แนะพืชทางเลือกตาม Agri-Map จังหวัดตาก ชู อะโวคาโด กล้วยหอมทอง และพืชผักปลอดภัย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 12, 2018 13:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map)ในพื้นที่จังหวัดตาก ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) ได้ทำการศึกษาเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ รวมทั้งสินค้าทางเลือกที่มีศักยภาพสำหรับปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวนาปี โดยผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ 1 การผลิตในพื้นที่เหมาะสมมาก (S1) และ เหมาะสมปานกลาง (S2) ควรส่งเสริมและพัฒนาโดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพสินค้าสู่มาตรฐาน ควบคู่กับการสร้างกลุ่มที่เข้มแข็งและพัฒนาระบบการบริหารจัดการกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ กลุ่มที่ 2 การผลิตในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) และ พื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ในกรณีที่เกษตรกรสนใจปรับเปลี่ยนการผลิต ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (มีพื้นที่ S3 และ N รวม 111,065 ไร่) พื้นที่อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ และอำเภอสามเงา พบว่า สามารถปลูกไม้ผลเป็นพืชทางเลือกได้ 50,010 ไร่ และในกรณีเกษตรกรสนใจปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวนาปี (มีพื้นที่ S3 และ N รวม 114,958 ไร่) พื้นที่อำเภอเมืองตาก อำเภอสามเงา อำเภอบ้านตาก และอำเภอแม่สอด จะสามารถปลูกไม้ผลเป็นพืชทางเลือกได้ 36,513 ไร่ สำหรับพืชทางเลือกที่เหมาะในการปรับเปลี่ยน มีจำนวน 4 ชนิด ได้แก่ 1) อะโวคาโด มีต้นทุนการผลิตระหว่าง 9,485 - 11,725 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนจากการผลิตในปีที่ 6 ประมาณ 80,250 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 69,452 บาท/ไร่ โดยผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ขายแบบเหมาสวนให้พ่อค้าจังหวัดเชียงใหม่ และปัจจุบันมีกระแสความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มผู้รักสุขภาพและความงาม 2) กล้วยหอมทอง (ที่มีระบบน้ำเสริมในแปลง) มีต้นทุนการผลิตอยู่ระหว่าง 12,842 - 17,956 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 18,340 -19,250 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 383 บาท/ไร่ในปีที่ 1 และผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในปีที่ 2 เป็น 6,407 บาท/ไร่ ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ขายให้พ่อค้าต่างจังหวัด (ตลาดสี่มุมเมือง) โดยกล้วยหอมคุณภาพยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นสินค้าที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม 3) พืชผักปลอดภัย อาทิ ผักชี มีต้นทุนการผลิต 17,526 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 48,000 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 30,474 บาท/ไร่ กวางตุ้ง ต้นทุนการผลิต 7,919 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 8,800 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 880 บาท/ไร่ และคะน้า ต้นทุนการผลิต 10,017 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 19,200 บาท/ร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 9,182 บาท/ไร่ โดยผลผลิตทั้ง 3 ชนิด ส่วนใหญ่ ร้อยละ 60 ขายให้พ่อค้าภายในจังหวัด ซึ่งกระแสความต้องการสินค้าเกษตรปลอดภัยยังมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งกิจกรรมดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน และเป็นการอนุรักษ์ ลดมลพิษให้สิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง และ 4) เกษตรผสมผสาน ต้นทุนการผลิตรวมทุกกิจกรรม 329,090 บาท/ปี ผลตอบแทน 443,611 บาท/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 114,520 บาท/ปี ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จำหน่ายในชุมชน และเครือข่ายเกษตรกร ทั้งนี้ กิจกรรมเกษตรผสมผสานสามารถป้องกันความเสี่ยงได้หลายด้าน ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ด้านนายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวเสริมว่า หากในกรณีเกษตรกรไม่ปรับเปลี่ยนการผลิต เนื่องจาก มีพื้นที่ทำการเกษตรน้อย และปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน แนวทางการพัฒนาควรมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพดินให้มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อาทิ การตรวจวิเคราะห์ดินรายแปลง การใช้สารปรับปรุงบำรุงดินตามค่าวิเคราะห์ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แหล่งน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ สศท.2 ได้มีการหารือและรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาดังกล่าว ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับจังหวัด ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะหลายประการ อาทิ การปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตควรคำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศน์ควบคู่ไปกับด้านเศรษฐศาสตร์ การส่งเสริมการผลิตสินค้าควรที่มีความหลากหลายเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เน้นผลิตสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น และจัดเวทีชุมชนเพื่อสอบถามความต้องการและความเป็นไปได้ในการผลิตสินค้าชนิดใหม่ให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง สำหรับท่านที่สนใจผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร. 0 5532 2650 0 5532 2658 หรือ อีเมล zone2@oae.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ