“เด็กเมืองลุง” สืบสานการละเล่นท้องถิ่นพื้นบ้านสร้างความสุข สนุกในการเรียนรู้ สู่การพัฒนาทักษะชีวิต

ข่าวทั่วไป Thursday October 11, 2018 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการละเล่นของเล่นท้องถิ่นที่สืบทอดจากภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนก็ค่อยๆเลือนหายไป ถูกแทนที่ด้วยเกมบนหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอสมาร์ทโฟน เป็นการละเล่นที่ต้องใช้ทักษะด้านเทคโนโลยี แต่ผู้เล่นแทบไม่ได้ขยับร่างกาย แตกต่างจากการละเล่นแบบดั้งเดิมที่ต้องใช้ทักษะทางกาย และการคิดคำนวณ สามารถร่วมสนุกสนานเล่นกันได้คราวละหลายคน แม้การเล่นเกมยุคใหม่จะให้ความสนุกสนานดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ๆ แต่ที่ โรงเรียนประชาบำรุง (อุทิตกิจจาทร) ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง นักเรียนยังให้ความสนใจกับการละเล่นที่มีอยู่ในท้องถิ่น ออกไปช่วยกันตามสืบค้นคัดเลือกการละเล่นเหล่านั้นให้กลับมาสร้างบรรยากาศความสนุกในยุคนี้อีกครั้ง ด้วย "โครงการเล่นสนุกสร้างสุขเปิดยิ้ม ที่โรงเรียนประชาบำรุง" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ครูโสภา ฤทธิเดช ผู้สอนวิชาภาษาไทย ในฐานะที่ปรึกษา เล่าว่าในพื้นที่มีภูมิปัญญาการละเล่นท้องถิ่นอยู่หลายชนิด บางอย่างอาจไม่เป็นที่รู้จัก คณะครูและนักเรียนจึงร่วมปรึกษาวางแผนดำเนินโครงการ โดยให้กลุ่มสภานักเรียนลงพื้นที่เพื่อสืบเสาะการละเล่นที่สนุกสนานและวิธีการเล่นกลับมาคัดเลือก เช่น เดินกะลา ต้อหมาก (ลากกาบหมากโดยมีอีกคนนั่งบนกาบหมาก) เดินทองโย่ง (โยกเยก) มอญซ่อนผ้า งูกินหาง หมากขุม หมากเก็บ จากนั้นจึงเชิญวิทยากร ครูภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาสาธิตในโรงเรียน โดยมีแกนนำนักเรียนร่วมสาธิต 30 คน ฝึกซ้อมตามคำแนะนำของวิทยากร 2 สัปดาห์ ต่อมาจึงนำนักเรียนไปแสดงจริงในตลาดนัดของชุมชน เชิญชวนโรงเรียนต่างๆในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้นำการละเล่นเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ในวันภาษาไทย มีการเปิดซุ้มการละเล่นให้เด็กๆได้สนุกสนานและได้ความรู้หนึ่งวันเต็มๆ "โครงการนี้ครูคาดหวังว่าเด็กๆ จะทำได้ดี ก็มอบหมายงานให้สภานักเรียนไปประชุมวางแผนหาสมาชิกรุ่นน้องๆ มาเข้าร่วมกิจกรรม มีการฝึกซ้อมกันก่อน แบ่งหน้าที่มีการติดตามงาน ตอนแรกทั้งเด็กทั้งครูก็เครียด จนกระทั่งงานสำเร็จ เด็กได้แสดงตัวตน ทำให้เด็กๆ มีความสุขมากเพราะได้โชว์คน คนมาดูเต็มตลาดเลย มีครูบาอาจารย์ นักเรียนโรงเรียนต่างๆ มาดู ชาวบ้านมาเต็มหมดเลย เด็กๆ ดีใจมาก ทุกอย่างเด็กจัดการกันทั้งหมดเลย" ครูที่ปรึกษาโครงการกล่าว ครูโสภาย้ำว่านอกจากเด็กจะได้ความสุขแล้ว ยังทำให้นักเรียนได้ประสบการณ์ แม้งานจะมีอุปสรรคแต่คนที่ทำงานก็จะมีทักษะการแก้ปัญหา รู้จักความรับผิดชอบความสามัคคี รู้จักอยู่ร่วมกันกับคนอื่น ได้มิตรภาพ และยังได้ฝึกการเป็นผู้นำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตในสังคมต่อไป ทางด้าน เกียรติภูมิ หมาดเส็น นักเรียนชั้น ม. 6 หนึ่งในแกนนำนักเรียน ยอมรับว่าการละเล่นบางอย่างไม่เคยรู้จักมาก่อน เมื่อเริ่มต้นดำเนินโครงการก็ได้ลงพื้นที่ไปสอบถามการละเล่นในชุมชนพื้นที่ตำบลตะโหมด ทั้งรายละเอียดความเป็นมาของการละเล่นแต่ละชนิด กติกา วิธีการเล่น นำมาร่วมประชุมคัดเลือกกิจกรรมที่สามารถสาธิตได้ โดยคำนึงถึงความสนุกในการเล่น มีความเหมาะสมกับพื้นที่ และผู้ที่จะเล่นต้องรู้กติกาการเล่นเป็นอย่างดี "บางอย่างผมก็เคยเล่น บางอย่างก็ไม่เคยเล่นมาก่อนแต่พอมาเล่นแบบนี้มันก็สนุก เพราะเราต้องเอาตัวเราเข้าไปเล่นเอง ได้ออกกำลังกายไปในตัวด้วย การละเล่นบางอย่างรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็ยังไม่เคยเล่นเลย ในวันที่มีการแสดงผลงานก็ชักชวนพ่อแม่มาดู ผมคิดว่าพ่อแม่ก็คงภูมิใจ" เกียรติภูมิ กล่าว ขณะที่ กนกวรรณ แก้วถาวร ประธานนักเรียน กล่าวเสริมว่ามีส่วนร่วมกับกิจกรรมมาตั้งแต่เริ่มต้น ให้การสนับสนุนทุกด้านเพื่อให้กิจกรรมประสบความสำเร็จ โดยชักชวนรุ่นน้องๆ เข้าร่วมกิจกรรม ช่วยกันจัดสถานที่ จัดหาอุปกรณ์สำหรับการละเล่น ดำเนินการประชาสัมพันธ์ทำหนังสือไปยังโรงเรียนในเขตพื้นที่ให้นำนักเรียนมาร่วมกิจกรรม เท่าที่สังเกตจากการจัดกิจกรรมที่ตลาดนัดของชุมชน เด็กๆ จะให้ความสนใจร่วมเล่นการละเล่นกับพวกเราอย่างมีความสุข "หนูคิดว่าทางเราจะจัดกิจกรรมชวนน้องๆ โรงเรียนอื่นๆ มาร่วมกิจกรรมอีก สิ่งที่หนูได้คือได้ประสบการณ์การทำงาน ได้รู้จักการแสดงออก รู้จักการทำงานเป็นทีม รู้จักวางแผนการทำงาน เราจะทำงานก็จะต้องรู้จักวางแผนก่อน รู้จักการวิเคราะห์ สังเคราะห์ รวบรวมข้อมูล ถ้ามีกิจกรรมเพื่อนๆ น้องๆ ก็จะให้ความร่วมมือดี" ประธานนักเรียนกล่าว โครงการเล่นสนุกสร้างสุขเปิดยิ้ม จึงเป็นกิจกรรมได้ช่วยชุบชีวิตและอนุรักษ์การละเล่นท้องถิ่นเชิงสร้างสรรค์ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เป็นความสุขและสนุกสนานที่เกิดขึ้นกับคณะครูและนักเรียน พร้อมกับสามารถความสร้างสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับสมาชิกทุกเพศวัยในชุมชนอย่างทั่วหน้า.
แท็ก สมาร์ทโฟน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ