เกษตรฯ เตรียมรับมือพายุฤดูร้อน เตือนเกษตรกรเร่งป้องกันผลผลิตเสียหาย

ข่าวทั่วไป Friday April 27, 2018 14:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน เตือนเกษตรกรเร่งป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ได้ประกาศเตือนพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ ช่วงปลายเดือนเมษายน 2561 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น เกิดฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง มีฟ้าผ่าและลูกเห็บตกบางพื้นที่นั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเตรียมรับมือป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ผลไม้หลายชนิดเริ่มให้ผลผลิต ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และภาคเหนือ ได้แก่ ลิ้นจี่ ลำไย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นกรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรทยอยเก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อน และตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง ขณะเดียวกันควรใช้เชือกโยงกิ่งและต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงไม่ให้โค่นลงได้ง่าย อย่างไรก็ตาม การปลูกต้นไม้บังลม (Wind Break) เช่น ไม้ไผ่ กระถินณรงค์ ขี้เหล็กบ้าน และสะเดาอินเดีย เพื่อลดความรุนแรงของลมก่อนที่จะเข้าถึงสวนผลไม้หรือพื้นที่เพาะปลูก เป็นวิธีการวางแผนเพาะปลูกที่ดี อันจะช่วยลดความสูญเสียจากพายุลมแรงได้ สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ กรมส่งเสริมการเกษตรยึดหลักปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 โดยมีหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรไว้ก่อนเกิดภัย ตามจำนวนพื้นที่จริงที่ได้รับความเสียหาย รายละไม่เกิน 30 ไร่ อาทิ ข้าว อัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ อัตราไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ อัตราไร่ละ 1,690 บาท ทั้งนี้ เมื่อเกิดภัยพิบัติ และผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรต้องยื่นแบบความจำนงขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) โดยให้ผู้นำท้องถิ่นรับรอง ก่อนจะมีการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร และพื้นที่เสียหายจริง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ