น
- แหล่งนำเข้าสำคัญโดยเฉพาะ 3 ตลาดหลักนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน (เพิ่มขึ้น 12.8 %) สหภาพยุโรป (เพิ่มขึ้น 41.1 %) และสหรัฐอเมริกา (เพิ่มขึ้น 20.0 %)
- แหล่งนำเข้าสำคัญที่นำเข้าลดลง ได้แก่ ญี่ปุ่น (ลดลง 0.9 %) สิงคโปร์ (ลดลง 2.9 %) ไต้หวัน (ลดลง 3.9 %) บรูไน (ลดลง 15.8 %) เป็นต้น
- ดุลการค้ามีแนวโน้มเกินดุลลดลง
ในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2544 ไทยเกินดุลเป็นมูลค่า 467 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 88.1
ประเทศที่ไทยเกินดุลการค้า คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน (สิงคโปร์) ฮ่องกง แอฟริกาใต้ และลาตินอเมริกา ประเทศที่ขาดดุลการค้า ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และยุโรปตะวันออก
3. การดำเนินการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
- การที่ปีนี้ เศรษฐกิจไทยต้องประสบกับข้อจำกัดด้านการขยายตัวของตลาดโลก ดังนั้น แรงกระตุ้นเศรษฐกิจและสภาพคล่องที่มาจากการส่งออก ซึ่งช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจึงลดลง ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาศักยภาพในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะสั้นที่สำคัญ คือ
1. นโยบายการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก คือ
1.1 โครงการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของ
เกษตรกร โดยจะพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. รายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยรัฐบาลรับภาระจ่ายดอกเบี้ยแทน 3 ปี เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2544 โดยรัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อรับภาระในโครงการนี้ไม่เกินปีละ 7,700 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2544 มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน
2,254,792 ราย คิดเป็น 95% ของกลุ่มเป้าหมาย
1.2 การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รัฐบาลจะจัดสรรเงินให้เปล่าแก่คณะกรรมการหมู่บ้าน (ในรูปนิติบุคคล) เป็นกองทุนหมุนเวียน กองทุนละ 1 ล้านบาท แก่
หมู่บ้านต่าง ๆ จำนวน 70,865 หมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนกู้ยืมไปลงทุนประกอบอาชีพโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ ในปีนี้คาดว่าจะใช้เงินงบประมาณ 7,000 ล้านบาท
ขณะนี้ ได้มีการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2544
1.3 การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “โครงการ 30 บาท รักษาได้ทุกโรค”
เพื่อลดรายจ่ายโดยรวมของประเทศและประชาชน เริ่มโครงการนำร่องใน 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี สมุทรสาคร นครสวรรค์ พะเยา ยโสธร และยะลา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2544 สำหรับปีนี้จะใช้เงินงบประมาณจำนวนประมาณ 1,000 ล้านบาท
1.4 การปฏิรูปการจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างของข้าราชการ โดยจะปรับขึ้นเงินเดือนให้จาก
ปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2544 จะใช้เงินจำนวนประมาณ 3,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ เงินค่าใช้จ่ายที่จะนำมาใช้ในมาตรการดังกล่าวข้างต้นนั้น นำมาจากการปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2544 ของหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 11,800 ล้านบาท
2. การขยายสินเชื่อในส่วนของสถาบันการเงินภายใต้การกำกับของรัฐ
2.1 การจัดตั้งธนาคารประชาชน เพื่อกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างทางเลือกและลดการพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ มีธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการเริ่มเปิดบริการเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2544 โดยให้กู้ครั้งแรกไม่เกิน 15,000 บาท/ราย อัตราดอกเบี้ย 12 % ต่อปี
2.2 การจัดตั้งธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
โดยการปรับปรุงบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือ บอย. ให้มีสถานะเป็นธนาคาร เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการเดิมและเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการใหม่อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างและรักษาฐานการผลิต การจ้างงาน การสร้างรายได้ การส่งออก และเป็นหลักในการสร้างความเติบโตและการมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.บ. บรรษัทเงินทุนอุตสาห-กรรมขนาดย่อมเพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นธนาคารให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา
3. การจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) หรือ TAMC เพื่อบริหารสินทรัพย์
ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์และดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้ซึ่งรับโอนมา เพื่อแก้ไขปัญหา NPL ของสถาบันการเงินและให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยเงินกู้เข้าสู่ระบบได้ตามปกติ ซึ่งขณะนี้พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) หรือ TAMC ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544
4. การแก้ไขปัญหาของภาครัฐเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของประเทศ
กระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอมาตรการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก 4 มาตรการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 ดังนี้
4.1 การให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก ให้ธนาคารของรัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาในการพิจารณาวงเงินสินเชื่อแก่ผู้ส่งออก ตั้งแต่เริ่มเสนอแผนธุรกิจที่จะทำให้ได้รับคำสั่งซื้อ รวมทั้งให้อนุมัติจ่ายเงินสินเชื่อเต็มจำนวนเมื่อผู้ส่งออกนำเอกสารยืนยันการสั่งซื้อมาแสดง เช่น คำสั่งซื้อ สัญญา หรือ L/C
4.2 การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กรมสรรพากรพิจารณามาตรการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจัดซื้อวัตถุดิบภายในประเทศที่ใช้ผลิตเพื่อการส่งออก ให้ผู้ส่งออกสามารถใช้หนังสือ
ค้ำประกันของธนาคารในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้จัดทำระบบการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยการควบคุมทางบัญชีแทนการชำระเป็นเงินสด หรือจัดตั้งกองทุนเพื่อชำระภาษีและคืนภาษีแทนผู้ส่งออก
4.3 การปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ให้กระทรวงการคลังเร่งรัดดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าทั้ง 4 กลุ่ม โดยอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการส่งออกต้องไม่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น
4.4 การให้บริการด้านการส่งออกให้รวดเร็ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมวิชาการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และอื่น ๆ เปิดบริการ 24 ชั่วโมงทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ
5. การบรรเทาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด โดย ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2544 ให้ปรับปรุงภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าประเภทสุราและยาสูบให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 7,400 ล้านบาท
6. การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินลงทุนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เช่น การเร่งตรวจรับการจ้าง การแบ่งงวดงานใหม่ เพื่อเร่งการเบิกจ่ายที่เร็วขึ้น รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพฯ แห่งใหม่
7. การขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จากร้อยละ 10.0 เป็นร้อยละ 7 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ออกไปอีกจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2545 เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและสนับสนุนให้มีการขยายตัวในด้านการใช้จ่ายของภาคเอกชนไปอีกระยะหนึ่ง
8. มาตรการสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อในอสังหาริมทรัพย์ด้วยมาตรการสำคัญ คือ
8.1 มาตรการด้านภาษี
- ให้นำเงินดาวน์หรือเงินค่าซื้อทรัพย์สินมาหักค่าลดหย่อนพิเศษ
เพิ่มเติมจากค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง
- ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นสำหรับการซื้ออาคารถาวรเป็นกรณีพิเศษ
8.2 มาตรการด้านการเงิน ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้สินเชื่อในวงเงิน 100% ของราคาประเมินหรือตามราคาซื้อขาย สำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
9. มาตรการเร่งด่วนทางด้านการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการดำเนินภายใน
2 มาตรการหลัก ได้แก่
9.1 มาตรการด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่ การป้องกันและแก้ไขปัญหา
แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม การอำนวยความสะดวกในการเข้าเมือง การส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนชนบท การใช้พื้นที่ของรัฐเพื่อการท่องเที่ยว การแก้ไขปัญหาตลาดท่องเที่ยวจีน การพัฒนาบุคลากร การให้บริการ และกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นต้น
9.2 มาตรการด้านการตลาดท่องเที่ยว ประกอบด้วย การส่งเสริมเชิงรุกตลาดต่างประเทศ (การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจัด Road Show การส่งเสริมการซื้อสินค้าในประเทศไทย) การส่งเสริมไทยเที่ยวไทย และการรณรงค์การเป็นเจ้าบ้านที่ดี
ทั้งนี้ หากมาตรการนี้ดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 22,000 ล้านบาท
10. การจัดตั้งค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2545 จำนวน 58,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมรองรับหากเกิดกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวมาก ทั้งนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจมุ่งหวังให้เกิดผลทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น สามารถตอบสนองต่อนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และมีผลต่อเนื่องระยะยาวในการเพิ่มศักยภาพของคนและขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
- นอกจากมาตรการดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลยังมีมาตรการที่เริ่มดำเนินการไปพร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น คือ มาตรการระยะยาวที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การวางกรอบการทำงานเพื่อเร่งรัดการปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม การจัดให้มีกระบวนการระดับชาติในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว รวมทั้งการปฏิรูประบบการศึกษาและระบบราชการ โดยมีการวางแผนปฏิบัติและการติดตามประเมินผลอย่างเร่งด่วน
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ โทร. 281-9723, 282-6171-9 : 1176-7 โทรสาร. 82-6623--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ