ม. ธรรมศาสตร์ ร่วมมือ SkillLane เตรียมออกหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์ 100% ส่งมอบทักษะแห่งอนาคต

ข่าวทั่วไป Monday March 11, 2019 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือกับ SkillLane บริษัท Online Learning Platform และ Digital Training Platform อันดับหนึ่งของประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในความร่วมมือกันจัดทำหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์ เพื่อเผยแพร่ความรู้และทักษะของยุคดิจิทัล โดยจะเปิดเผยรายชื่อหลักสูตรและรายละเอียดเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคม การร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงองค์ความรู้ของโลกยุคใหม่โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักศึกษาภาคปกติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น ซึ่งจะเป็นการเรียนออนไลน์ 100% เรียนได้จากทุกที่ และตามเวลาที่สะดวก ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเพื่อเพิ่มพูนความรู้เพียงอย่างเดียว หรือจะเรียนเพื่อเก็บหน่วยกิตไปจนถึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทได้เช่นเดียวกัน โดยผู้เรียนจะสามารถเก็บหน่วยกิตไว้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 8 หรือ 10 ปี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ในโลกปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธรรมศาสตร์ต้องกล้าที่จะสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไทยไปข้างหน้าท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ เราเห็นความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเผยแพร่ความรู้ของคณาจารย์ธรรมศาสตร์และความเชี่ยวชาญของอาจารย์รับเชิญซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพต่างๆ ไปสู่คนไทยในวงกว้าง ทางธรรมศาสตร์มองว่าการร่วมมือกับ SkillLane เป็นโอกาสในการส่งเสริมความเท่าเทียมของการเข้าถึงการศึกษาเพราะการเรียนออนไลน์ช่วยลดอุปสรรคต่างๆ ในการเข้าถึงองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ สุขภาพ เวลา สถานะ หรือที่อยู่อาศัย" รองศาสตราจารย์ ดร. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ในการคิดหลักสูตร เราใช้วิธีการคิดแบบ Learner First เริ่มจากการทำความเข้าใจว่ากลุ่มผู้เรียนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้อะไรในการทำงานในยุคปัจจุบัน จากนั้นเราจึงสร้างเนื้อหา และสรรหาอาจารย์ที่เหมาะสมมาร่วมสร้างหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียน วิชาส่วนใหญ่ในหลักสูตรจะเน้นเรื่องที่เป็น Practical Skills กล่าวคือสามารถนำไปประยุกต์ในการทำงาน เน้นความเข้าใจ สามารถนำไปคิดวิเคราะห์ ต่อยอด แทนที่จะเน้นการท่องจำ" นายฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ SkillLane กล่าวว่า "ทีมงาน SkillLane ทุกคนรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สร้างแนวทางใหม่ๆ ให้กับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย เราเชื่อมั่นว่าหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย จากการสำรวจของ SkillLane เราพบว่า มีคนไทยจำนวนมากที่คิดว่าองค์ความรู้ของการทำงานในยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากสมัยที่พวกเขาเรียนในสถาบันการศึกษาเมื่อหลายปีที่แล้ว เขามีความประสงค์ที่จะเรียนต่อเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของตัวเอง แต่ยังเข้าใจว่าการเรียนต่อต้องเรียนเต็มเวลาในเวลาปกติ ซึ่งต้องตัดสินใจว่าจะเรียนหรือทำงาน ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้ ด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ SkillLane เขาเหล่านั้นจะสามารถเรียนทักษะของยุคดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์ตามเวลาที่เขาสะดวก โดยที่สามารถทำงานควบคู่ไปได้" เกี่ยวกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันวิชาการชั้นนำของเอเชีย ที่ได้มาตรฐานสากลในการผลิตบัณฑิต การสร้างองค์ความรู้ และการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยยึดมั่นคุณธรรมและการรับใช้ประชาชน ดังค่านิยมองค์กรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กล่าวว่า เป็นเลิศ เป็นธรรม ร่วมนำสังคม เกี่ยวกับ บริษัท SkillLane SkillLane ก่อตั้ง โดยคุณฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ และ คุณเอกฉัตร อัศวรุจิกุล เพื่อเป็นช่องทางให้คนไทยได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ได้อย่างสะดวก ทุกที่ ทุกเวลาซึ่งในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา SkillLane มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการให้บริการกับผู้เรียนแล้วประมาณ 200,000 คน และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจาก 500 Startups, CyberAgent Ventures, คุณปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ผู้ก่อตั้ง Stock2morrow, คุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย, และบริษัทอักษรเจริญทัศน์ ในปัจจุบัน SkillLane ให้บริการคอร์สเรียนออนไลน์มากกว่า 400 คอร์ส จากอาจารย์ผู้สอนและสถาบันที่มีชื่อเสียงมากมายกว่า 100 ท่าน อาธิเช่น อาจารย์อดัม แบรดชอว์, ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ, คุณกระทิง พูลผล, คุณภาววิทย์ กลิ่นประทุม, 2Morrow Group และอื่นๆ อีกมากมาย สำหรับองค์กรที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.SkillLane.com และ www.SkillLane.com/business

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ