เอยูโพล (AU Poll) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเทศกาลเข้าพรรษา 2561 ของคนกรุงเทพฯ

ข่าวทั่วไป Friday July 20, 2018 14:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรณีศึกษา: ตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องเทศกาลเข้าพรรษา 2561 กรณีศึกษา : ตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,210 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1-10 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างประมาณครึ่งหรือร้อยละ 50.79 เป็นหญิง และร้อยละ 49.21 เป็นชาย เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า ร้อยละ 8.86 มีช่วงอายุอยู่ระหว่าง 18-19 ปี ร้อยละ 20.64 มีอายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 22.45 มีอายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 23.94 มีอายุอยู่ระหว่าง 40-49 ปี และร้อยละ 24.11 มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ด้านสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 60.16สมรสแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 30.46 เป็นโสด และร้อยละ 9.38เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ ส่วนการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 48.55 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 46.67 ระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.78สำเร็จการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 29.29 มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ร้อยละ 32.28 มีรายได้ 15,001-25,000 บาท ร้อยละ 23.79 มีรายได้ 25,001-35,000 บาท และร้อยละ 14.64 มีรายได้สูงกว่า 35,000 บาทสำหรับอาชีพ พบว่า ร้อยละ 29.24 อาชีพพนักงาน/บริษัทเอกชน ร้อยละ 20.38 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 18.88 อาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 14.54 เป็นอาชีพรับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และร้อยละ ร้อยละ 16.96 ประกอบอาชีพอื่นๆ ได้แก่ นักเรียนนักศึกษาธุรกิจส่วนตัว พ่อบ้านแม่บ้าน เกษียณอายุ ว่างงาน พนักงานมหาวิทยาลัย คนไทยกระตือรือร้นรับเข้าพรรษา ... ส่วนใหญ่ตั้งใจเข้าวัดทำบุญ ... เอยูโพลได้สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ เกี่ยวกับเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65.45) เห็นว่า คนไทยเตรียมตัวและกระตือรือร้นต่อเทศกาลเข้าพรรษาในปีนี้มากเหมือนเดิมเทียบกับปีที่แล้ว โดยกิจกรรมหลักๆ ที่คนกรุงตั้งใจจะทำในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา คือ กิจกรรมทางพุทธศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ไหว้พระ เวียนเทียน (ร้อยละ 80.40) พักผ่อนอยู่บ้าน (ร้อยละ 37.22) และทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว (ร้อยละ 33.09) ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ยังคงให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางศาสนาในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา สำหรับสิ่งที่ตั้งใจจะทำในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ส่วนใหญ่บอกว่า จะปฏิบัติตนเหมือนทุกๆ วัน (ร้อยละ 71.25) บางส่วนจะงดเหล้าเข้าพรรษา ตามที่ได้มีการรณรงค์กันมาตลอดเป็นประจำทุกปี (ร้อยละ 26.18) อีกบางส่วนก็จะรักษาศีลอย่างเคร่งครัด (ร้อยละ 19.97) ใช้จ่าย-ทำบุญเข้าพรรษาเท่าเดิม ... ในแง่ของการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พบว่า คนกรุงเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายในด้านต่างๆ แตกต่างกันไป เช่น บางคนตั้งใจจะให้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง (เฉลี่ย 3,299 บาท) บางคนเตรียมไว้จ่ายค่าที่พัก ตอนไปเที่ยวในช่วงเข้าพรรษา (เฉลี่ย 3,084 บาท) บางคนเตรียมไว้ชอปปิ้ง (เฉลี่ย 1,070 บาท) เป็นต้น แต่โดยภาพรวมแล้ว คนกรุงเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายในช่วงเทศกาลนี้ โดยเฉลี่ยประมาณ 2,827 บาท ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเทศกาลเข้าพรรษาปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 69.64) คาดว่า จะใช้จ่ายในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเท่าเดิม รวมทั้งตั้งใจจะทำบุญเท่าเดิมเช่นกัน (ร้อยละ 75.85) อยากเห็นรัฐฯ รณรงค์งดเหล้า-เข้าวัดอย่างจริงจัง ... ส่วนเรื่องที่คนกรุงอยากให้รัฐบาลรณรงค์ให้เห็นเป็นรูปธรรมในเทศกาลเข้าพรรษา ได้แก่ รณรงค์ให้งดเหล้าช่วงเข้าพรรษาอย่างจริงจัง ไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา และรณรงค์ให้ประชาชนเข้าวัดทำบุญกันมากขึ้น รวมทั้งปิดสถานบันเทิงตลอดช่วงเทศกาล ทั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณารณรงค์ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้อย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม อย่างน้อยก็เป็นการช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการดื่มสุราและเที่ยวสถานบันเทิงได้อีกทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพ ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาเศรษฐกิจ ข่าวลบกระทบวิกฤตศรัทธาคนกรุง ... แต่ยังตั้งใจทำบุญต่อไป ... เอยูโพลได้ถามลึกลงไปอีกว่า ท่ามกลางข่าวไม่ดีต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาที่กระทบต่อพระพุทธศาสนา เช่น เงินทอนวัด พระทำผิดศีล ฯลฯ สั่นคลอนความศรัทธาของคนกรุงหรือไม่ อย่างไร ก็พบว่าประมาณ 1 ใน 3 (ร้อยละ 29.47) บอกว่า ข่าวดังกล่าวสั่นคลอนความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนามากถึงมากที่สุด และอีกเกือบครึ่ง (ร้อยละ 45.03) บอกว่า สั่นคลอนปานกลาง ถึงกระนั้น คนกรุงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 78.08) ก็ยังตั้งใจที่จะทำบุญเพื่อทำนุบำรุงศาสนาต่อไปเหมือนเดิม แต่มีบางส่วน (ร้อยละ 17.04) ที่บอกว่า จะทำบุญน้อยลง มองตอนนี้เศรษฐกิจครัวเรือนดี หวังอนาคตน่าจะดีกว่าเดิม ... เมื่อสอบถามเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจครัวเรือนของคนกรุงเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว กว่าครึ่ง (ร้อยละ 52.03) บอกว่า ดีเหมือนเดิม แต่อีกประมาณ 1 ใน 3 (ร้อยละ 32.92) บอกว่า แย่เหมือนเดิม แต่เมื่อให้คาดการณ์ถึงสภาพเศรษฐกิจครัวเรือนในอีก 6 เดือนข้างหน้า คนกรุงกว่าครึ่ง (ร้อยละ 59.19) ยังมองว่าน่าจะดีเหมือนเดิมถึงดีขึ้นกว่าเดิม แต่อีกเกือบครึ่ง (ร้อยละ 40.81) กลับมองว่า แย่เหมือนเดิมถึงแย่ลงกว่าเดิม จากผลสำรวจที่ได้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและความหวังของคนกรุงที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจในอนาคตว่า น่าจะดีขึ้น ดังนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเอาใจใส่ดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าครองชีพ สินค้าราคาแพง และค่าแรงที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ