ร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่..) พ.ศ. .... กลุ่มที่ 2 บทบัญญัติเกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 26, 2018 18:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่..) พ.ศ. .... กลุ่มที่ 2 บทบัญญัติเกี่ยวกับการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท (ร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ กลุ่มที่ 2) ที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ กลุ่มที่ 2 มีสาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้ 1. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของกรรมการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการให้มี ความเหมาะสม และกำหนดให้การแต่งตั้งกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการต้องได้รับความเห็นชอบจาก นายทะเบียน รวมทั้งกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการบริษัท และกำหนดหลักเกณฑ์ให้บริษัทต้องปฏิบัติเพื่อให้มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย 2. กำหนดบทบัญญัติเพื่อใช้ในการกำกับดูแลผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่อให้ทราบแหล่งที่มาของเงินทุนและมีความโปร่งใส โดยกำหนดให้มีการรายงานการถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 5 หรือขอรับความเห็นชอบการถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 10 3. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนและการบริหารสินทรัพย์ของบริษัทให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยกำหนดให้บริษัทต้องดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำ และคณะกรรมการสามารถกำหนดให้บริษัทดำรงเงินกองทุนเพิ่มเติมได้ในกรณีที่ปรากฏว่าบริษัทมีความเสี่ยงสูง หรือคาดว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในอนาคต 4. กำหนดให้บริษัทต้องมีนักคณิตศาสตร์ประกันภัยประจำบริษัทตลอดเวลาที่ประกอบธุรกิจ เพื่อทำหน้าที่รับรองการวิเคราะห์ทางการเงินและแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการบริษัท และปรับปรุงคุณสมบัติและบทบาทอำนาจหน้าที่ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งให้แจ้งต่อนายทะเบียนได้เมื่อพบเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในบริษัท ตลอดจนปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้นโดยพิจารณาตามความร้ายแรงของการกระทำ 5. กำหนดให้การจัดทำบัญชี สมุดทะเบียน ตลอดจนการจัดทำและยื่นงบการเงินต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งผู้สอบบัญชีของบริษัทต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน และนายทะเบียนมีอำนาจแต่งตั้งผู้สอบบัญชีหรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านเพื่อดำเนินการตรวจสอบได้หากเห็นว่าสมุดทะเบียน สมุดบัญชี งบการเงิน ข้อมูล รายงาน เอกสาร หรือคำชี้แจง ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน คลุมเครือไม่ชัดเจน ตลอดจนต้องดำเนินการประกาศรายการงบการเงินให้ประชาชนทราบ 6. กำหนดกระบวนการแก้ไขฐานะและการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นรูปธรรม ลดการใช้ดุลพินิจ และเกิดความชัดเจนต่อภาคธุรกิจ โดยกรณีที่บริษัทมีเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดให้สามารถเข้าแทรกแซงได้ 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 เสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะการเงินเมื่อเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (CAR Ratio ร้อยละ 100) ระดับที่ 2 มีคำสั่งเข้าควบคุมบริษัท (กรณีบริษัทประกันชีวิต) และมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว (กรณีบริษัทประกันวินาศภัย) เมื่อบริษัทมีเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 60 และระดับที่ 3 ปิดกิจการและเสนอเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อเงินกองทุนต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 35 และกำหนดกรณีที่ถือว่าบริษัทมีฐานะหรือการดำเนินงานอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยให้มีความชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการใช้มาตรการแทรกแซง หรือมีคำสั่งให้บริษัทแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานเมื่อเกิดกรณีดังกล่าว ตลอดจนการรายงานให้รัฐมนตรีทราบเมื่อมีการใช้มาตรการแทรกแซง (เมื่อเข้าแทรกแซงในระดับที่ 2) พร้อมทั้งแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบด้วย ในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุน 7. กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัย พร้อมทั้งการรักษาความลับของข้อมูลระหว่างสำนักงานกับผู้ที่ได้รับข้อมูล (ผู้ที่ได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยทุกรายและทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในประเทศหรือต่างประเทศ) ร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ ทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยมีความพร้อมของระบบงานและบุคลากร ตลอดจนระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมทั้งมีการสร้างกระบวนการในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยให้เป็นรูปธรรมและลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับภาคธุรกิจในการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งกลไกดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ภาคการประกันภัยมีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน อันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากนี้ จะเป็นขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกันชีวิตฯ และร่าง พ.ร.บ. ประกันวินาศภัยฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 02 273 9020 ต่อ 3690

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ