ฟิทช์คงอันดับเครดิตของ บมจ. ทิปโก้แอสฟัลท์ ที่ระดับ 'A-(tha)’/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 18, 2017 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO ที่ระดับ 'A-(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ 'F2(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการเงินของ TASCO จะยังคงแข็งแกร่ง จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอและอัตราส่วนหนี้สินที่น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในอีกสามปีข้างหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป อัตราส่วนหนี้สิน ณ ปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ โดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ที่ระดับ 0.6 เท่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ส่งผลให้ความสามารถในการรองรับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในอนาคตโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต (Rating Headroom) ของบริษัทฯ อยู่ในระดับที่สูง ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (CFO) ของ TASCO จะอยู่ที่ประมาณ 1.5 – 2.5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับรองรับค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินลงทุนตามที่บริษัทฯ วางแผนไว้ ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง: อันดับเครดิตของ TASCO ได้รับการสนับสนุนจากตำแหน่งผู้นำทางการตลาดในธุรกิจยางมะตอยของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ประมาณร้อยละ 40 นอกจากนี้ ในตลาดต่างประเทศ บริษัทฯ ยังมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ด้วยส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 30 ในทั้งสองประเทศ การที่บริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุมสินค้าทั่วไปและสินค้าคุณภาพสูง มีขีดความสามารถสูงในการขนส่งและกระจายสินค้า โดยเป็นเจ้าของเรือบรรทุกสินค้าจำนวน 9 ลำ และรถบรรทุกอีกกว่า 300 คัน และมีความชำนาญการในด้านการก่อสร้างและซ่อมแซมถนน น่าจะส่งผลให้ TASCO สามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจได้ต่อไปในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า การกระจายความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์: TASCO มีโรงงานผลิตมากกว่า 40 แห่ง ตั้งอยู่ใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงโรงกลั่นยางมะตอยในประเทศมาเลเซียด้วย ยอดขายของ TASCO ในช่วง 12 เดือนล่าสุดนับจากสิ้นเดือนมิถุนายน 2560 ประมาณร้อยละ 70 เป็นยอดขายสินค้าในตลาดต่างประเทศ โดยประเทศหลักประกอบด้วย อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย เวียดนาม และ ออสเตรเลีย นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้ขยายธุรกิจในแถบมาเลเซียตะวันออกและลาว ผ่านกิจการร่วมค้า ฟิทช์เชื่อว่าการกระจายตัวของรายได้ในหลากหลายประเทศจะช่วยให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ มีความสม่ำเสมอมากขึ้น เช่น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 อุปสงค์ที่เติบโตในประเทศเวียดนามและอินเดียมีส่วนช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากอุปสงค์ที่ลดลงในหลายตลาด รวมถึงตลาดไทย ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของปริมาณการขายในปี 2559 อัตราส่วนกำไรที่ลดลง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรขั้นต้นของ TASCO จะลดลงจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังคงคาดว่าบริษัทฯ จะมีอัตราส่วนกำไรที่ดี ที่ประมาณร้อยละ 12 - 14 ในปี 2560 - 2561 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 16 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 และร้อยละ 17 ในปี 2559 โดยมีพื้นฐานจากการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าราคาน้ำมันดิบไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นไปถึงระดับ 80 -100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับช่วงก่อนปี 2558 ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน: TASCO ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบซึ่งได้แก่น้ำมันดิบเป็นหลัก แม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์ยางมะตอยจะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นไม่มากนัก นอกจากนี้ระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งน้ำมันดิบจากอเมริกาใต้ไปยังโรงกลั่นในประเทศมาเลเซียยังทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างราคาสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงกลั่นกับราคาน้ำมันดิบ ณ เวลาที่ซื้อ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้ใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าว โดยการเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในระดับหนึ่ง การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป TASCO มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าบริษัทอื่นที่ฟิทช์ทำการจัดอันดับในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC, อันดับเครดิต A(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) และ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC, อันดับเครดิต A(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR margin) ที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ธุรกิจปูนซีเมนต์ยังช่วยให้ SCC และ SCCC มีรายได้และกำไรสม่ำเสมอกว่า และตลาดปูนซีเมนต์ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจยางมะตอยของ TASCO แม้ว่า SCC จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีความผันผวนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ แต่ SCC มีสถานะทางธุรกิจและการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีกว่า TASCO ด้วยสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่าส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั้งสองรายมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า TASCO เมื่อเปรียบเทียบ TASCO กับผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ได้แก่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) TASCO มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า IRPC อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ TASCO มีเสถียรภาพมากกว่าและสร้างอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า ประกอบกับอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า ซึ่งทำให้อันดับเครดิตของ TASCO อยู่สูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ IRPC ที่ BBB+(tha) อันดับเครดิตระยะยาวของ IRPC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเชื่อมโยงกับบริษัทแม่ ได้แก่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ - ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางมะตอยค่อนข้างคงที่ในปี 2560 และเติบโตประมาณร้อยละ 10 ในปี 2561 (2559: เติบโตร้อยละ 2.7) - รายได้เติบโตสูงกว่าร้อยละ 20% ในปี 2560 จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และเติบโตลดลงเหลือประมาณร้อยละ 5 ในปี2561 (2559: ลดลงร้อยละ 35) - อัตราส่วนกำไรขั้นต้นลดลงอยู่ในระดับร้อยละ 12 - 14 ในปี 2560 – 2561 - อัตราการจ่ายเงินปันผลที่ร้อยละ 50 - 60 ของกำไรสุทธิ ในปี 2560-2561 - ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินลงทุนอยู่ที่ระดับประมาณ 1 - 1.5 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2560 – 2561 ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: - การเพิ่มขึ้นของขนาดธุรกิจและการกระจายตัวของแหล่งรายได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยที่อัตราส่วนหนี้สินฯ ซึ่งวัดโดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.0 เท่า ปัจจัยลบ: - อัตราส่วนหนี้สินฯ ที่สูงกว่า 4.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการลงทุนที่สูงขึ้นโดยมีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืม, หรือส่วนต่างราคาขายและวัตถุดิบของอุตสาหกรรมที่ต่ำอย่างมีนัยสำคัญ สภาพคล่อง สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดี: TASCO มีหนี้สินจำนวน 2.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 โดยหนี้สินจำนวน 2.2 พันล้านบาทเป็นหนี้ที่จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นของธนาคาร เพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ สภาพคล่องของ TASCO ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 904 ล้านบาทและความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคาร ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 TASCO มีวงเงินสินเชื่อแบบ uncommitted ที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 4.31 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ