ซีเกท ประเทศไทยและอพวช. จัดค่าย Robot Maker สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเป็นนักพัฒนาหุ่นยนต์ในอนาคต

ข่าวทั่วไป Friday February 9, 2018 11:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ซีเกท เทคโนโลยี บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดค่าย STEM Science Camp อพวช.-ซีเกท ตอน Robot Maker แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 30 คนและนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 30 คน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม 3 วัน 2 คืน ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ รังสิต คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า "อพวช. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐขอขอบคุณ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้กับสังคม ในการสนับสนุนงบประมาณมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เพื่อให้กับสถานศึกษาที่มีงบประมาณจำกัดในการบริหารจัดการ ได้มาทัศนศึกษากับแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยพิพิธภัณฑ์ รวมถึงการจัดค่ายให้กับเยาวชนต่าง ๆ โดยในความร่วมมือปีนี้ ทั้งสองหน่วยงานมุ่งเน้นไปที่การจัดค่ายด้านสเต็มศึกษา หรือ STEM Science Camp ณ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สำหรับเยาวชนถึง 3 ค่ายด้วยกัน คือ ค่ายดาราศาสตร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 – 21 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ค่ายนักประดิษฐ์พิชิตมหันตภัย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 – 28 มกราคม 2561 และค่าย Robot Maker ระหว่างวันที่ 2 – 4 กุมภาพันธ์ 2561 จุดเด่นของค่าย STEM Science Camp อพวช.-ซีเกท ตอน Robot Maker คือการกระตุ้นให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ทำความเข้าใจกลไกเกี่ยวกับการควบคุมและพัฒนาหุ่นยนต์โดยใช้กลไกการทำงานในเบื้องต้น ผ่านทางกิจกรรมเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาหุ่นยนต์ในทุกขั้นตอน ทั้งการออกแบบและคิดประดิษฐ์หุ่นยนต์จากกลไก การควบคุมที่แตกต่างกัน 2 แบบ คือ การพัฒนาหุ่นยนต์ขนของบังคับมือ (Manual Robot) โดยใช้กลไกการควบคุมด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (วงจร Relay) และการพัฒนาหุ่นยนต์ขนของอัตโนมัติ (Automatic Robot) ที่ใช้ Sensor ในการทำงาน และสุดท้ายเยาวชนที่มาร่วมค่ายต้องออกแบบหรือพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติร่วมกับหุ่นยนต์ขนของแบบบังคับมือที่พัฒนาไว้ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อีกด้วย นอกจากกิจกรรมเชิงปฎิบัติการแล้ว ยังมีการบรรยายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ถึง 2 หัวข้อประกอบด้วย "ตามรอย...นักคิดสมองกล" โดยได้รับเกียรติจาก ดร. อัครพงศ์ เอกศิริ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ "จุดประกายความคิด..พัฒนานักคิดหุ่นยนต์" ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต อาจารย์ที่ปรึกษาทีม "ลูกเจ้าแม่คลองประปา" ทีมแชมป์ 6 สมัยจากการแข่งขัน ABU ROBOTCONTEST CHAMPIONSHIP อีกด้วย นางสาวสุทัศนี โรจนสุนทร ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "ปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้เยาวชนรักและสนใจเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้นคือการสร้างสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสื่อที่ทำให้เยาวชนมีความสุขและสนุกในการเรียนรู้ ทางซีเกทยินดีมากที่ได้ร่วมมือกับอพวช. ในการจัดค่าย STEM Science Camp อพวช.- ซีเกท ตอน Robot Maker ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจวิธีการสร้างหุ่นยนต์ ได้ฝึกทักษะและเพิ่มพูนประสบการณ์ บูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศรวมทั้งเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ โดยการคิดและตัดสินใจอย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง" ข้อมูลเกี่ยวกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีภารกิจในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และ ความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) สู่สังคม โดยการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐด้วยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่คลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และแหล่งเรียนรู้ของ อพวช. ใจกลางเมือง จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ตั้งอยู่ในอาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 4 สามย่าน กรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังนำนิทรรศการเคลื่อนที่และกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ไปจัดแสดงทั่วทุกภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำ วทน. มาใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการผลิตของประเทศ ข้อมูลเกี่ยวกับซีเกท ซีเกทสร้างพื้นที่สำหรับประสบการณ์เต็มรูปแบบโดยการฉีกกฎเดิมของการจัดเก็บ แบ่งปันและสรรใช้ข้อมูล ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซีเกทได้ที่ www.seagate.com และติดตามซีเกทได้ทาง Twitter Facebook LinkedIn Spiceworks Google+ รวมถึงสมัครสมาชิก blog ของทางบริษัทฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ