สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 16-20 ก.ค. 61 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 23-27 ก.ค. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 23, 2018 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--ปตท. ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 3.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 72.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 3.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 68.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 2.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 80.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 2.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 84.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 411.1 ล้านบาร์เรล และรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ - รายงานฉบับเดือน ก.ค. 61 ของ EIA คาดปริมาณการผลิต Shale Oil จาก 7 แหล่งหลักของสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 61 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 140,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ - Reuters รายงานอัตราความร่วมมือในการลดการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC กับกลุ่ม Non-OPEC นำโดยรัสเซีย (Compliance Rate) ในเดือน มิ.ย. 61 ลดลงมาอยู่ที่ 120% (ลดลงจากเดือน พ.ค. 61 ที่ 147%) ตามข้อตกลงที่ตั้งเป้าจะขยับอัตราดังกล่าวมาใกล้เคียง 100% - วันที่ 20 ก.ค. 61 การเจรจาระหว่างสหภาพแรงงานบริษัทน้ำมันของนอร์เวย์กับผู้แทนรัฐบาลที่เจรจาแทนบริษัทน้ำมันบรรลุข้อตกลงค่าจ้างและบำนาญ ส่งผลให้พนักงานที่ปฏิบัติการแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่นอกชายฝั่งนอร์เวย์ ราว 1,600 คน กลับมาปฏิบัติงานตามปกติหลังหยุดงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. 61 และแหล่งผลิตน้ำมันนอกชายฝั่ง Knarr (ปริมาณการผลิต 24,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Shell ในนอร์เวย์ กลับมาผลิตน้ำมันดิบได้ - สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจส่งผลลบต่อภาวะเศรษฐกิจโลก โดย International Monetary Fund (IMF) เตือนว่าสงครามการค้าจะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) ชะงักและกดดันต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปี หากเกิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบ GDP ของโลกในปี พ.ศ. 2562 จะปรับตัวลดลงราว 0.5% (คาดการณ์เดิมที่เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.9%) ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลกชะลอตัวลงเช่นกัน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - บริษัท Syncrude (บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท Suncor Energy และ Imperial Oil Ltd.) ผู้ผลิต Oil Sands ใน Alberta ทางตอนเหนือของแคนาดา (ปริมาณการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน) แจ้งปริมาณส่งมอบน้ำมันดิบ เดือน ส.ค. 61 ลดลง 35% จากปกติ ทั้งนี้แคนาดาเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก และกำลังการผลิตของ Syncrude คิดเป็นประมาณ 10 % ของประเทศ - สำนักงานสถิติของจีนรายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่น เดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8% มาอยู่ที่ 12.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยอัตราการกลั่นของโรงกลั่นรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น ช่วยชดเชยอัตราการกลั่นจากโรงกลั่นอิสระที่ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น - บริษัท PDVSA ของเวเนซุเอลาประกาศปิดซ่อมบำรุงรักษาหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดิบจำนวน 2 ใน 4 หน่วยของประเทศ (กำลังการผลิตรวม 360,000 บาร์เรลต่อวัน จาก 700,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งมีแผนปิดซ่อมบำรุงในสัปดาห์นี้ หลังจากเกิดความล่าช้าเนื่องจากขาดแคลนอะไหล่ ทั้งนี้หน่วยดังกล่าวเป็นหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาจาก Extra-Heavy ให้สามารถส่งออกได้ (เดือน มิ.ย. 61 เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบ อยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายโภคภัณฑ์ล่วงหน้าปิดตลาดวันศุกร์ผันผวน โดยราคา NYMEX WTI ลดลง เนื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาส่งมอบน้ำมันดิบ เดือน ส.ค. 61 ที่หมดอายุ และเปลี่ยนสัญญาเป็นเดือน ก.ย. 61 โดยกังวลว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และอุปสงค์น้ำมันลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump วิจารณ์นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve: The Fed) ประกอบกับตลาดคาดว่าซาอุดิอาระเบียจะส่งออกน้ำมันดิบ เดือน ส.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน ให้จับตามองสหภาพแรงงานอังกฤษ Unite the Union ซึ่งมีพนักงานในสังกัดจำนวน 200 คน ปฏิบัติการที่แท่นขุดเจาะปิโตรเลียมที่แหล่ง Mariner (กำลังการผลิต 55,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Aker Solutions จะประท้วงหยุดงาน ช่วงต้นเดือน ส.ค.- ต.ค. 61 อีกทั้งผู้นำสูงสุดของอิหร่าน Ayatollah Ail Khamenei และผู้บังคับบัญชาการกองทัพบก นายพล Kioumas Heydari ออกมาสนับสนุนแนวทางของประธานาธิบดี Hassan Rouhani ที่ขู่จะปิดช่องแคบ Hormuz ตอบโต้สหรัฐฯ ที่ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ และกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ เพื่อทำให้ทุกประเทศในบริเวณอ่าว Persia ไม่สามารถขนส่งสินค้าและลำเลียงน้ำมันเข้าออก ปริมาณ 17.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และหากเกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน จะเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ (Mother of all wars) ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.0-75.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 67.0-71.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69.5-73.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากบริษัท PetroChina ของจีนมีแผนส่งออกน้ำมันเบนซิน ในเดือน ก.ค. 61 จากโรงกลั่น Guangxi (กำลังการกลั่น 240,000 บาร์เรลต่อวัน) จำนวน 5 เที่ยวเรือๆ ละ 306,000 บาร์เรล โดยส่วนใหญ่ไปออสเตรเลียและสิงคโปร์ ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 510,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.67 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 290,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.87 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง ขณะที่ หน่วยงานวิเคราะห์และวางแผนด้านปิโตรเลียม (PPAC) ของอินเดียรายงานยอดขายปลีกน้ำมันเบนซินในเดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 15% มาอยู่ที่ 20.23 ล้านบาร์เรล และ Platts รายงานว่าโรงกลั่นเอกชนหลายแห่งในจีน ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในมณฑล Shandong มีแผนส่งออกน้ำมันเบนซินลดลงในเดือน ก.ค. 61 เนื่องจากเป็นช่วงปิดซ่อมบำรุง ทั้งนี้ JLC บริษัทข้อมูลท้องถิ่นคาดการณ์ว่ากำลังการกลั่นทั้งหมดจะหายไป 400,000 บาร์เรลต่อวัน จาก โรงกลั่น 13 แห่ง ล่าสุดมีรายงานว่าบางโรงกลั่นได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.5-83.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลง จากข่าวหน่วยงานวิเคราะห์และวางแผนด้านปิโตรเลียม (PPAC) ของอินเดียรายงานยอดขายปลีกดีเซล ในเดือน มิ.ย. 61ลดลงจากเดือนก่อน 3% มาอยู่ที่ 54.61 ล้านบาร์เรล และบริษัท Nayara Energy ของอินเดีย ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.001% S ปริมาณ 521,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 14-18 ส.ค. 61 ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 260,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.15 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 130,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.86 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตาม นาย Sri Mulyani Indrawati รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซียมีแผนเพิ่มการอุดหนุนราคาน้ำมัน (Subsidies) มูลค่า 69 ล้านล้านรูเปีย (4.81 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มาอยู่ที่ 163.5 ล้านล้านรูเปีย (1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และสหภาพแรงงานโรงกลั่นน้ำมัน Amuay(645,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเวเนซุเอลาเปิดเผยว่าหน่วย CDU หมายเลข 5 (กำลังการกลั่น 185,000 บาร์เรลต่อวัน) หยุดดำเนินการ หลังเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค บริษัทน้ำมันแห่งชาติ PDVSA ชี้แจงว่าอัตราการกลั่นปัจจุบันอยู่ที่ 21.7% ลดลงจากวันอังคารที่ 17 ก.ค. 61 ซึ่งอยู่ที่ 40.3% ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82.5-86.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ