จุฬาฯ เปิดเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม อัดงบ 100 ล้านบาทสนับสนุนสตาร์ทอัพ เน้น 5 กลุ่มธุรกิจนวัตกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อผลักดันเศรษฐกิจประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday October 30, 2017 08:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ต.ค.-- จุฬา เปิดเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District หรือ SID) อัดงบกว่า 100 ล้านบาท สนับสนุนสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งสยาม 100 SID เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ที่มีนวัตกรรม 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มไลฟ์สไตล์ กลุ่มดิจิตอลและหุ่นยนต์ กลุ่มความยั่งยืนทางทรัพยากร กลุ่มเมืองอัจฉริยะ และกลุ่มนวัตกรรมการศึกษา ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศไทย รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ผู้อำนวยการโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District หรือ SID) กล่าวว่า โครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม ภายใต้การดำเนินงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นโครงการต้นแบบในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การค้าทั่วไปให้เป็นแหล่งอุดมปัญญาสำหรับการแก้ปัญหาของประเทศ โดยเมืองนวัตกรรมจะเป็นพื้นที่สำหรับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อเอื้อต่อการเกิดธุรกิจใหม่ๆ หรือธุรกิจที่จะสร้างประโยชน์ หรือแก้ปัญหาของประเทศ สำหรับโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยามมีพันธกิจอยู่ 4 ด้าน คือ 1.การสร้างพื้นที่เพื่อให้เกิดพรสวรรค์ นั่นคือการพัฒนาคน 2.การสร้างต้นแบบที่ใช้งานได้ของเมืองแห่งอนาคต 3.การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน รัฐบาล และมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ หรือแก้ปัญหาของประเทศ และ4.การสร้างพื้นที่ให้เกิดการเจอกันระหว่างคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือไอเดียและคนที่สามารถทำได้จริง ซึ่งความคิดสร้างสรรค์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเข้าถึงเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่างๆง่ายขึ้น "จุฬาฯ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนา หรือขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีด้วยนวัตกรรมอย่างมาก ซึ่งประเทศไทยจะพัฒนาและก้าวไปสู่ที่เรียกว่าไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบได้นั้น ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ๆ จะทำให้เกิดนวัตกรรม ถือเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกด้วยนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาหรือแก้ปัญหาของประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงสถาบันการศึกษา ดังนั้นเมืองนวัตกรรมแห่งสยามนี้จะต้องทำให้ลดความเลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านการผลิตและการบริโภค"รศ.ดร.ณัฐชา กล่าว รศ.ดร.ณัฐชา กล่าวต่อว่า จากพันธกิจของโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยามที่กล่าวมานั้นจึงทำให้เกิดโครงการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งสยาม 100 SID ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการผลักดันให้นวัตกรรมรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนการเป็นโครงการต้นแบบในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ ไปต่อยอดการใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับโครงการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งสยาม 100 SID จะเปิดรับผลงานนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจเกิดใหม่ (Seed Fund) และเพื่อส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจใหม่ (Scale Up Fund) โดยมีเงินทุนสนับสนุนให้แก่โครงการต่างๆ รวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท โดยจะกระจายให้แก่โครงการต่างๆ ที่น่าสนใจ โดยไม่กำหนดจำนวนโครงการที่มาขอรับการสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจสตาร์ทอัพของไทย พัฒนาขีดความสามารถและสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว เพราะธุรกิจสตาร์ทอัพนับว่ามีความสำคัญมากขึ้นและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต โดยกลุ่มนวัตกรรมที่จะได้รับการสนับสนุน ต้องเป็นโครงการนวัตกรรมที่มีความเป็นไปได้ในการนำไปผลิตหรือเปิดให้บริการได้ภายในอนาคตอันใกล้ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวม โดยโครงการที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีเป้าหมายในการดำเนินงานด้านใดด้านหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ 1. Lifestyle นวัตกรรมเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิต 2. Sustainable Development นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนทางทรัพยากร (อาหาร พลังงาน และน้ำ) 3. Inclusive Community & Smart City นวัตกรรมเพื่อการสร้างสรรค์สังคมและเมืองอัจฉริยะ 4. Digital Economy & Robotics นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและวิศวกรรมหุ่นยนต์ และ5. Innovative Education นวัตกรรมเพื่อการศึกษา ทั้งนี้เงินทุนที่สนับสนุนแบ่งเป็น 1.ประเภทเงินทุนเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจเกิดใหม่(Seed Fund) ทุนละ 1 ล้านบาท โดยเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล ที่มีสัญชาติไทยอย่างน้อย 1 คน หรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยอย่างน้อย 1 คน ที่มีต้นแบบ (Prototype) หรือมีแผนการพัฒนาโครงการ (Project Development) ที่มีกระแสตอบรับ (traction) แล้ว เช่น มีผลการดำเนินงาน ยอดขาย ยอด Like ยอดดาวน์โหลด จำนวนผู้ใช้ Website หรือผลการตอบรับใดๆที่สามารถวัดค่าได้ 2. ประเภทเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจใหม่(Scale Up Fund) ทุนละ 5 ล้านบาท โดยเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยอย่างน้อย 1 คน ที่มีโครงการนวัตกรรมพื้นฐานด้านใดด้านหนึ่งที่พร้อมออกสู่ตลาดแล้ว และต้องการแรงสนับสนุนในการพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น รศ.ดร.ณัฐชา กล่าวว่า ผู้สมัครสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้มากกว่า 1 โครงการ โดยให้แยกการสมัครออกจากกัน สำหรับผู้ที่ผ่านการคัดเลือก คณะกรรมการจะจัดหาคณะที่ปรึกษาโครงการ และติดตามผลงานตามความเหมาะสม โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการที่จะได้รับเงินสนับสนุน ออกเป็นดังนี้ 1.ประโยชน์โดยตรงต่อผู้ได้รับเงินสนับสนุน 25% คือ โครงการดังกล่าวสามารถนำไปสู่การสร้างผลประโยชน์ต่อกิจการและความสำเร็จของกิจการอย่างไรที่วัดและพิสูจน์ได้ 2.ประโยชน์ต่อประเทศชาติ 20% คือ โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดผลประโยชน์ใดต่อประเทศที่วัดและพิสูจน์ได้ และ 3.ประโยชน์ต่อโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม 55% คือ โครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความยั่งยืนมั่นคงทางทรัพยากร ช่วยสร้างชื่อเสียงที่ดี และช่วยสร้างองค์ความรู้หรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามได้ที่ Call Center หมายเลข 02-579 4777 หรือ Line ID : 100sid โดยเปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560 (ไม่เกินเวลา24.00น.ของวันที่31 ตุลาคม 2560) และประกาศผลการคัดเลือกในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ทาง E-mail และหน้าเพจ Facebook - Siam Innovation District: เมืองนวัตกรรมแห่งสยาม อย่างไรก็ตามขณะนี้มีผู้สนใจสอบถามและสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมากทางคณะกรรมการอาจจะพิจารณาขยายเวลารับสมัครออกไป ข้อมูล : โครงการส่งเสริมนวัตกรรมแห่งสยาม 100 SID เป็นหนึ่งในโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District หรือ SID) จัดตั้งขึ้นเพื่อที่จะผลักดันให้นวัตกรรมรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผล งาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนการเป็นโครงการต้นแบบในการนำนวัตกรรมใหม่ๆ ไปต่อยอดการใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างเป็น รูปธรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ