การออกแบบและฟังก์ชั่นการใช้งานของเครื่องเสียง,ระบบความบันเทิง และระบบนำทาง ส่งผลต่อความน่าดึงดูดใจของรถยนต์มากที่สุด, ผลการศึกษาวิจัยจาก เจ.ดี. พาวเวอร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 28, 2019 16:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--เจ.ดี. พาวเวอร์ โตโยต้าคว้า 2 รางวัลด้าน APEAL ส่วนมิตซูบิชิ, ฮอนด้า, มาสด้า, เชฟโรเลต และฟอร์ด ได้รับค่ายละ 1 รางวัล ผลการศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ในประเทศไทย ประจำปี 2561 โดยเจ.ดี.พาวเวอร์ (J.D. Power 2018 Thailand Automotive Performance, Execution and Layout (APEAL) Study,SM) เปิดเผยในวันนี้ว่า เครื่องเสียง, ระบบความบันเทิง และระบบนำทาง (AENS) ทำให้เจ้าของรถยนต์รู้สึกว่าตัวรถยนต์มีความน่าดึงดูดใจมากขึ้น และมีความสำคัญมากที่สุด เมื่อเทียบกับหมวดหมู่อื่นๆ ที่ส่งผลต่อสมรรถนะและการออกแบบรถยนต์คันใหม่โดยรวม จากการศึกษาพบว่า คุณลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวกับเครื่องเสียง, ระบบความบันเทิง และระบบนำทาง (AENS) ที่ได้รับความพึงพอใจน้อยที่สุด ได้แก่ ความน่าสนใจของจอแสดงผลจากระบบเครื่องเสียงและระบบนำทาง; ความง่ายในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ใช้เล่นเพลงกับตัวรถยนต์; คุณภาพเสียงของการโทร เมื่อใช้การเชื่อมต่อโทรศัพท์ผ่านระบบบลูทูธ(R); รวมถึงลักษณะ และสัมผัสของปุ่มควบคุมเครื่องเสียง "เป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นสำหรับลูกค้าที่สามารถเชื่อมต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของตัวเองไปพร้อมกับการใช้รถยนต์ — ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน เพื่อฟังเพลง หรือใช้แอปพลิเคชันนำทางเข้ากับระบบเครื่องเสียงรถยนต์ — ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ความสามารถในการใช้งานและการออกแบบอุปกรณ์เหล่านี้ต้องมีมาตรฐานสูงสุด" ศิรส สาตราภัย ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค เจ.ดี. พาวเวอร์ ประจำประเทศไทย กล่าว "จากปัจจัยต่างๆ ทั้งหมด เจ้าของรถยนต์พึงพอใจในรถยนต์ของตนเองน้อยที่สุดในด้านเครื่องเสียง/ ระบบสื่อสาร/ ระบบความบันเทิง/ ระบบนำทาง (ACEN) ซึ่งปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งในส่วนของการออกแบบ, ตำแหน่งการจัดวาง และประโยชน์จากการใช้งาน ผู้ผลิตรถยนต์และซัพพลายเออร์จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าที่ลูกค้าคาดหวังไว้" การศึกษาในครั้งนี้ยังพบอีกว่า คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจโดยรวม อยู่ที่ 846 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 1,000 คะแนน) ในปี 2561 โดยเจ้าของรถยนต์อเนกประสงค์ให้คะแนนสูงสุดที่มีต่อความน่าดึงดูดใจของรถยนต์ (855 คะแนน) ตามมาด้วยเจ้าของรถกระบะ (845 คะแนน) และเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (843 คะแนน) ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมที่ได้จากการสำรวจ ประจำปี 2561: - ปัญหาด้านคุณภาพที่เพิ่มขึ้น ลดความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อความน่าดึงดูดใจของรถยนต์: ลูกค้าที่รถยนต์ไม่เคยประสบปัญหาด้านคุณภาพมีความพึงพอใจต่อความน่าดึงดูดใจโดยรวมของรถยนต์มากกว่าผู้ที่ประสบปัญหาคุณภาพตั้งแต่ 3 ปัญหาขึ้นไป (861 คะแนน เทียบกับ 809 คะแนน ตามลำดับ) - การออกแบบพื้นที่เก็บสัมภาระและพื้นที่ว่างต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง: ความพึงพอใจที่มีต่อที่วางแก้วด้านหลัง, พื้นที่เก็บของบริเวณคอนโซลกลาง และช่องเก็บของด้านหน้า รวมถึงพื้นที่อื่นๆ สำหรับผู้โดยสารที่นั่งเบาะด้านหลังแถวที่ 2 (พื้นที่เหนือศรีษะ, พื้นที่สำหรับวางขา และวางเท้า) ได้รับคะแนนน้อยที่สุดจากคุณลักษณะทั้งหมดของโมเดลการศึกษาวิจัยด้าน APEAL - ผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์คันแรกมีความพึงพอใจน้อยกว่า: ผู้ที่ซื้อรถยนต์คันแรกให้คะแนน APEAL ต่ำกว่าผู้ที่เคยซื้อรถยนต์มาก่อนแล้ว (842 คะแนน เทียบกับ 852 คะแนน ตามลำดับ) - การออกแบบรูปลักษณ์และการใช้งานที่ดีจะช่วยส่งเสริมแบรนด์ให้ดีขึ้น: Net Promoter Score(R)[1] (NPS) เป็นตัววัดแนวโน้มของลูกค้าที่จะแนะนำยี่ห้อและรุ่นรถที่พวกเขาใช้อยู่ให้กับผู้อื่น จากการให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 10 คะแนน ในปีนี้คะแนน NPS โดยรวมอยู่ที่ 52 คะแนน โดยกลุ่มเจ้าของรถยนต์ใหม่ที่ให้คะแนน 9 หรือ 10 คะแนนในการที่พวกเขาจะแนะนำยี่ห้อรถที่ตัวเองใช้อยู่ (Promoters) ให้คะแนน APEAL สูงถึง 879 คะแนน เมื่อเทียบกับเจ้าของรถยนต์ที่ให้คะแนน 0 ถึง 6 คะแนน (Detractors) ที่ให้คะแนน APEAL เพียง 724 คะแนน ผลการจัดอันดับจากการศึกษาวิจัย - มิตซูบิชิ มิราจ ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็ก ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 849 คะแนน - ฮอนด้า แจ๊ส ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลางระดับต้น ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 846 คะแนน - มาสด้า3 ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์ขนาดกลาง ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 852 คะแนน - โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 865 คะแนน - เชฟโรเลต โคโลราโด เอ็กซ์-แคป และ โตโยต้า ไฮลักซ์ รีโว่ พรีรันเนอร์ สมาร์ท แคป ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มประเภทรถกระบะตอนขยาย ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 850 คะแนน - ฟอร์ด เรนเจอร์ ไฮ-ไรเดอร์ ดี-แคป ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มประเภทรถกระบะ 4 ประตู ด้วยคะแนน APEAL อยู่ที่ 859 คะแนน การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้คำตอบของเจ้าของรถยนต์ในประเทศไทยเป็นมาตรวัดถึงสิ่งที่ทำให้เจ้าของรถมีความพึงพอใจต่อสมรรถนะและการออกแบบรถยนต์คันใหม่ของพวกเขาในช่วง 2-6 เดือนแรกของการเป็นเจ้าของ โดยการศึกษานี้ได้พิจารณาคุณลักษณะของรถยนต์ 76 คุณลักษณะ ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบของรถยนต์ 10 หมวดหมู่ ได้แก่ ภายนอกรถยนต์; ภายในห้องโดยสาร; พื้นที่เก็บสัมภาระและพื้นที่ว่าง; เครื่องเสียง/ ระบบสื่อสาร/ ระบบความบันเทิง/ ระบบนำทาง; เบาะที่นั่ง; ระบบทำความร้อน, ระบบระบายอากาศ และระบบแอร์; สมรรถนะในการขับขี่; เครื่องยนต์/ ระบบเกียร์; ทัศนวิสัย และความปลอดภัยในการขับขี่; และการประหยัดเชื้อเพลิง การศึกษาวิจัยสมรรถนะ, ระบบปฏิบัติการ และการออกแบบรูปลักษณ์ของรถยนต์ (APEAL) ในประเทศไทย ประจำปี 2561 ได้จากการประเมินคำตอบของเจ้าของรถใหม่จำนวน 5,106 รายที่ซื้อรถในช่วงเดือนกันยายน 2560 ถึงเดือนกันยายน 2561 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, รถกระบะ และรถยนต์อเนกประสงค์ จำนวน 74 รุ่น จากทั้งหมด 13 ยี่ห้อ โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2561

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ