“ไส้เดือน” ขับเคลื่อนชุมชนสุขภาวะที่ “บ้านตะโละมีญอ”

ข่าวทั่วไป Thursday October 11, 2018 09:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์ แม้ว่าภาพลักษณ์ของไส้เดือนไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนหลายๆ คนเพราะรู้สึกว่าน่ากลัว น่าขยะแขยง แต่ไม่น่าเชื่อว่า ไส้เดือนตัวน้อยๆ ที่บ้านตะโละมีญอ จะขับเคลื่อนชุมชนในหมู่บ้านไปสู่สุขภาวะที่ดีได้ สภาพโดยรวมของ บ้านตะโละมีญอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ก็เหมือนหมู่บ้านชนบทชายแดนใต้ทั่วไป เป็นชุมชนชาวมุสลิม ประกอบอาชีพเกษตรกรรม กว่าร้อยละ 70 ไม่มีที่ดินของตนเอง ต้องรับจ้างและย้ายถิ่นไปหางานทำที่ต่างประเทศ ส่งผลให้เด็กนักเรียน โรงเรียนบ้านตะโละมีญอ จำนวนไม่น้อยต้องออกจากการเรียนกลางคันเพราะต้องย้ายถิ่นฐานตามผู้ปกครอง บ้างก็ถูกทอดทิ้งให้อยู่กับปู่ย่าตายาย มีภาวะเสี่ยงทั้งทางด้านการขาดเรียน ติดเกม และปัญหายาเสพติด คณะครูของโรงเรียนบ้านตะโละมีญอ จึงเน้นจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับอาชีพของชุมชนเช่น การปลูกผัก เพาะเห็ด และการทำนาบนที่ดินว่างเปล่าข้างโรงเรียนที่ได้ข้าวมาเป็นอาหารกลางวันของนักเรียนสองร้อยกว่าคน และยังสร้างสัมพันธภาพภาพที่ดีระหว่างโรงเรียนและคนในชุมชนความสำเร็จของโรงเรียนทำให้เกิดการขยายผลต่อ ด้วยคณะครูเห็นว่า แทบทั้งหมดของชุมชนทำการเกษตรโดยใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของคนในพื้นที่ จึงมีแนวคิดส่งเสริมให้ชุมชนลดละเลิกการใช้สารเคมี เริ่มจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีราคาแพงและทำลายผืนดินในระยะยาว "ในชุมชนมีมูลสัตว์มากมาย พวกมูลวัว มูลแพะ แต่ชาวบ้านไม่ค่อยนิยมใช้เพราะไม่สะดวก ต้องใช้แรงงาน และให้ผลผลิตสู้ปุ๋ยเคมีไม่ได้" ปวีณา มะแซ ครูผู้รับผิดชอบโครงการฯเล่าและอธิบายต่อว่า คณะทำงานจึงหาทางนำเอามูลสัตว์ทั่วไปมาปรับปรุงให้เป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนเพื่อเพิ่มทั้งมูลค่าและประสิทธิภาพ ด้วยวัตถุประสงค์ให้นักเรียนฝึกประสบการณ์การเรียนรู้กิจกรรมเลี้ยงไส้เดือน โดยเฉพาะทักษะด้านการประกอบอาชีพ เพื่อที่จะนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของทั้งตนเองและครอบครัว ทั้งเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาใช้ปุ๋ยจากมูลไส้เดือนทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีขึ้นในชุมชน "โครงการพัฒนาทักษะอาชีพผลิตปุ๋ยชีวภาพจากมูลไส้เดือน" จึงเกิดขึ้น โดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด.ญ.ธัญญาธร บูละ นักเรียนชั้น ป.5 แม้ว่าจะเป็นเด็กประถม แต่ก็ให้ความสนใจการเพาะเลี้ยงไส้เดือนอย่างมาก ที่ไม่เคยกล้าจับไส้เดือนเลยก็ได้ลองเพาะเลี้ยงไส้เดือนและจับไส้เดือนเป็นครั้งแรกในชีวิต "หนูลองจับไส้เดือนครั้งแรกตอนไปดูงาน ก็กลับมาหัดเลี้ยง ได้ปุ๋ยไส้เดือน เอาไปให้แม่ใส่ต้นพริก พริกออกผลเยอะมากค่ะ ตอนนี้ไม่กลัวไส้เดือนแล้ว" ด.ญ.ธัญญาธร เล่า ชาวบ้านและผู้ปกครองในชุมชนจำนวนไม่น้อยก็เข้ามาร่วมในโครงการในฐานะผู้สนับสนุน ร่วมกันปรับปรุงห้องเก็บของให้เป็นโรงเพาะเลี้ยงไส้เดือน สนับสนุนการทำ เบดดิ้ง (Bedding) เพื่อเลี้ยงไส้เดือนด้วยการนำมูลวัวมูลแพะที่มีอยู่ทั่วไปในชุมชนไปแช่น้ำเพื่อเตรียมเป็นอาหารไส้เดือน และยังร่วมกิจกรรมดูแลไส้เดือนร่วมกับลูกหลาน ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวจนกระทั่งโครงการเลี้ยงไส้เดือนของเด็กๆ ได้ผลผลิตเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนเป็นจำนวนมาก และขยายผลกิจกรรมไปสู่การเก็บรักษา การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การจัดแสดงส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปุ๋ยไส้เดือนรวมไปถึงการจัดจำหน่ายได้อย่างครบวงจร แม้ว่าจะผลิตปุ๋ยได้มากและประสบความสำเร็จในการขายผลผลิตอย่างดี มีคนมาขอซื้อและจองเป็นจำนวนมากจนแทบไม่พอที่จะแบ่งไปใส่นาข้าวของโรงเรียน แต่ก็ยังมีปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญเพราะยังมีคนอีกหลายคนในชุมชนคิดว่า ไส้เดือนไม่สะอาด มูลไส้เดือนยิ่งไม่สะอาด "ตอนแรกๆ โดยศาสนาและประเพณี เรารู้สึกขัดๆ แปลกๆ คิดไปว่าไส้เดือนเป็นของสกปรก" ซัยดูนิง มะเกะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หนึ่งในชาวบ้านในชุมชนที่มาช่วยเหลือโครงการเล่าความรู้สึกในช่วงแรก ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปุ๋ยไส้เดือนได้ถูกจัดแสดงให้ชุมชนโดยเด็กๆ ช่วยกันจัดทำข้อมูลและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และนอกจากนั้น ครูปวีณายังทำงานเชิงรุกโดยการให้นักเรียนทุกคนที่ร่วมโครงการนำปุ๋ยไส้เดือนไปใช้ที่บ้าน เมื่อคนในชุมชนที่มาซื้อก็ทั้งทั้งลดทั้งแถมให้ ทางโรงเรียนเองก็ใช้เองทั้งการปลูกข้าวและปลูกผัก และคนที่เป็นหัวแรงในการนำใช้ปุ๋ยไส้เดือนที่สำคัญที่สุดคือ ผอ. โรงเรียนบ้านตะโละมีญอ ที่ลงทุนทำสวนปาล์มถึง 100 ต้นเพื่อเป็นแปลงทดลองปุ๋ยไส้เดือน "สวนของผมใช้ปุ๋ยไส้เดือน มีแต่คนแวะดูแวะถามว่า อาจารย์ใช้ปุ๋ยอะไร เพราะปาล์มสวนของผมต้นโตสูงแข็งแรงกว่าสวนข้างๆ ที่ปลูกพร้อมกัน" อิสเหาะ สามะเต ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะโละมีญอเล่า ขณะที่แปลงทดลองปาล์มของ ผอ.อิสเหาะโตใหญ่กว่าสวนข้างๆ พริกที่ปลูกไว้ข้างบ้านของ ด.ญ.ธัญญาธร ก็ออกผลเต็มต้น ไม่ต่างกับกล้วยที่บ้านของนักเรียนหลายคนก็เครือใหญ่ลูกโต ผักในสวนหลังบ้านก็งามใบเขียวสด ข้าวในนาของโรงเรียนก็ให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ 25 ถัง ผลดีของปุ๋ยไส้เดือนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวบ้าน อีกทั้งการตอกย้ำให้ความรู้ถึงคุณประโยชน์ของปุ๋ยไส้เดือนที่นอกจากทำให้ดินดีแล้วยังเป็นปุ๋ยชีวภาพ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนที่เด็กๆ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ คนในชุมชนจึงหันมาชื่นชอบปุ๋ยไส้เดือนโดยนำไปใส่ในผลผลิตทุกชนิดทั้งปาล์ม ยางพารา พืชผัก และนาข้าว ทำให้ทุกวันนี้ปุ๋ยไส้เดือนของโรงเรียนบ้านตะโละมีญอไม่พอจำหน่ายและมีคิวจองยาวเหยียด "เงินรายได้มากๆ ไม่ใช่คำตอบ กำไรสูงสุดของเราคือ เด็กมีทักษะ สร้างงานสร้างอาชีพได้ ชาวบ้านเปลี่ยนทัศนคติลดเลิกการใช้เคมีมาใช้ปุ๋ยชีวภาพและเข้าสู่แนวทางเกษตรปลอดภัยมากขึ้น ชุมชนมีความสุข สุขภาพดี ซึ่งดีต่อชุมชนโดยรวมในระยะยาว" ครูปวีณา สรุปผลความสำเร็จของโครงการ ในวันนี้ ดญ. ธัญญาธร กับเพื่อนๆ กำลังสนุกกับการทดลองเลี้ยงไส้เดือนสายพันธุ์ใหม่ๆ ผู้ช่วยฯ ซัยดูนิง ก็เป็นหัวแรงในการชักชวนเพื่อนบ้านหันมาใช้ปุ๋ยไส้เดือน ผู้ใหญ่บ้านก็สนับสนุนให้ชาวบ้านเลี้ยงไส้เดือนทำปุ๋ยเองในครัวเรือน ด้าน ผอ.อิสเหาะ ก็วางแผนผลิตข้าวไร้สารพิษจากปุ๋ยไส้เดือน และครูปวีณา กำลังคิดต่อยอดขยายผลให้ชุมชนหันมาใส่ใจสุขภาพจากการลดละเลิกสารเคมีให้มากขึ้นกว่าเดิม จากไส้เดือนตัวเล็กๆ ไม่กี่ตัว เมื่อได้ความร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนจากทุกๆ ฝ่าย ก็สามารถทำให้ชุมชนมีความสุขทั้งทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ เพราะชุมชนได้มีกิจกรรมสร้างสุขร่วมกัน เด็กที่ด้อยโอกาสในชนบทห่างไกลก็สามารถพัฒนาทักษะให้ตนเอง เรียนรู้การประกอบอาชีพ และเห็นคุณค่าของตนเอง นี่คือโครงการเล็กๆ จากไส้เดือนตัวเล็กๆ ที่สร้างสุขยิ่งใหญ่ให้แก่ชุมชนบ้านตะโละมีญอ.
แท็ก เกษตรกร   ว่าน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ