วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ชี้ค่าใช้จ่ายสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพ ที่สูงขึ้นในไทย ยังน่าห่วง

ข่าวทั่วไป Monday September 4, 2017 09:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--แฟรนคอม เอเชีย - ค่าใช้จ่ายสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพในเอเชียแปซิฟิก ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ - ค่าใช้จ่ายสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพในไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 ในปี 2559 และคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 9.2 ในปี 2560 - ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นยังคงมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ การใช้บริการและการรักษาที่มากเกินความจำเป็น จากรายงานผลสำรวจประจำปีเกี่ยวกับแนวโน้มทางการแพทย์ทั่วโลกประจำปี 2560 2017 Willis Towers Watson Global Medical Trends Survey ซึ่งสำรวจบริษัทประกันด้านสุขภาพโดยวิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน (NASDAQ: WLTW) บริษัทที่ปรึกษา โบรกเกอร์ และโซลูชั่นส์ชั้นนำระดับโลก ระบุว่า ค่าใช้จ่ายสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพที่นายจ้างจัดสรรให้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องโดยมีสัญญาณลดลงเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ เหล่าบริษัทประกันให้เหตุผลว่า เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ อัตราการใช้บริการและการรักษาที่มากเกินความจำเป็น ผลสำรวจพบว่า บริษัทประกันด้านสุขภาพในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมของสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ในปีนี้ ขณะที่ผลสำรวจทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 7.8 ในเอเชีย ประเทศอินเดีย (ร้อยละ 20) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 11) และมาเลเซีย (ร้อยละ 15) มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายมากกว่าประเทศอื่น ขณะที่ประเทศไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาค นอกจากนี้ ภาพรวมเกี่ยวกับการควบคุมค่าใช้จ่ายในระยะสั้นยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น บริษัทประกันครึ่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่า แนวโน้มของค่าใช้จ่ายทางการแพทย์จะมีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นมากในอีกสามปีข้างหน้า เมื่อถามถึงปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของ นายจ้างและบริษัทประกัน เกือบสามในสี่ (ร้อยละ 71) ระบุว่าเป็นผลมาจากต้นทุนที่สูงของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ตามด้วยผลประโยชน์ของสถานพยาบาล (ร้อยละ 47) และบริษัทประกันเกือบสามในสี่ (ร้อยละ 73) ระบุว่า การรักษาที่มากเกินจำเป็นเนื่องจากแพทย์แนะนำบริการที่มากเกินไป เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ฉุดให้ค่าใช้จ่ายซึ่งเกี่ยวเนื่องกับ พฤติกรรมของลูกจ้างและสถานพยาบาล สูงขึ้น และเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 46) กล่าวว่า มีการใช้บริการดูแลสุขภาพที่มากเกินไปเพราะลูกจ้างเลือกใช้บริการที่ไม่ถูกต้อง "การควบคุมค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงขึ้นเป็นสิ่งที่เร่งด่วนมากที่สุดสำหรับบริษัทประกันและนายจ้างในเอเชีย ซึ่งนายจ้างต้องรับมือกับหลายปัจจัยที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ เช่น ปัจจัยจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือหน่วยงานบริการทางการแพทย์ภาคเอกชนที่ขาดการควบคุม" เซดริค ลัว ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพและสวัสดิการ ประจำภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเชีย บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสันกล่าว "แม้การแก้ปัญหาการลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพจะมีความคืบหน้าก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ก็ยังคงดิ้นรนหากลยุทธ์เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายต่อไป" รับมือเทรนด์การรักษาทางการแพทย์ นายจ้างจำนวนมากขึ้นกำลังดำเนินวิธีการตามแบบแผนดั้งเดิมและวิธีการใหม่ๆ ในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยผลสำรวจพบว่า การกำหนดให้มีการอนุมัติล่วงหน้าสำหรับการบริการผู้ป่วยในที่มีการนัดหมายไว้ก่อนแล้วในเบื้องต้น การกำหนดขอบเขตของบริการทางการแพทย์บางประเภท และการใช้เครือข่ายสถานพยาบาลที่ทำสัญญาไว้ เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการช่วยบริหารจัดการค่าใช้จ่าย "ในปี 2559 บริษัทจำนวนมากในไทยมีค่าใช้จ่ายสวัสดิการด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก" คริส เมย์ส ผู้อำนวยการฝ่ายสุขภาพและสวัสดิการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย กล่าว "สิ่งนี้สะท้อนอยู่ในอัตราที่เพิ่มขึ้นของเทรนด์การรักษาทางการแพทย์ โดยบริษัทประกันในไทยรายงานว่า อัตราการเพิ่มขึ้นที่แท้จริงในปี 2559 (ร้อยละ 11.4) สูงกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปีเดียวกัน (ร้อยละ 10.8) "เพื่อทำความเข้าใจและพยายามที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ นายจ้างควรเข้าใจว่าปัจจัยอะไรที่เป็นตัวเร่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้สูงขึ้น จากนั้นก็คิดหาทางแก้ปัญหาต่อไป" เมย์ส กล่าว "หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาก็คือพิจารณาว่าสวัสดิการควรมีรูปแบบอย่างไรและจะส่งมอบให้ลูกจ้างอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น บริษัทประกันพยายามที่จะกลับมาควบคุมและลดความไม่แน่นอนของค่าใช้จ่ายลง ด้วยการกำหนดขอบเขตของบริการหรือต้องผ่านการอนุมัติในเบื้องต้นก่อน เป็นเรื่องที่ดีว่าวิธีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอันดับต้นๆ ที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพ สามารถช่วยระบุว่าอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นค่าใช้จ่ายให้เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่นายจ้างจะต้องผลักดันเหล่าพันธมิตรบริษัทประกันอย่างต่อเนื่องให้มีโครงสร้างและการส่งมอบสวัสดิการด้านการแพทย์ที่มีองค์ประกอบเหล่านั้น" สุขภาพที่แข็งแรง อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของปัญหา โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันเกือบ 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจ (ร้อยละ 65) ให้บริการการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพแบบรายบุคคล (ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านพันธมิตร) และอีกร้อยละ 10 มีแผนจะให้บริการนี้เช่นกันในปีหน้า ขณะที่ร้อยละ 49 มีบริการการขอความคิดเห็นที่สองทางการแพทย์ (Second medical opinions) และร้อยละ 18 มีแผนจะให้บริการนี้เช่นกัน นอกจากนี้ เกือบ 6 ใน 10 (ร้อยละ 57) ของบริษัทประกันก็มีบริการโปรแกรมให้ความรู้ด้านสุขภาพและไลฟ์สไตล์ ซึ่งคาดว่าบริการนี้จะเติบโตเกือบร้อยละ 79 ในปีหน้า "โปรแกรมเพื่อสุขภาพที่ดีอาจช่วยแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้ เพราะโปรแกรมนี้ไม่เพียงแค่ช่วยระบุโรคที่ไม่ติดต่อได้เท่านั้น แต่ยังสามารถระบุโรคซึ่งมีสาเหตุมาจากไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างในภูมิภาคเอเชีย เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และการขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ" ลัว กล่าว "ในขณะที่โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพของผู้ตอบแบบสำรวจยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เราก็เชื่อว่าบริษัทประกันสามารถทำงานร่วมกับนายจ้างอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อที่จะเข้าใจความเสี่ยงด้านสุขภาพของลูกจ้างและวิธีการที่ลูกจ้างจะสะดวกใช้โปรแกรมสุขภาพดังกล่าว และมีระบบตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพและรายงานที่มีมาตรฐาน" ข้อค้นพบอื่นๆ จากผลสำรวจนี้ ได้แก่ • โรคไม่ติดต่อ บริษัทประกันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผยว่า โรคมะเร็ง (ร้อยละ 82) โรคหลอดเลือดหัวใจ (ร้อยละ 72) รวมถึงความเจ็บป่วยของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก/หลัง (ร้อยละ 44) เป็นสามโรคหลักที่มีการขอรับสินไหมทดแทนมากที่สุด • การมีข้อมูลที่ดีและนำไปใช้อย่างถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทรับมือกับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงขึ้น ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะได้รับคำขอเพื่อขอรับค่าสินไหมทดแทนที่ไม่แสดงรายละเอียดมากนักหรือแสดงเพียงสาเหตุหรืออาการ 10 อันดับแรก • การจัดการความเครียด เนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับความเครียดของลูกจ้างยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทประกันร้อยละ 61 ทั่วโลกจึงได้รวมเอาการบำบัดรักษาสุขภาพจิตและความเครียดไว้ในแผนประกันสุขภาพมาตรฐานของบริษัทด้วย ขณะที่บริษัทประกันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพียงร้อยละ 36 เท่านั้นที่เสนอแผนสุขภาพดังกล่าว โดยประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ยังไม่มีแผนประกันที่ครอบคลุมเรื่องสุขภาพจิตเอาไว้ แต่ข่าวดีคือ บริษัทร้อยละ 7 เผยว่า ได้เตรียมพร้อมที่จะให้บริการแผนประกันสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเครียดในอีก 12 เดือนข้างหน้า
แท็ก เอเชีย   ว่าน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ