เลือกบัญชีให้ปัง ให้ดี ต้อง “ฟรีค่าธรรมเนียม”

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 28, 2018 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--Chomchaviwan หากพูดถึงบัญชีเงินฝากหลักของคนส่วนใหญ่คงจะหนีไม่พ้น "บัญชีออมทรัพย์" บัญชีที่มีไว้รองรับเงินเดือนให้เงินไหลผ่าน หรือพักไว้เพื่อการใช้จ่าย เพราะสะดวกสบายในการเบิกถอน แต่ก็เป็นบัญชีที่ได้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ทั่วไปเฉลี่ย 0.25 - 0.50% ต่อปี หากได้รับดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปี แหม…เห็นดอกเบี้ยน้อยนิด ก็อย่าทิ้งขว้างวางเฉย ลองเสียเวลาพิจารณาสักนิด จะเห็นว่ามีบัญชีที่ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าให้เราได้มากแค่ไหน มีหลายๆ แบงก์ที่นำเสนอจุดขายเพื่อจูงใจผู้ฝาก บ้างก็ให้ดอกเบี้ยสูง บ้างปลอดภาษี บ้างก็ฟรีค่าธรรมเนียม และอื่นๆ อีกมากมาย สารพัดลูกเล่นที่นำเสนอให้โดนใจผู้ฝาก แต่จะให้ได้ประโยชน์คุ้มค่าต้องดูเงื่อนไขกันให้ดีก่อน อย่างจุดขายแรงๆ ช่วงนี้คงหนีไม่พ้น "ฟรีค่าธรรมเนียม" อันนี้ถือเป็นเรื่องดีต่อผู้ฝาก ลองคิดเล่นๆ ใน 1 ปีเราจ่ายค่าธรรมเนียม กดเงินข้ามจังหวัด โอนเงินต่างธนาคาร รวมถึงจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ต่างๆ เราเสียค่าบริการไปเท่าไหร่แล้ว อย่างต่ำก็ 5-25 บาทต่อรายการ จะดีกว่าไหม ถ้าเราเลือกบัญชีที่ให้ความคุ้มค่าและช่วยลดค่าใช้จ่ายให้เราได้ แต่จะให้ได้ประโยชน์แค่ไหนต้องดูเงื่อนไขกันให้ดีก่อน งั้นลองมาดูกันว่าแบงก์ไหนมีเงื่อนไขน่าสนใจอย่างไรบ้าง TMB ถือเป็นต้นตำหรับของบัญชีออมทรัพย์ที่ฟรีค่าธรรมเนียม ด้วยบัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี กับข้อเสนอ ฟรีโอนเงินต่างแบงก์ ข้ามจังหวัด ฟรีกดเงินทุกตู้ ทุกแบงก์ ทุกจังหวัด ฟรีค่าธรรมเนียมจ่ายบิล ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เติมเงิน และที่สำคัญคือ ฟรีไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพราะก่อนหน้านี้โจทย์ใหญ่ของคนใช้บัตรเอทีเอ็มนั่นคือ การกดเงินข้ามจังหวัด ซึ่งธนาคารมักจะคิดค่าบริการราว 20-25 บาท TMB จึงมี บัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี มาตอบโจทย์เรื่องนี้ โดยทางธนาคารคิดค่าแรกเข้าพร้อมเปิดบัตรเดบิต 500 บาท และค่ารายปี 350 บาทต่อปี กรณีบัตรหาย บัตรหมดอายุ หรือบัตรชำรุดก็สามารถออกใหม่ได้ฟรีทันที ก็ลองดูความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ไม่ต้องจ่ายเลยสักบาท นอกจากนี้ยังมี ME แบรนด์หัวหอกของค่าย TMB เช่นกัน เน้นตอบสนองความต้องการลูกค้าในยุคดิจิทัลภายใต้แนวคิด "ลูกค้า ME ได้มากกว่าเสมอ" ผ่าน ME บัญชีเงินฝากดิจิทัล ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไป 4.5 เท่า ซึ่งทางแบงก์ไม่คิดค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งค่ารักษาบัญชี ค่าธรรมเนียมรายปี ค่า SMS แจ้งเตือน และล่าสุดก็ประกาศปลดล็อคค่าธรรมเนียมการโอนให้ลูกค้าโอนเงินไปยังบัญชีต่างธนาคารที่ผูกไว้กับบัญชี ME สูงสุด 3 บัญชีได้ฟรี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ให้โอนฟรีต่างธนาคารได้ 2 ครั้งต่อเดือน สำหรับการโอนต่างธนาคารลูกค้าสามารถเลือกโอนแบบทันทีหรือโอนวันทำการถัดไปก็ได้ วงเงินสูงสุด 500,000 บาทต่อครั้ง และ 2 ล้านบาทต่อวันต่อประเภทการโอน แต่หากโอนแบบทันทีเข้าบัญชีธนาคารทหารไทยวงเงินโอนสูงสุดอยู่ที่ 30 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่การโอนผ่านพร้อมเพย์ให้วงเงินสุดสุด 500,000 บาทต่อครั้งต่อวัน รวมทั้งไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเรียกเก็บเช็ค ตอนนี้ยังค้นหาดอกจันไม่เจอสำหรับแบรนด์นี้ อีกค่ายที่น่าสนใจไม่น้อย อย่างกรุงศรีออมทรัพย์จัดให้ จัดให้ฟรีในบัญชีเดียว จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จัดมาเต็มรูปแบบทำให้ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นกัน โดยฟรี กดเงินทุกตู้ ทุกธนาคารทั่วไทย ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ฟรี ค่าธรรมเนียมจ่ายบิล 5 บิลต่อเดือน (ยกเว้นการเติมเงินโทรศัพท์มือถือและการชำระค่าภาษีรถประจำปีของกรมขนส่ง) สอบถามยอดจากเครื่อง ATM ทุกตู้ ทุกธนาคารทั่วประเทศ ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งข้อกำหนดและเงื่อนไขคือ จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเมื่อเปิดบัญชี "ออมทรัพย์จัดให้" พร้อมทำบัตรกรุงศรี เดบิต ออมทรัพย์จัดให้ พร้อมฟรีค่าออกบัตรใหม่ โดยทางธนาคารเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปี 400 บาท อีกแบงก์ที่เห็นลงมาเล่นเรื่องฟรีค่าธรรมเนียมด้วยเช่นกัน คือ ธนาคารธนชาต ส่งบัญชีออมทรัพย์ "ฟรีเว่อร์" มาพร้อม "บัตรเดบิตฟรีเว่อร์" จะได้สิทธิพิเศษ กดเงิน ATM ทุกธนาคาร ทุกที่ทั่วไทย ฟรีไม่จำกัดจำนวนครั้ง ฟรีค่าธรรมเนียมจ่ายทุกบิลที่ตู้ ATM ของธนชาต และฟรีค่าธรรมเนียมโอนเงินทั่วประเทศระหว่างบัญชีธนาคารธนชาตผ่านตู้ ATM ธนชาต รวมทั้ง ThanachartiNet โดยต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำ 500 บาท กำหนดเงินคงเหลือขั้นต่ำในบัญชีไม่ต่ำกว่า 500 บาท และยังมีเงื่อนไขต้องมีเงินคงเหลือเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน หากต่ำกว่าธนาคารจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือน 50 บาทต่อบัญชีต่อเดือน โดยเปิดบัญชีขั้นต่ำ 100 บาท พร้อมสมัครบัตรเดบิต และมีค่าธรรมเนียมรายปี 250 บาทต่อปี และล่าสุดย้ำกระแสฟรีค่าธรรมเนียมอีกครั้งกับ 2 แบงก์ใหญ่อย่าง กสิกรไทย ที่ประกาศเอาใจคนยุคดิจิทัลให้ลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง K PLUS, K PLUS SME, K-Cyber, K-Cyber SME ไม่ว่าจะเป็นโอนข้ามเขต โอนต่างธนาคารแบบทันที จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ เติมเงิน แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 ธันวาคม 2561 ส่วนค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตนั้นจะยังคงมีอยู่ โดยขึ้นอยู่กับประเภทบัตร ในส่วนของค่าธรรมเนียมแรกเข้าเริ่มต้นที่ 100 – 150 บาท และค่าธรรมเนียมรายปีนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ 200 – 650 บาท ด้านแบงก์ไทยพาณิชย์ก็ส่ง "มานี" ฟรีทุกค่าธรรมเนียม ไม่ว่าจะโอน จ่าย เติม กด ฟรีหมด! เมื่อทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่น SCB EASY โดยเป็นการยกเลิกการคิดค่าบริการแบบถาวร ไม่ใช่แค่การทำโปรโมชั่นเท่านั้น ด้านค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตรายปีจะเริ่มต้นที่ 200 – 1,599 บาทขึ้นอยู่กับประเภทบัตรเช่นกัน ในส่วนค่าธรรมเนียมแรกเข้าจะอยู่ที่ 100 บาท จะเห็นว่าแทบทุกแบงก์ชูโปรโมชั่น "ฟรีค่าธรรมเนียม" เมื่อทำธุรกรรมผ่านดิจิทัล แอฟพลิเคชั่น หรือออนไลน์ ซึ่งเป็นอินโนเวชั่นที่เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในขณะเดียวกันก็ช่วยลดต้นทุนให้กับแบงก์ด้วยเช่นกัน แต่การทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ ที่สาขาหรือ ATM ก็ยังคงมีค่าธรรมเนียมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าธรรมเนียมรายปี ค่ารักษาบัญชี ค่าธรรมเนียมเรียกเก็บเช็ค และค่า SMS เป็นต้น ถึงลูกเล่น "ฟรีค่าธรรมเนียม" จะช่วยให้เจ้าของบัญชีประหยัดค่าใช้จ่ายได้ก็จริง แต่สิ่งสำคัญที่ต้องดูรายละเอียด คือ เงื่อนไข และไลฟ์สไตล์ของตัวเองว่า เหมาะที่จะใช้บัญชี และบริการรูปแบบไหน และจะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าได้อย่างไร เพราะการที่แบงก์ยอมแบกต้นทุนค่าใช้จ่ายแทนลูกค้า คงไม่ใช่การให้ฟรีๆ โดยสุดท้ายแล้วแบงก์ไม่ได้อะไรกลับไปเลยอย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ