ปภ.ประสานจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ ส่วนพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายให้เร่งจัดทำบัญชีความเสียหาย วางแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน

ข่าวทั่วไป Thursday August 10, 2017 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดริมลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล เฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ ส่วนจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายให้เร่งสำรวจ จัดทำบัญชีความเสียหายประเมิน ความต้องการการช่วยเหลือของผู้ประสบภัย พร้อมจัดแยกประเภทให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในเชิงพื้นที่ เพื่อรวบรวมส่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีจัดสรรงบประมาณในการช่วยเหลือ รวมถึงเน้นย้ำ ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด และประมาณการวงเงินในการช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัย ในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง แต่บางแห่งระดับน้ำทรงตัว และเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลมาสมทบ โดยเฉพาะลุ่มน้ำชี บริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และลุ่มน้ำมูล บริเวณจังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดในพื้นที่ปลายน้ำ และมีเส้นทางน้ำไหลผ่านลงสู่แม่น้ำโขง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวเฝ้าระวังระดับน้ำที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในระยะนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำ และประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตลอดจนวางแผนการระบายน้ำออกจากพื้นที่ น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เขตชุมชน โรงพยาบาล สถานที่สำคัญ แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่พิเศษ หรือพื้นที่ เชิงสัญลักษณ์ของจังหวัด ให้ปิดล้อมพื้นที่ เร่งสูบน้ำและผลักดันน้ำไปยังพื้นที่รองรับน้ำออกสู่แม่น้ำสายหลัก รวมถึงเชื่อมโยงการระบายน้ำในเขตรอยต่อระหว่างจังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ลดผลกระทบและความเสียหายจากอุทกภัย นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ปภ. ได้ประสานให้จังหวัดเร่งสำรวจ จัดทำบัญชีความเสียหาย ประเมินความต้องการการช่วยเหลือของผู้ประสบภัย พร้อมจัดแยกประเภทให้ครอบคลุม ทุกด้าน ทั้งด้านการประกอบอาชีพ ชีวิต ความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร สาธารณูปโภค และสิ่งสาธารณะประโยชน์ โดยเฉพาะด้านชีวิต ให้ตรวจสอบสถานะของผู้เสียชีวิตว่าเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือมีเด็กไร้อุปการะที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองเสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัยหรือไม่ เพื่อวางมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและดูแลอย่างเหมาะสมต่อไป สำหรับความเสียหายด้าน ที่อยู่อาศัย ให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในเชิงพื้นที่ เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีจัดสรรงบประมาณในการช่วยเหลือ นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้จังหวัดตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทดรองราชการในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมประมาณการวงเงินในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน หากไม่เพียงพอให้เสนอวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมผ่านกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย เพื่อขอขยายวงเงินทดรองราชการไปยังกรมบัญชีกลาง สำหรับใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมและทั่วถึงตามสภาพความเสียหายจริงในพื้นที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ