SACICT หนุนคนรุ่นใหม่สืบสานงานเครื่องมุกผ่าน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม

ข่าวทั่วไป Friday September 8, 2017 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ งานศิลปหัตถกรรมไทยนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาอย่างยาวนาน พบได้ทั่วไปในสิ่งของ เครื่องใช้ ซึ่งล้วนแล้วเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตตามสภาพแวดล้อมต่างๆ งานศิลปหัตถกรรมไทยจึงเป็นดังกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละยุคสมัย เป็นตัวบอกเล่าประวัติศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในกลุ่มชนต่างๆ ทำให้เห็นคุณค่าของงานศิลปหัตถกรรมไทย ในมุมมองที่แตกต่างออกไป เช่น ด้านประโยชน์ใช้สอย ด้านความเชื่อและค่านิยม ด้านคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ด้านคุณค่าความเป็นเอกลักษณ์ของสังคมวัฒนธรรม ด้านคุณค่าความงาม และด้านคุณค่าทางเศรษฐกิจ SACICT หรือศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ในฐานะเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ และอนุรักษ์สืบสานคุณค่าศิลปหัตถกรรมไทย รวมทั้งต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่สากล เพื่อให้ชุมชนกินดีอยู่ดี อย่างยั่งยืน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ฟื้นฟูงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่า ซึ่งเป็นเสมือนผลผลิตของชาติที่มีคุณค่าควรรักษามิให้เสื่อมสลายและสืบทอดให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่ชนรุ่นหลัง จึงสานต่อโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมในวัฒนธรรมร่วม (Cross Cultural Crafts) เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ในปีนี้จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด "Revival of the Forgotten Heritage หรือการฟื้นฟูมรดกศิลป์ ภูมิปัญญาที่ถูกลืม" ประเภทงานเครื่องมุก ซึ่งเป็นหนึ่งในงานศิลปหัตถกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่กำลังจะสูญหาย SACICT จึงได้นำช่างเครื่องมุกไทยและช่างมุกของสาธารณรัฐเกาหลีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันเพื่อพัฒนาต่อยอดและพัฒนางานเครื่องมุกร่วมกัน เกษมสันต์ ยอดสง่า หนึ่งในนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ผู้หลงใหลงานเครื่องมุกไทยตั้งแต่เป็นนักศึกษาปี 2 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนนั้นมหาวิทยาลัยมีโครงการให้นักศึกษาไปดูงานที่วิทยาลัยวังชาย ก็ได้ไปดูงานช่างสิบหมู่ จึงเกิดความประทับใจในงานช่างประดับมุกมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นจากนั้นเป็นต้นมา เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาทัศนศิลป์ เอกศิลปะไทย เมื่อปี พ.ศ. 2556 และได้เข้ารอบสิบคนสุดท้ายจากงาน Innovative Craft Award 2017 เป็นงานที่ใช้แผ่นซีดีมาประยุกต์เป็นงานเครื่องมุก จากเวทีซึ่งจัดโดย SACICT เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จนกระทั่งงานล่าสุดได้เป็นหนึ่งในตัวแทนจากประเทศไทยที่ได้เดินทางไปศึกษาดูงานลงรักประดับมุกที่สาธารณรัฐเกาหลี และได้รับแรงบันดาลใจจาก มร.คิม ยัง จุน ( Kim Young Jun) และ นางลี เย จิน (Mrs. Lee Yei Jin) ครูช่างงานลงรักประดับมุกของสาธารณรัฐเกาหลี นับเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับช่างมุกไทยเป็นอย่างดี "ปกติสร้างงานจากการดูงานเทคนิคช่างมุกของไทย หลังจากที่ได้เดินทางไปดูงานประดับมุกที่เกาหลี ได้เรียนรู้วัฒนธรรม ความเชื่อ เทคนิค และวัสดุต่างๆ จนเขาพัฒนาเป็นงานประดับมุกของเกาหลี ทำให้เราเห็นงานช่างมุกไทยและงานช่างมุกเกาหลี ทำให้เรามีมุมมองกว้างกว่าเดิม หลังจากนั้นก็กลับมาสร้างงาน 3 ชิ้น แต่ละชิ้นใช้เวลาในการฉลุลายบนแผ่นซีดีเกือบเดือน เป็นเครื่องประดับมุกบนเก้าอี้ แต่เราไม่ได้เอามานั่ง เราติดตั้งบนผนัง ทำให้เป็นเครื่องประดับมุกฝาผนังได้อย่างสวยงามและลงตัว" นักสร้างสรรค์รุ่นใหม่คนนี้ สร้างสรรค์ผลงานจากความเชื่อและจินตนาการของตัวเอง " ผมเชื่อว่าโลกใบนี้มีวัฒนธรรมที่หลากหลายอยู่มากมาย การที่เราได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หรือการข้ามศาสตร์ต่างๆ จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น "ขอบคุณ SACICT ที่ให้โอกาสได้เรียนรู้ ได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เหมือนเป็นการเปิดมุมมองใหม่ให้กับการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยของเราต่อไป" เกษมสันต์ กล่าวเสริมว่า " จาการเข้าร่วมโครงการฯ ได้ไปดูงานที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี 3 วัน ที่เมืองไทย 3 วัน ได้ไปเรียนรู้งานเครื่องมุกที่บ้านครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม พ.ศ. 2558 และบ้านครูแดง แจ่มจันทร์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม พ.ศ. 2559 (งานลงรักประดับมุก) และครูเสน่ห์ แจ่มจิรารักษ์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน พ.ศ.2552 ได้ไปเรียนรู้ของจริงของครูหลายๆ ท่าน ทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำงานเครื่องมุกในรูปแบบอื่นๆ มากขึ้น" SACICT เป็นอีกหน่วยงานที่จะช่วยสานความฝันของคนรุ่นใหม่ที่รักในงานเครื่องมุกที่กำลังจะสูญหายให้ได้รับการพัฒนาให้เป็นงานที่สร้างรายได้และต่อยอดนำมาใช้ได้กับวิถีชีวิตประจำวันในเร็ววันนี้
แท็ก ICT  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ