ส.กุ้งไทยชี้ ปี 51 ปัจจัยการผลิตแพงขึ้นส่งผลต้นทุนพุ่ง ผู้เลี้ยงผนึกกำลังควบคุมปริมาณการผลิต ตั้งเป้าลด 20%

ข่าวทั่วไป Monday December 17, 2007 17:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--สมาคมกุ้งไทย
สมาคมกุ้งไทยชี้ปี 2551 ปัจจัยการผลิตขยับขึ้น ส่งผลต้นทุนการเลี้ยงพุ่งสูง แนะผู้เลี้ยงยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงกุ้งให้พอดี เลี้ยงไม่ให้เสียหาย เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพื่อขายได้ราคา ลงน้อย กุ้งโตเร็ว ได้ไซส์ใหญ่
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทยเปิดเผยถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมกุ้งปี 2550 และแนวโน้มปี 2551 ว่า ปี 2550 คาดว่าทั่วโลกมีผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงประมาณ 2.10 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2549 ร้อยละ 9.2 โดยไทยมีผลผลิตกุ้งประมาณ 530,000 ตันเพิ่มจากปี 2549 ซึ่งผลิตได้ 500,000 ตัน ในขณะที่ประเทศจีน มีผลผลิตที่ประมาณ 480,000 ตัน อินโดนีเซีย 285,000 ตัน เวียดนาม 145,000 ตัน อินเดีย 110,000 ตัน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งทุกประเทศสูงขึ้นเป็นผลมาจากการหันมาเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตจำนวนมาก
ปัญหาหลักในปีที่ผ่านมา คือวิกฤติราคากุ้งตกต่ำ ผลมาจากปริมาณผลผลิตในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2549 ซึ่งได้ผลผลิตมาก ถึงแม้ปริมาณกุ้งส่วนใหญ่จะถูกบริโภคไปมากในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แต่ยังมีกุ้งที่คงเหลือ (Carry Over) สมทบกับผลผลิตกุ้งไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 ที่มีออกมามาก เพราะมีการลงกุ้งอย่างเต็มที่ 100-150 ตัว/ตร.ม. ที่ทำให้จำเป็นต้องมีการทยอยจับออกบางส่วน (Partial Harvest) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกุ้งไซส์เล็ก ทำให้เกิดภาวะราคากุ้งตกต่ำมากตั้งแต่เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคมและเมษายน และค่อยกระเตื้องขึ้นในเดือนกรกฎาคม
"สำหรับแนวโน้มการผลิตในปีหน้า วิกฤติพลังงานเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลถึงต้นทุนของเกษตรกร เนื่องจากราคาน้ำมันแพง ทำให้สินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง และแป้งสาลี ถูกนำไปผลิตพลังงานทดแทน ทำให้ราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2549 เฉลี่ยประมาณร้อยละ 53 ดังนั้นการเลี้ยงในปี 2551 เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องมีการวางแผนการจัดการการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรต้องยึดหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" ลงกุ้งในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อให้กุ้งโตเร็ว ได้ไซส์ใหญ่ และต้องเลี้ยงไม่ให้เกิดความเสียหายในระหว่างการเลี้ยง เพื่อเป็นการลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันวิกฤติราคาที่อาจจะเกิดขึ้นได้" นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว
ด้าน นายเอกพจน์ ยอดพินิจ เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี และตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง กล่าวถึงแนวทางการควบคุมผลผลิตกุ้งปี 2551 ว่า "ปี 2550 ปริมาณกุ้งที่ผลิตในประเทศไทยมีมาก เนื่องจากหลายพื้นที่ของการเลี้ยงกุ้งในประเทศไทยได้กลับมาเลี้ยงใหม่ และความสามารถของเกษตกรไทย ที่สามารถเพิ่มผลผลิตจนมากกว่าความต้องการ หรือความสามารถในการขายผลผลิตกุ้งจากประเทศไทย ส่งผลให้เกิดวิกฤติการณ์ด้านราคากุ้งภายในประเทศ ตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ดังจะเห็นได้จากปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 แต่มูลค่ากลับลดลงร้อยละ 5 ดังนั้น ในปี 2551 ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นปีนี้ จะทำให้ราคากุ้งวิกฤติมากขึ้น จนอุตสาหกรรมกุ้งภายในประเทศตั้งแต่โรงเพาะฟัก ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง แพจับกุ้ง ตลาดกลาง และห้องเย็น ต้องเลิกกิจการอย่างแน่นอน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท.พ. สุรพล ประเทืองธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย กล่าวเสริมว่า ในประเด็นปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ทางกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง อันประกอบด้วย สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมกุ้งตะวันออกไทย สมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย ตลอดจนชมรมผู้เลี้ยงกุ้งทุกจังหวัด ได้ทำการประชุมหารือกันในวันนี้ (17 ธันวาคม) มีมติร่วมออกมาว่า เพื่อความอยู่รอดของผู้เลี้ยงกุ้งไทย เราจะร่วมกันตั้งเป้าลดผลิตกุ้งปี 2551 ลงจำนวนร้อยละ 20 โดยมีมาตรการต่างๆ ดังนี้ 1) ลดความหนาแน่นของจำนวนลูกกุ้งที่ลงเลี้ยง 2) ลดจำนวนรอบของการเลี้ยงกุ้ง โดยการหยุดพักบ่อให้นานขึ้น - ลดจำนวนบ่อที่เลี้ยงให้น้อยลง - ไม่มีการขยายหรือเพื่อจำนวนฟาร์ม หรือบ่อ - พยายามไม่เลี้ยงกุ้งให้มีผลผลิตออกมาพร้อมกัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย 081-830-2448 ,
ท.พ. สุรพล ประเทืองธรรม นายกสาคมผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย 086 - 6865776
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ เลขาธิการสมาคมฯ / ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี 081-956-6611

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ