มธ. ผนึกธ.กรุงเทพ ติดปีกสตาร์ทอัพเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมสร้าง “อีโคซิสเต็ม” สมบูรณ์แบบ นำร่องส่งเสริม 6 กลุ่มสตาร์ทอัพรับยุทธศาสตร์ชาติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 19, 2017 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยกระดับ "อีโคซิสเต็มนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย" สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเกิดธุรกิจที่มีนวัตกรรมเป็นหัวใจหลัก ผ่านความร่วมมือของสถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ด้วยการสนับสนุน ให้คำปรึกษาด้านการวางแผนธุรกิจ รวบรวมข้อมูลตลาด แหล่งเงินทุน ฯลฯอย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพในการต่อยอดธุรกิจ และรอการสนับสนุนอยู่อีกมากกว่า100 ชิ้น และภายในสิ้นปี 2560 นี้ ตั้งเป้ายกระดับงานวิจัยดังกล่าวสู่สตาร์ทอัพ กว่า 50 ชิ้น โดยเน้น 6 กลุ่มสตาร์ทอัพที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ อันได้แก่ กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มสุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มหุ่นยนต์ กลุ่มบริการ กลุ่มดิจิทัล และ กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "สนับสนุนการเติบโตและพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องบุษยา ชั้น 28 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร.02-564-4493 หรือ www.tu.ac.th ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะพัฒนาและก้าวไปสู่ "ไทยแลนด์ 4.0" อย่างเต็มรูปแบบได้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างบริบทของประเทศ และการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีความพร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งระบบนิเวศดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจทั้งสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีของประเทศไทย ให้สามารถเติบโตและพัฒนาต่อได้อย่างมีศักยภาพ โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน อาทิ สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน ภาครัฐ ภาคเอกชน ฯลฯ ผ่านการใช้ความชำนาญเฉพาะทางของแต่ละส่วนเพื่อสร้างระบบนิเวศด้านการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีให้สมบูรณ์ และเอื้อต่อการเกิดธุรกิจที่มีนวัตกรรมเป็นหัวใจหลัก ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศที่มุ่งพัฒนาสังคมไทยผ่านการให้บริการวิชาการอันเข้มแข็งโดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เล็งเห็นถึงช่องทางการเติบโตของธุรกิจและผู้ประกอบการ ตั้งเป้าสู่การเป็น "มหานครแห่งสตาร์ทอัพ" หรือ "สตาร์ทอัพดิสทริก" (Startup District) และการก้าวสู่มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันการต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมการจากวิจัย อาทิ การจัดตั้งสำนักทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TUIPI) รวมไปถึงการจับมือร่วมกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ธนาคารต่างๆ ฯลฯ เพื่อเป็นการเติมเต็มระบบนิเวศทางเศรษฐกิจให้เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC) ได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ พัฒนานวัตกรรมจากการร่วมมือแลกเปลี่ยนในรูปแบบพี่ช่วยน้อง โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นผู้ช่วยให้การสนับสนุนและคอยให้คำแนะนำในการวางแผนและต่อยอดธุรกิจ ด้วยการมีส่วนช่วยในการวางแผนกลยุทธ์ ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้มีนวัตกรรมเข้ามาผสมผสาน และยังมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เข้ากับบริษัทต่างๆ ในห่วงโซ่มูลค่าเพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ในขณะเดียวกันธนาคารกรุงเทพ จะเป็น "พี่เลี้ยง" คอยช่วยให้การสนับสนุนและให้ข้อแนะนำที่ควรนำมาปรับใช้กับธุรกิจ รวมทั้งสร้างและประสานความร่วมมือกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายของธนาคาร ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพในการต่อยอดธุรกิจ และรอการสนับสนุนอยู่อีกมากกว่า 100ราย ประกอบกับในแต่ละปี งานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพในการต่อยอดธุรกิจนับเป็นกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของงานวิจัยที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยภายในสิ้นปี 2560 นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพนวัตกรรมเทคโนโลยีกว่า 50 ราย โดยเน้น 6 กลุ่มธุรกิจตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ดังต่อไปนี้ 1) กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 2) กลุ่มสุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) กลุ่มหุ่นยนต์ 4) กลุ่มบริการ 5) กลุ่มดิจิทัล และ 6) กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ กล่าวเสริม ด้าน นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการเติบโตและพัฒนาธุรกิจ Startup กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้ธุรกิจStartup ของไทย พัฒนาขีดความสามารถและสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจ Startup ให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ด้วยเล็งเห็นว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพจะทวีความสำคัญมากขึ้นและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีอย่างมาก เนื่องจากถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2559 จีดีพีของเอสเอ็มอี ขยายตัว 4.8% และคิดเป็นสัดส่วนถึง 42.1% ของจีดีพีประเทศ (ที่มา :สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)) โดยกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากต่อการเติบโตดังกล่าวและมั่นใจว่าจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจประเทศในอนาคต ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการสนับสนุนและการพัฒนาของธุรกิจ Startup ในประเทศได้ดียิ่งขึ้น ทั้งในแง่ความรู้ทางวิชาการและความสามารถพัฒนาธุรกิจด้วย ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ทางธุรกิจ และร่วมสนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอี จนประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่าง กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่พัฒนาเครื่องมือเพื่อแก้ไขข้อจำกัดและลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น เครื่องมือวัดสภาพน้ำและอากาศที่เชื่อมโยงกับแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงได้มากขึ้นและมีความแม่นยำสูง ขณะเดียวกันธนาคารยังมีศักยภาพด้านเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง ทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ ทำให้สามารถเชื่อมโยงไปสู่ตลาดเป้าหมายได้ง่ายขึ้นและกว้างขวางขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ดังเช่นกลุ่มลูกค้าในโครงการเกษตรก้าวหน้าของธนาคารที่ได้ดำเนินโครงการมากว่า 18 ปี ซึ่งการเชื่อมโยงเหล่านี้ จะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้านการเกษตรสามารถก้าวหน้าไปได้เร็วยิ่งขึ้น นายศิริเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน กรณีที่ธุรกิจสตาร์ทอัพ มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ธนาคารก็สามารถให้คำปรึกษาด้านการวางแผนการบริหารเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมได้ เช่น Venture Capitalเงินกู้รูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ ธนาคารยังมี บริษัท บัวหลวงเวนเจอร์ส จำกัด (Bualuang Ventures) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ที่จะสามารถเข้าไปร่วมลงทุน หรือให้คำแนะนำ การสนับสนุนสตาร์ทอัพได้อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ผู้บริหารของทั้ง 2 หน่วยงาน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ "สนับสนุนการเติบโตและพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องบุษยา ชั้น 28 ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร.02-564-4493หรือ www.tu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ