สศก. ลงพื้นที่เพชรบุรี ติดตามโครงการยกระดับมาตรฐาน ดันเกษตรกรสู่ GAP

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 30, 2019 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งมีสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้เข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐาน และเพื่อให้ผลผลิตสินค้าเกษตร (ข้าว พืช ปศุสัตว์ ประมง) มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน ในการนี้ สศก. ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการฯ พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 พบว่า ปี 2561 มีเกษตรกรรายใหม่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามใบรับรองแหล่งผลิต GAP ของกรมประมง และกรมส่งเสริมการเกษตรรวม 146 ราย โดยในส่วนของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ มียื่นขอใบรับรอง จำนวน 21 กลุ่ม สมาชิกรวม 584 ราย ซึ่งขณะนี้กรมการข้าวอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนเพื่อประเมินกลุ่มที่ผ่านและออกไปรับรองGAP ให้ต่อไป สำหรับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เห็นว่าการส่งเสริมของภาครัฐให้ประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานสินค้า รวมทั้งมีตลาดรองรับ ซึ่งเกษตรกรทุกรายได้รับการอบรมให้ความรู้การทำฟาร์มมาตรฐาน GAP และเห็นว่าความรู้ที่ได้รับเพียงพอสำหรับการทำฟาร์มมาตรฐาน ทั้งนี้ เกษตรกรบางส่วนต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในการแก้ปัญหาโรคในกุ้งและกล้วยหอมเพิ่มเติม สำหรับจำนวนฟาร์มรายใหม่ ที่ผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ในปี 2561 มีจำนวน 31 ราย ซึ่งเกษตรกรร้อยละ 82 ได้รับใบรับรองมาตรฐานตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ส่วนร้อยละ 18 ได้รับล่าช้า เนื่องจาก มีขั้นตอนในการตรวจหลายขั้นตอน โดยหลังจากได้ใบรับรองมาตรฐานมาแล้ว เกษตรกรมีการนำไปใช้ประโยชน์ทุกราย ซึ่งร้อยละ 90 นำไปประกอบการจำหน่ายผลผลิต และร้อยละ 10 พิมพ์ลงบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ทางกรมปศุสัตว์ ยังได้ดำเนินการตรวจสถานประกอบการและฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานรายเดิม อย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ร้อยละ 91 ยังต้องการต่อใบรับรองมาตรฐานหากใบรับรองหมดอายุลง เนื่องจากต้องใช้ในการจำหน่ายผลผลิตให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพมาตรฐาน อีกทั้งยังทำให้จำหน่ายผลผลิตได้ในราคาสูงกว่าการผลิตแบบปกติ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรร้อยละ 9 ไม่ต้องการต่อใบรับรองมาตรฐาน เนื่องจากประสบปัญหาด้านแรงงานทำให้ต้องพักการเลี้ยงชั่วคราว ทั้งนี้ เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของหน่วยตรวจรับรองมาตรฐานในระดับมาก และมีความพึงพอใจต่อการพัฒนาสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานในระดับมากที่สุด อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ คำแนะนำ ติดตาม และแก้ไขปัญหาในการผลิต ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทั่วไปเห็นผลดีของการผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อให้การดำเนินงานโครงการฯ บรรลุวัตถุประสงค์ และผู้บริโภคได้สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ