มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ข่าวทั่วไป Tuesday January 9, 2018 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ) ซึ่งเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือระยะที่ 2 แก่ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. หลักการ 1) การวิเคราะห์และให้ความช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายบุคคล (Personalized Plan) โดยจัดให้มีผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Account Officer: AO) เพื่อทำหน้าที่สำรวจสภาพข้อเท็จจริง สอบถามความประสงค์ และให้คำแนะนำแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถ ให้ความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และมีความยั่งยืน 2) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามความจำเป็นอย่างรอบด้าน (4 มิติ) เพื่อให้การพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างยั่งยืน จึงมุ่งเน้นการสร้างโอกาสอย่างรอบด้านใน 4 มิติ ได้แก่ (1) การมีงานทำ (2) การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา (3) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และ (4) การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 3) การเข้าหาและติดตามผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ "ทุกคน" ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และอยู่ในวัยแรงงาน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการกลุ่มอื่น ๆ เข้าร่วมการพัฒนาตนเองได้โดยสมัครใจ 4) การบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบเบ็ดเสร็จ โดยมีโครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการในทุกมิติรวมกว่า 34 โครงการ จากความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 13 หน่วยงาน(6 กระทรวง 3 ธนาคาร 2 กองทุนและ 2 หน่วยงาน) 2. การดำเนินงาน เพื่อให้การดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ จึงกำหนดโครงสร้างการดำเนินงาน ดังนี้ 1) คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คนส.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2) คณะอนุกรรมการติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คอต.) ทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าและผลการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล 3) คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำจังหวัด (คอจ.) ทำหน้าที่ แต่งตั้ง กำกับดูแล และกำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน และการลงพื้นที่ของคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการ แห่งรัฐประจำอำเภอ และมอบหมายและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล 4) คณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ หรือ"ทีมหมอประชารัฐสุขใจ (ทีม ปรจ.)" ประกอบด้วยคณะทำงานระดับอำเภอ และผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (AO) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เหมาะสมและสอดคล้องตามความจำเป็นของแต่ละบุคคลโดยการสัมภาษณ์ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายบุคคล เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา สอบถามความประสงค์ เช่น การทำงาน การฝึกอบรมอาชีพ เป็นต้น โดย AO ต้องรับผิดชอบดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแต่ละรายตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการวิเคราะห์ และติดตามเพื่อให้ทราบว่าผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายนั้น มีการพัฒนาอย่างไรหรือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่เพียงใด 3. โครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต โครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เป็นการบูรณาการโครงการจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น โดยมีโครงการเพื่อรองรับจำแนก ตามมิติต่าง ๆ ดังนี้ 1) มิติที่ 1 การมีงานทำ เช่น การจัดหางานในประเทศและต่างประเทศโดยกระทรวงแรงงาน โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อยโดยกระทรวงพาณิชย์ โครงการตลาดประชารัฐโดยกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น 2) มิติที่ 2 การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา เช่น โครงการฝึกอาชีพเร่งด่วนอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) โดยกระทรวงแรงงาน โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐโดยกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ โครงการมหาวิทยาลัยประชาชนโดยธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) โครงการให้ความรู้ทางการเงิน แก่เกษตรกรลูกค้าผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น 3) มิติที่ 3 การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดย ธ.ก.ส. โครงการสินเชื่อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ โครงการสินเชื่อ Street Food โดย ธ.ออมสิน เป็นต้น 4) มิติที่ 4 การเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น โครงการให้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์และกระทรวงการคลัง การออมเพื่อการเกษียณอายุสำหรับแรงงานนอกระบบโดยกองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวข้างต้นสามารถให้การสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีบัตรสวัสดิการ แห่งรัฐได้อย่างน้อย 4,695,407 คน นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ สามารถเสนอโครงการเพื่อรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ เพิ่มเติมได้ และโครงการต่าง ๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้อง กับความจำเป็นในการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยความเห็นชอบของ คอต. 4. มาตรการส่งเสริมให้พัฒนาตนเอง ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แสดงความประสงค์จะพัฒนาตนเองในแบบประเมินและเมนูการพัฒนารายบุคคล จะได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ตามแนวทางประชารัฐสวัสดิการเพิ่มเติม โดยจะเริ่มได้รับในเดือนถัดไปหลังจากเดือนที่แสดงความประสงค์ จนถึงเดือนธันวาคม 2561 ดังนี้ 1) ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปี 2559 จะได้รับวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 200 บาท/คน/เดือน 2) ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทในปี 2559 จะได้รับวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 100 บาท/คน/เดือน 5. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรายบุคคลและจูงใจให้นายจ้าง ที่เป็นนิติบุคคลจัดการฝึกทักษะฝีมือให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือพิจารณาจ้างงานผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นกรณีพิเศษโดยให้หักรายจ่ายเป็นจำนวน 1.5 เท่าของรายจ่าย ดังนี้ 1) รายจ่ายที่นายจ้างได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการฝึกทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2) รายจ่ายที่นายจ้างได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยการจ่ายค่าจ้าง ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เฉพาะรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนที่ไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนลูกจ้างในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวย้ำว่า มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ จะช่วยเพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างเป็นรูปธรรม และถือเป็นมิติใหม่ของการจัดทำมาตรการของรัฐบาล ใน 5 ประการด้วยกัน ดังนี้ 1. เป็นครั้งแรกของการจัดทำมาตรการที่มีการบูรณาการความร่วมมือและโครงการในการแก้ไข ปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหารากเหง้าของประเทศ 2. เป็นการแก้ไขปัญหาของประชาชนแบบไม่เหวี่ยงแห มีเป้าหมายชัดเจน (Targeted Poverty Alleviation) 3. เป็นการออกแบบแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคลโดยทีม ปรจ. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ในการวิเคราะห์และเสนอแนะแผนที่ชีวิตให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 4. มีการบันทึกและติดตามผลสัมฤทธิ์อย่างใกล้ชิดจากผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5. เป็นการแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างรอบด้าน และยั่งยืน เพราะเป็นการติดอาวุธ ให้เครื่องมือแก่ผู้มีรายได้น้อยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ