ศสช. จัดประชุมพัฒนาการศึกษาบุคลากรด้านสุขภาพ ผนึกพลังภาคี ปฎิรูประบบสุขภาพ

ข่าวทั่วไป Wednesday November 21, 2018 15:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สภาวิชาชีพสุขภาพ องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย มูลนิธิไชน่าเมดิคัลบอร์ด และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JIC A) จัดประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติ การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ "ผนึกพลังภาคี ปฎิรูประบบสุขภาพ: Synergizing partners: the key for health systems reform" เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ การจัดการองค์ความรู้ และขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนด้านสุขภาพอย่างมีคุณภาพจากการเรียนรู้โดยใช้พื้นที่และชุมชนเป็นฐานการปฏิบัติงานจริงภายใต้หลักเศรษฐกิจพิเพียง ระหว่างวันที่ 12-13 พ.ย.2561 ณ โรงแรม เซนทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ในงานได้รับเกียรติจาก ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารจากหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมงาน ทั้งนี้การประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ "ผนึกพลังภาคี ปฎิรูประบบสุขภาพ" ครั้งนี้เวทีที่มีความสำคัญจัดขึ้นเพื่อกำหนดนโยบายในการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพทุกสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ สาธารณสุข เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด สัตวแพทย์ และแพทย์แผนไทย โดยมีจุดมุ่งหมายให้บุคลากรวิชาชีพสุขภาพตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีศึกษาจากหลักฐานทางวิชาการ ตลอดจนร่วมเสนอนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการพัฒนาการศึกษา บุคลากรด้านสุขภาพ ภายใต้ความร่วมมือของบุคลากรในสถาบันการศึกษาตลอดจนองค์กรวิชาชีพกับสถาบันในระบบบริการสาธารณสุขชุมชน และเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ ในเขตบริการสุขภาพทำให้มีการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานร่วมกันในเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต และกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการมีส่วนร่วมจากทุกสาขาวิชาชีพ สถาบัน องค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาชน ด้วยการสร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำงานในชุมชนโดยการเรียนรู้แบบชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในการจัดการศึกษาและจัดการความรู้ มุ่งเน้นการกำหนดนโยบายการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพจากการเรียนรู้นวัตกรรมการพัฒนาบุคลากรสุขภาพโดยใช้พื้นที่ชุมชนเป็นฐานการปฏิบัติงานจริง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนากำลังคนและการศึกษาของบุคลากรสุขภาพเพื่อสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรสุขภาพในประเทศไทย เสนอข้อคิดเห็นจากการศึกษาวิจัยและวิเคราะห์สถานการณ์แลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีศึกษา รวมทั้งการวางแผนกำลังคน ด้านสุขภาพ ตลอดจนกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพื่อนำมากำหนดเป็นนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพต่อไป ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านระบบสุขภาพของประเทศไทยได้มีการพัฒนาในเชิงภาพรวมของระบบ แต่ยังพบว่าในการพัฒนากำลังคนทางด้านสุขภาพใน 3 ด้าน คือการวางแผน การผลิต และการบริหารจัดการ ยังมีช่องว่างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนค่อนข้างน้อย เช่น การผลิตที่ต่างฝ่ายต่างทำ ไม่มีการวางแผนร่วมกันจังทำให้ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสุขภาพที่วางไว้ หรือผลิตเกินความต้องการ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ เป็นต้น ฉะนั้น ในมิติการพัฒนาระบบกำลังคนทางด้านสุขภาพ เพื่อการวางแผนให้กำลังคนทางด้านสุขภาพมีทิศทาง มีการกระจายอย่างเป็นธรรม มีสัดส่วนที่เหมาะสม ตลอดจนมีการปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ เป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพที่ยั่งยืนของประเทศ นอกจากนี้ จากงานวิจัยเรื่องการทบทวนระบบธรรมาภิบาลในด้านการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ชี้ว่า ในการดำเนินงานด้านการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ ต้องเป็นการมีส่วนร่วมอย่างเต็มใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักฐานเชิงประจักษ์และผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักในการพิจารณาเรื่องใดๆ ยอมรับและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีการติดตามประเมินผล และปรับปรุงธำรงรักษาระบบให้เกิดความยั่งยืน สำหรับประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติ การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพฯ ในครั้งนี้ ได้ยึดหลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานจากต่างประเทศ มาร่วมทำความเข้าใจ ความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสนอข้อคิดเห็นเพื่อร่วมกำหนดนโยบายของสหสาขาวิชาชีพสุขภาพ ตลอดจนฝ่ายสนับสนุนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการวิชาการในสหสาขาวิชาชีพ ก่อให้เกิดความร่วมมือ รวมทั้งเกิดนวัตกรรมทางการศึกษาวิชาชีพสุขภาพของประเทศต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ของการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในประเทศชาติ เพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชนในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ