ดีอี เผย 5G ใกล้เกิดจริง ไอทียูระดมผู้เชี่ยวชาญเคาะมาตรฐานทันปีนี้

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday April 3, 2019 15:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ชี้สัญญาณบวก 5G เชิงพาณิชย์ ไอทียู ประกาศระดมผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกร่วมหารือมาตรฐานให้คลอดทันปีนี้ ด้านไทยเตรียมใช้แนวทางประมูลรูปแบบใหม่ และเตรียมจัดเก็บรายได้ผู้ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต (OTT) เพื่อความเป็นธรรมในการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวภายหลังร่วมเปิดงานเสวนา "5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน" ว่า ล่าสุดสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์แล้ว ว่าจะพยายามนำผู้เชี่ยวชาญของทั้งโลกมาร่วมหารือกันวางมาตรฐานคลื่นความถี่สำหรับบริการ 5G โดยกำหนดเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ดังนั้นทั้งโลกจะสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบางประเทศเริ่มนำร่องบริการไปบ้างแล้ว เพราะอยากเป็นประเทศแรกๆ แม้ว่ามาตรฐานระดับโลกยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนประเทศไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องการเตรียมความพร้อม และการทดสอบกันการใช้งานอย่างเข้มข้น ทั้งในศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ขอความร่วมมือใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยทั้งสองแห่งได้รับตอบรับจากผู้ทดสอบในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ผู้ให้บริการมือถือและอินเทอร์เน็ต ผู้ผลิตอุปกรณ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาธารณสุข และโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังวางแผนรับการเปิดบริการ 5G เชิงพาณิชย์ปีหน้า โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบการประมูลคลื่น 5G ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างจากการประมูล 3G และ 4G ที่ผ่านมา เพราะมองเห็นชัดเจนว่า การใช้ 5G จะเปลี่ยนแปลงการใช้ข้อมูลให้มากขึ้น ด้วยความหน่วงต่ำระดับเสี้ยววินาที ความเร็วในการส่งข้อมูลสูงขึ้น 10-100 เท่าจาก 4G มีอัตราการส่งข้อมูลได้มหาศาล ดังนั้นจะก่อให้เกิดธุรกิจมหาศาล อีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือ 5G เองเป็นตัวโครงสร้างพื้นฐาน แต่สิ่งที่จะตามมาคือ การใช้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นตัวเพิ่มมูลค่าให้ขีดความสามารถในการแข่งขัน และคุณภาพชีวิตของประชาชน "ดังนั้นในเรื่องการจัดระเบียบการใช้ข้อมูล เนื่องจาก 5G จะมีการใช้ข้อมูลมหาศาล ซึ่งทั่วโลกก็มีประเด็นเดียวกันว่าจะจัดระเบียบเรื่องนี้อย่างไร เพราะส่วนหนึ่งเนื่องจากประชากรเริ่มที่จะใช้ออนไลน์มากขึ้น ในประเทศไทยเองก็มีบัญชีออนไลน์ของเจ้าใหญ่ๆ หลายสิบล้านบัญชี ดังนั้นเรื่องของการจัดเก็บภาษีการค้าออนไลน์ หรือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบางประการสำหรับผู้ที่ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน 5G นี่คือเรื่องของความเป็นธรรมทั้งในส่วนของผู้ประกอบการด้วยกันเอง และในส่วนของผู้บริโภค โดยแนวคิดคือ จัดเก็บจากผู้ประกอบการที่เกิดธุรกรรมในประเทศไทย ไม่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค" ดร.พิเชฐกล่าว ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่า ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้บริการผ่านออนไลน์ (OTT) จากแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการ OTT (Over-the-top) ต่างประเทศ 3 รายใหญ่ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ยูทูบ และไลน์ โดยจากสถิติปี 2561 มีจำนวนผู้ใช้งาน 61 ล้านบัญชี มียอดใช้ 655 ล้านครั้งต่อเดือน, 60 ล้านบัญชี ยอดใช้ 409 ล้านครั้งต่อเดือน และ 55 ล้านบัญชี ยอดใช้ 126 ล้านครั้งต่อเดือน ตามลำดับ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในไทย ต้องขยายโครงข่ายเพื่อรองรับปริมาณข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้น ขณะที่ ผู้ให้บริการ OTT ไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในยุค 5G มีการคาดการณ์ว่าปริมาณใช้งานข้อมูลจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 40 เท่า ซึ่งเป็นความท้าทายของ กสทช. ในการหามาตรการเพื่อจัดเก็บรายได้จาก OTT ต่างประเทศเพื่อความเป็นธรรมในการลงทุน และเป็นรายได้เข้ารัฐ พร้อมกันนี้ เตรียมแนวทางการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 5G โดยจะให้มีการประมูล 3 แบบ คือ ใบอนุญาตเฉพาะพื้นที่ (Specific Location) เช่น พื้นที่อุตสาหกรรม หรือท่าเรือ, ใบอนุญาตสำหรับพื้นที่โทรคมนาคม ซึ่งจะครอบคลุมทั่วประเทศ และใบอนุญาตแบบมัลติแบนด์ เช่น ประมูลคลื่น 26 GHz คู่กับ 2600 MHz หรือคลื่น 28 GHz คู่กับ 2800 MHz เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์แบนด์วิธได้สูงสุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ