กรมวิทย์ฯจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์พร้อมมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น

ข่าวทั่วไป Thursday March 29, 2018 14:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 26 นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเมืองไทยแข็งแรง ประเทศไทย 4.0 เร่งพัฒนานวัตกรรม องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยสนับสนุนกลไกการทำงานสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความผาสุกของสังคมไทย พร้อมมอบรางวัล นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2561 และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น (DMSc Award) ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 26 ประจำปีงบประมาณ 2561 พร้อมมอบรางวัล นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2561 และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น (DMSc Award) รวม 7 รางวัล ณ อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ว่า ปัจจุบันองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพประชาชน งานวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล ทั้งในเรื่องความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ โดยได้มีการพัฒนางานวิชาการด้านห้องปฏิบัติการให้มีความก้าวหน้าทันกับเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีบทบาทสำคัญในการวิจัย และพัฒนาเพื่อให้ได้นวัตกรรม องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัย เพื่อนำไปแก้ปัญหาสาธารณสุข และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการวิจัยให้เทียบเท่าต่างประเทศได้ และสามารถสนับสนุนการทำงานสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความผาสุกของสังคมไทยอีกด้วย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานประชุมวิชาการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2561 ภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเมืองไทยแข็งแรง ประเทศไทย 4.0" เป็นเวทีให้นักวิชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ในปีนี้มีนักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมส่งผลงานวิชาการจำนวน 172 เรื่อง แบ่งเป็นผลงานวิชาการ สาขานวัตกรรมด้านโรค 48 เรื่อง สาขานวัตกรรมด้านคุ้มครองผู้บริโภค 56 เรื่อง สาขาเครือข่ายห้องปฏิบัติการและวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน 60 เรื่อง และสาขา Medical Science Symposium 8 เรื่อง นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรที่เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่จะมาบรรยายพิเศษ เพื่อเป็นการให้มุมมองด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขในการพัฒนางานวิทยาศาสตร์การแพทย์ของไทยอีกด้วย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ยังได้มีการมอบรางวัล นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2561 และนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น (DMSc Award) รวม 7 รางวัล โดยรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2561 ได้แก่ เภสัชกรหญิงอมรา วงศ์พุทธพิทักษ์ ท่านมีผลงานเด่นเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาระบบคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขตามมาตรฐานสากล และริเริ่มบทบาทการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยได้ออกแบบระบบ จัดทำข้อกำหนดและแนวทางการยื่นคำขอ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ห้องปฏิบัติการที่ขอรับการรับรองคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ พยาธิวิทยาคลินิก ที่ได้รับการรับรองไปแล้วจำนวน 500 แห่งทั่วประเทศ และร้องขอการรับรองเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ อีกทั้งยังได้พัฒนางานรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการมาโดยตลอด จนได้รับการรับรองจากองค์การรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการนานาชาติ ทั้งระดับภูมิภาค APLAC และ ระดับโลก ILAC "สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีเด่น (DMSc Award) แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ มี 2 รางวัล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง สูตรมะนาวผงยูโรไลม์ลดระดับอัลบูมินในปัสสาวะที่เป็นตัวบ่งชี้การเสื่อมของไตในผู้ป่วยโรคนิ่วไต โดยศาสตราจารย์ปิยะรัตน์ โตสุโขวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลรองชนะเลิศ เรื่อง การพัฒนาอนุภาคซิลิกานาโนฟลูออเรสเซนต์ติดฉลากแอนติบอดีแบบควบคุมทิศทางสำหรับการตรวจจับมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดย ดร.สุวัสสา บำรุงทรัพย์ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประเภทหนังสือ/ตำราทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ มี 2 รางวัล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง การตรวจเอ็ม.อาร์.ไอ.หัวใจ (Cardiac MRI) โดย พญ.ธนัญญา บุณยศิรินันท์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลรองชนะเลิศ เรื่อง ไซโตโครม พี 450 : การแปลงรูปทางชีวภาพและวิถีการควบคุม โดย รศ.ดร.กนกวรรณ จารุกำจร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประเภทการพัฒนาบริการหรือการพัฒนาคุณภาพบริการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ มี 2 รางวัล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ เรื่อง การพัฒนาระบบการให้บริการธาลัสซีเมียแบบไร้รอยต่อ โดย ดร.ยุพิน โจ้แปง ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา รางวัลรองชนะเลิศ เรื่อง ระบบควบคุมคุณภาพเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วในโรงพยาบาลบ้านหมอ และ รพ.สต.ในเครือข่ายสุขภาพอำเภอ โดย นายต่อศักดิ์ ตาวงศ์ กลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลบ้านหมอ จ.สระบุรี" นายแพทย์สุขุมกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ