(ต่อ 5) บัวนา วิสต้า อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิใจเสนอภาพยนตร์แอนิเมชั่นคลาสสิคตลอดกาลของวอลท์ ดิสนีย์พิค "Beauty and the Beast "

ข่าวเทคโนโลยี Friday December 7, 2001 15:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--บัวนา วิสต้า อินเตอร์เนชั่นแนล
บุกเบิกเทคโนโลยีสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์
เมื่อครั้งออกฉายในปี 1991 นั้น Beauty and the Beast ได้รับการยกย่องในฐานะผู้บุกเบิกเทคนิค CGI (computer generated imagery) เพราะแม้ดิสนีย์จะเคยนำคอมพิวเตอร์มาใช้กับหนังแอนิเมชั่นก่อนหน้านี้อย่าง The Black Cauldron (1985), The Great Mouse Detective (1986) และ Oliver & Company (1988) มาแล้ว แต่ Beauty นับเป็นเรื่องแรกที่ศิลปะกับเทคโนโลยีได้รับการผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียนจนให้ผลน่าทึ่ง ซีจีแอนิเมชั่นอาจจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ฉากเต้นรำใน Beauty and the Beast ก็ยังคงถือเป็นก้าวสำคัญที่น่าจดจำประทับใจอยู่นั่นเอง
การสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์หรือ Computer generated imagery เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในหลายๆช่วงของหนัง โดยที่เด่นชัดที่สุดก็คือ การสร้างภาพแบ๊คกราวด์ 3 มิติของห้องเต้นรำในฉากเพลง "Beauty and the Beast" ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนกล้องเต็มที่ตามตัวละครขณะกำลังเต้นรำและตกอยู่ในภวังค์รัก หน่วยข้อมูลของภาพห้องเต้นรำนี้ต้องใช้ซอฟต์แวร์จำลองแบบของ Alias Research, Inc., ใช้โปรแกรมเคลื่อนกล้องชื่อ "Preview" ของ Wavefront, เรนเดอร์โดยซอฟต์แวร์ Renderman ของ Pixar และภาพสุดท้ายก็จะถูกนำไปคำนวณโดย Silicon Graphics Computer Systems
จิม ฮิลลิน ผู้ดูแลด้านงานศิลป์ CGI อธิบายว่า "แบ๊คกราวด์ในฉากเต้นรำนี้จะเป็นทั้งภาพวาดและภาพที่มิติครบถ้วน ซึ่งหมายความว่า ตัวแบ๊คกราวด์จะมีการเคลื่อนไหวไปจริงๆและแอนิเมเตอร์ก็จะต้องทำการวาดลงไปแบบเดียวกับที่เคยทำกันในหนังคนผสมการ์ตูนเรื่อง Who Framed Roger Rabbit วิธีนี้ทำให้เราสามารถเคลื่อนกล้องและสร้างมิติของภาพได้อย่างหวือหวา ขณะที่ก็สามารถจัดแสงแบบโรงละครได้ด้วย นี่เป็นการนำเทคนิคของหนังคนแสดงเข้าสู่โลกแอนิเมชั่น ในฉากนี้กล้องมีบทบาทสำคัญในการแสดงอารมณ์และช่วยให้เราซึมซับความรู้สึกของตัวละครได้เป็นอย่างดี"
"ฉากเต้นรำเป็นฉากสำคัญของหนังเพราะตัวละครนำทั้งสองเริ่มเข้าถึงกันและกัน" ผู้อำนวยการสร้าง ดอน ฮาห์น กล่าว "สำหรับคนทำหนังอย่างเราแล้ว คอมพิวเตอร์ช่วยให้เราขับเน้นอารมณ์บนจอและเพิ่มผลทางดราม่าได้มากกว่าวิธีปกติที่เราเคยใช้กัน เราสามารถเคลื่อนกล้องไปรอบๆและเห็นห้องจนทั่วแทนที่จะได้แต่มองภาพแบนๆธรรมดาๆ โดยภาพรวมแล้วเทคโนโลยีจึงช่วยขยายศักยภาพของนิ้วมือ, มือและความคิดของเรา คอมพิวเตอร์กราฟฟิคส์ช่วยให้เราก้าวไปได้ไกลกว่าที่เคยทำได้ด้วยดินสอกับกระดาษหรือสีกับแปรงเพียงอย่างเดียว"
ฉากห้องเต้นรำนี้ถูกสร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์ด้วยฝีมือของศิลปิน, แอนิเมเตอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์ที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับทีมเลย์เอาต์, กำกับศิลป์และทำแบ๊คกราวด์ จากภาพสเก็ตช์คร่าวๆห้องจะถูกกำหนดโครงสร้างและขนาดให้สูงจากพื้นจรดเพดาน 72 ฟุต, ยาวจากประตูหนึ่งถึงอีกประตูหนึ่ง 184 ฟุต และกว้าง 126 ฟุต มีหน้าต่างบนผนังโดยรอบรวม 28 บานและมีโดมขนาด 86 ฟุตคูณ 61 ฟุต ภายในโดมเป็นภาพวาดด้วยมือซึ่งถูกนำไปปะติดบนพื้นผิวด้วยคอมพิวเตอร์
ทีมคอมพิวเตอร์กราฟฟิคส์ยังมีบทบาทสำคัญในฉากเพลง "Be Our Guest" ด้วยการใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้สร้างภาพโคมระย้ากับส้อมนักเต้นระบำแคนแคน และภาพจาน ถ้วย ฟองน้ำแด๊นเซอร์อีกนับร้อย โดยองค์ประกอบเหล่านี้จะถูกนำไปรวมเข้ากับภาพตัวละครวาดมือตามวิธีปกติและเอฟเฟ็กต์ต่างๆจนกลายมาเป็นฉากที่ทั้งสวยงามและสนุกสนานไม่เหมือนใคร ขณะที่ภาพรถเข็นหญ้าแห้ง, เกวียน, แกรนด์เปียโนยุคคลาสสิคบาโร้กศตวรรษที่ 18 และหน้ากระดาษในหนังสือซึ่งปรากฏอยู่ในฉากอื่นๆของหนังก็ล้วนวาดขึ้นด้วยกระบวนเดียวกัน
"วัตถุประสงค์หลักของ CGI ก็คือสร้างและวาดสิ่งต่างๆบนคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยขยายขอบเขตของศิลปะการวาดด้วยมือนั่นเอง" ฮิลลินอธิบาย "ความท้าทายยิ่งใหญ่ที่สุดของเราคือ การผสมผสานทั้งสองวิธีให้มันไปด้วยกันได้ เพราะถ้าเราสร้างภาพที่สมจริงเกินไปหรือทัศนียภาพที่สมบูรณ์แบบเกินไป มันก็ย่อมเข้ากันไม่ได้กับส่วนอื่นๆของหนัง"
ทีมผู้สร้าง
โฮเวิร์ด แอชแมน (ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร, ผู้ประพันธ์เนื้อเพลง)
เขาเป็นผู้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมโหฬารให้แก่วงการหนังแอนิเมชั่นด้วย The Little Mermaid หลังจากสร้างสมชื่อเสียงมาก่อนแล้วทั้งจากการเป็นผู้แต่งอุปรากรแนวขบขัน, แต่งเพลง, เขียนบทละครและเป็นผู้กำกับ แม้เขาจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับเมื่อเดือนสิงหาคมปี 1991 แต่ก็ยังทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่อโลกดนตรีและวงการบันเทิงด้วยหนังแอนิเมชั่นดิสนีย์ 3 เรื่องที่เขาทำไว้ (The Little Mermaid, Beauty and the Beast, Aladdin) และผลงานน่าจดจำในแวดวงละคร (Little Shop of Horrors และการดัดแปลง Beauty and the Beast ไปเป็นละครบรอดเวย์ซึ่งเปิดแสดงหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว)
แอชแมนผู้เป็นเจ้าของหลายรางวัลออสการ์ ได้ร่วมกับ อลัน เมนเคน ในการสร้างนิยามใหม่และปลุกชีวิตให้แก่หนังเพลง ทั้งยังสร้างตำนานในด้านนี้ที่จะคงอยู่ตลอดกาลด้วย โดยในตอนจบของ Beauty and the Beast มีการมอบคำอุทิศแด่ โฮเวิร์ด แอชแมน ผู้ "มอบเสียงที่แท้จริงให้แก่เงือกน้อยและมอบวิญญาณให้แก่อสูร" นอกจากนั้น เขายังเป็นผู้ช่วยให้ยักษ์จีนี่กลายเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยมนต์ขลังและความชาญฉลาด อีกทั้งมีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างฉากเพลงที่น่าอัศจรรย์ใจหลายๆฉากไว้ด้วย
แอชแมนเป็นชาวบัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ จบการศึกษาจาก Goddard College แล Boston University ก่อนจะได้รับ MFA จาก Indiana University เขาย้ายไปยังนิวยอร์คในปี 1974 และทำงานให้ Grosset and Dunlap โดยในระหว่างนั้น เขาก็เริ่มเขียนบทละครซึ่งผลงานในระยะแรกๆมีอาทิ Cause Maggie's Afraid of the Dark, The Confirmation และ Dreamstuff ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นเพลงของเรื่อง The Tempest โดยจากงานชิ้นนี้เองที่นำพาให้เขาได้เข้าไปร่วมงานกับโรงละครนอกบรอดเวย์ชื่อ WPA ซึ่งเขารับตำแหน่งผู้กำกับฝ่ายศิลป์นับแต่ทางโรงเปิดตัวใหม่ในปี 1977 จนถึงปี 1982
ปี 1978 แอชแมนมองหาคอมโพสเซอร์มือดีเพื่อชวนมาร่วมงานกันใน ละครเพลงที่ดัดแปลงจากเรื่อง God Bless You, Mr. Rosewater ของ เคิร์ต วอนเนกัต โดย เลห์แมน เอนเกล วาทยากรชื่อดังแห่งบรอดเวย์ซึ่งสอนเวิร์คช็อปละครเพลงที่ BMI ในขณะนั้น แนะนำเขาให้รู้จักกับ อลัน เมนเคน และทั้งสองก็เข้ากันได้อย่างรวดเร็ว จนฤดูใบไม้ผลิถัดมา ละครเรื่องนี้ก็เสร็จสิ้นและเปิดแสดงในโรงละคร WPA
ผลงานร่วมกันของทั้งคู่เรื่องต่อมาคือ Little Shop of Horrors เวอร์ชั่นละครเพลงที่ดัดแปลงจากหนังคัลต์ของ โรเจอร์ คอร์แมน ซึ่งสามารถคว้ารางวัลจากเวที New York Drama Critics Circle Award สาขาละครเพลงยอดเยี่ยมประจำปี 1982 - 83 ได้สำเร็จ และละครที่แอชแมนรับหน้าที่ทั้งแต่งคำร้องและกำกับเองด้วยนี้ยังสร้างสถิติเปิดฉายยาวนานที่สุดเป็นอันดับสามและทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ของละครนอกบรอดเวย์ ครั้นเมื่อไปเปิดแสดงในลอนดอนก็สามารถคว้ารางวัล Evening Standard Award ในสาขาละครเพลงยอดเยี่ยมอีกด้วย
ปัจจุบัน ละครเพลงเรื่อง Little Shop of Horrors มีการเปิดแสดงทั่วโลก และเป็นละครที่มีการสร้างกันมากที่สุดในระดับไฮสคูลทั่วอเมริกา (เช่นเดียวกับเรื่อง Our Town) และในปี 1986 หนังเวอร์ชั่นกำกับโดย แฟรงค์ อ๊อซ ก็ออกฉายโดยเพลง "Mean Green Mother from Outer Space" ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์
ผลงานของแอชแมนทั้งในฐานะนักแต่งอุปรากร, แต่งเพลงและบทละครเรื่องนี้ยังคงมีแสดงอยู่ที่ Arena Stage ในวอชิงตัน, Manhattan Theater Club, the O'Neill Center's Composer/Librettists' Conference, WPA, โรงละครนอกบรอดเวย์, ในลอนดอน, ลอสแอนเจลิส และการเดินสายแสดงทั่วประเทศ ในปี 1987 เขาเริ่มกำกับละครบรอดเวย์เป็นครั้งแรกใน Smile ซึ่งเขารับหน้าที่เขียนเนื้อเพลง (ให้กับดนตรีที่ มาร์วิน แฮมลิสช์ ทำไว้) และเขียนบทด้วย ซึ่งผลงานชิ้นนี้ทำให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโทนี่่
ในปี 1986 แอชแมนเข้าร่วมงานกับดิสนีย์โดยเป็นผู้แต่งเนื้อเพลงและบทพูดให้กับ The Little Mermaid พร้อมรับหน้าที่ร่วมอำนวยการสร้างกับ จอห์น มัสเคอร์ ผลงานชิ้นนี้ทำให้เขาได้รับทั้งรางวัลออสการ์ (สาขาเพลงยอดเยี่ยม "Under the Sea"), รางวัลลูกโลกทองคำและอีกสองรางวัลแกรมมี่ ความสำเร็จเช่นนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1991 กับผลงานเลื่องชื่อของดิสนีย์อย่าง Beauty and the Beast ซึ่งแอชแมนเป็นผู้แต่งเนื้อร้องเพลงใหม่ 6 เพลงและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารด้วย เพลงชื่อเดียวกับหนังคือ "Beauty and the Beast" ทำให้เขาชนะรางวัลออสการ์ตัวที่สอง เช่นเดียวกับรางวัลลูกโลกทองคำตัวที่สอง ขณะที่อีก 2 เพลงในเรื่องคือ "Belle" กับ "Be Our Guest" ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เช่นกัน
ดอน ฮาห์น (ผู้อำนวยการสร้าง)
เป็นผู้ช่วยสร้าง "มนตร์มายาแห่งแอนิเมชั่น" แก่ดิสนีย์มานานถึง 25 ปี เขาเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้างหนังแอนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดและผลงานของเขาก็สามารถทำรายได้จากทั่วโลกเกือบ 2 พันล้านดอลล่าร์ ทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 17 ตัว หนังจากการสร้างของเขาอาทิ Beauty and the Beast, The Lion King, The Hunchback of Notre Dame และ Who Framed Roger Rabbit นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่ในแวดวงแอนิเมชั่นของดิสนีย์และยังช่วยให้นิยามแก่ทิศทางใหม่อันน่าตื่นเต้นในงานด้านดังกล่าวของสตูดิโอนี้ด้วย ล่าสุด ฮาห์นรับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารให้แก่หนังแอนิเมชั่นแนวตลกประจำปี 2000 เรื่อง The Emperor's New Groove และเป็นผู้อำนวยการสร้างแอนิเมชั่นปี 2001 เรื่อง Atlantis: The Lost Empire
ฮาห์นเริ่มงานในดิสนีย์ตั้งแต่ปี 1976 เขารับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้างของแอนิเมชั่นระดับปรากฏการณ์ปี 1991 เรื่อง Beauty and the Beast โดยเป็นผู้นำของทีมศิลปินกว่า 600 ชีวิตและช่วยทำให้งานชิ้นนี้กลายเป็นแอนิเมชั่นเรื่องแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผลงานอำนวยการสร้างลำดับถัดมาของเขาคือแอนิเมชั่นทำรายได้ถล่มทลายประจำปี 1994 เรื่อง The Lion King ซึ่งทำลายสถิติบ๊อกซ์ออฟฟิศทั่วโลกและกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดในประวัติศาสตร์ดิสนีย์ ทั้งยังติดอันดับท็อปไฟว์หนังทำเงินของอเมริกาอีกด้วย ขณะที่การรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้างในหนังแฟนตาซีสุดสร้างสรรค์ค่ายทัชสโตนพิคเจอร์สปี 1988 เรื่อง Who Framed Roger Rabbit ของเขาก็นับเป็นการมีส่วนร่วมในหนังเรื่องสำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่ง
ฮาห์นเกิดในอิลลินอยส์และไปเติบโตในเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ความสนใจในแอนิเมชั่นและดนตรีเริ่มพอกพูนขึ้นในตัวเขาตั้งแต่ยังเยาว์วัย ระหว่างการเรียนในไฮสคูล เขาเป็นหนึ่งในสมาชิกของวง Los Angeles Junior Philharmonic และไปศึกษาต่อด้านดนตรีกับศิลปะที่ Cal State Northridge โดยฝันอยากเป็นนักดนตรีออร์เคสตร้ามืออาชีพ ก่อนจะมีโอกาสได้มาร่วมงานกับวอลท์ดิสนีย์สตูดิโอส์ในปี 1976 และเริ่มอาชีพด้านนี้ด้วยแอนิเมชั่นเรื่อง Pete's Dragon จากนั้นฮาห์นก็ได้ร่วมงานกับแอนิเมเตอร์-ผู้กำกับระดับตำนานของดิสนีย์อย่าง วูลฟ์แกง 'วูลลี่' ไรเธอร์แมน โดยรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับใน The Fox and the Hound (1981) ตามด้วยตำแหน่งเดียวกันในแอนิเมชั่นเรื่อง Mickey's Christmas Carol ซึ่งได้เข้าชิงออสการ์ในปี 1983
ฮาห์นยังมีผลงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตของแอนิเมชั่นเรื่อง The Black Cauldron (1985) กับ The Great Mouse Detective (1986) และเป็นผู้อำนวยการสร้าง Michael and Mickey หนังสั้นซึ่งผสมผสานแอนิเมชั่นกับหนังคนแสดงจริงเข้าด้วยกันสำหรับเปิดฉายที่ดิสนีย์-เอ็มจีเอ็มสตูดิโอส์ในฟลอริด้า
ปี 1987 ฮาห์นย้ายไปยังลอนดอนเพื่อใช้เวลา 2 ปีในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้างร่วมกับ ริชาร์ด วิลเลี่ยมส์ ผู้กำกับฝ่ายแอนิเมชั่นของ Who Framed Roger Rabbit และเขากลับมาร่วมงานกับเจ้าตัวการ์ตูนกระต่ายจอมซ่านี้อีกหนเมื่อรับหน้าที่อำนวยการสร้างหนังสั้นเรื่องแรกของเขาคือ Tummy Trouble
นอกเหนือจากความสำเร็จมากมายในฐานะคนทำหนังแล้ว ฮาห์นยังเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม อาทิ Disney's Animation Magic: A Behind the Scenes Look at How an Animated Film is Made ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำหนังแอนิเมชั่น หนังสือเล่มล่าสุดของเขาคือ Dancing Corndogs in the Night ผลงานอ่อนโยนที่ว่าด้วยการตื่นขึ้นอีกครั้งของจิตวิญญาณสร้างสรรค์ ตีพิมพ์ในปี 1999
ปัจจุบัน ฮาห์นกับ เดนิส ภรรยาของเขาและ เอมิลี่ ลูกสาว อาศัยอยู่ในเกลนเดล รัฐแคลิฟอร์เนีย
แกรี่ ทรูสเดล (ผู้กำกับ)
เริ่มงานกำกับในผลงานแฟนตาซีเพลงระดับรางวัลออสการ์เรื่อง Beauty and the Beast เป็นเรื่องแรก ตามด้วย The Hunchback of Notre Dame และ Atlantis: The Lost Empire เขามีส่วนร่วมในการสร้างหนังแอนิเมชั่นของดิสนีย์มากว่า 16 ปีและทำงานหลากหลายด้านตั้งแต่เป็นเอฟเฟ็กต์แอนิเมเตอร์ ไปจนถึงผู้ดูแลด้านเรื่องราวและผู้กำกับ โดยเขาเริ่มงานกับดิสนีย์ในเดือนพฤษภาคม ปี 1984
ทรูสเดลเกิดที่ลา เครสเซนต้า รัฐแคลิฟอร์เนีย เขารักการ์ตูนมาตั้งแต่ยังเด็กๆและยังสร้างสมุดพลิกภาพเคลื่อนไหว (flip book) ตอนเรียนเกรดสี่เท่านั้น ระหว่างการศึกษาในไฮสคูลเขาฝันอยากเป็นสถาปนิก แต่เมื่อโชคชะตาชักพาให้ได้พบกับตัวแทนจาก CalArts ขณะเรียนไฮสคูลปีสอง (สถาบันสอนแคแร็คเตอร์แอนิเมชั่นในวาเลนเซีย รัฐแคลิฟอร์เนียที่ดิสนีย์ให้การสนับสนุน) เขาก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะหันมาเอาดีกับวงการแอนิเมชั่นแทน เขานำผลงานทั้งวาดและระบายสีไปสมัครเรียนที่นั่นและก็ประสบความสำเร็จ
หลังจากใช้เวลาเรียนที่ CalArts 3 ปี ทรูสเดลก็ยึดอาชีพแอนิเมเตอร์ จนกระทั่งในปี 1982 เขาเข้าทำงานใน Carter/Mendez Productions โดยรับผิดชอบทั้งการวาด, ออกแบบและทำสตอรี่บอร์ดในหนังทางโทรทัศน์หลายเรื่องอยู่หนึ่งปี ก่อนไปทำงานให้ Grand American Fare โดยเป็นผู้วาดภาพประกอบและทำรายการอาหารของร้านอาหาร, ใบปลิวสำหรับโอกาสพิเศษ และเสื้อยืด
ทรูสเดลเริ่มร่วมงานกับดิสนีย์ในตำแหน่งผู้ช่วยด้านเอฟเฟ็กต์ของ The Black Cauldron (1985) และทำเอฟเฟ็กต์เพิ่มเติมให้กับหนังคนแสดงของทางสตูดิโอเรื่อง My Science Project โดยรับหน้าที่ผู้ช่วยและแอนิเมเตอร์ฝ่าย Clean-up ในระหว่างนั้นเขายังมีผลงานการ์ตูนตลกสั้นๆที่แสดงอารมณ์ขันร้ายๆซึ่งได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นทุกทีและในที่สุดก็ทำให้เขามีโอกาสได้เข้าร่วมทีมพัฒนาเรื่องในแผนกแอนิเมชั่นขนาดยาว ซึ่งตำแหน่งนี้ทำให้เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับหนังโด่งดังถึง 3 เรื่องคือ Oliver & Company, The Little Mermaid และ The Rescuers Down Under นอกจากนั้น เขายังฝากฝีมือไว้ในงานด้านเรื่องราวและออกแบบของคอมพิวเตอร์แอนิเมชั่นขนาดสั้นระดับรางวัลของดิสนีย์คือ Oilspot and Lipstick รวมถึงเป็นผู้พัฒนาเรื่องราวของ The Prince and the Pauper, Aladdin และอื่นๆ (เช่น Goofy of the Apes กับ Mickey's Halloween) ด้วย
ปี 1989 ทรูสเดลกับ เคิร์ค ไวส์ เพื่อนร่วมงานของเขาจาก Beauty มาแท็กทีมกันเป็นครั้งแรกในตำแหน่งผู้กำกับของ Cranium Command แอนิเมชั่นความยาว 4 นาทีที่ใช้ฉายก่อน Wonders of Live ที่เอปค็อต โดยทั้งคู่เคยทำงานด้วยกันมาแล้วเมื่อครั้งร่วมพัฒนาฉากในหนังสั้นชุด โรเจอร์ แร็บบิต
หลังความสำเร็จของ Beauty ทรูสเดลก็เข้าไปร่วมงานกับทีมเรื่องของ The Lion King ตามด้วย Hunchback
ปัจจุบัน ทรูสเดลกับ จิลล์ ภรรยาของเขาซึ่งเป็นศิลปินด้านเลย์เอาต์และสตอรี่สเก็ตช์ อาศัยอยู่ในซานเฟอร์นานโดแวลลี่ กับลูกชายทั้งสองคือ นาธาน กับ แคลวิน
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ